Thursday, February 12, 2009

Try new things!!!

วิชาเศรษฐศาสตร์แบ่งลักษณะของบุคคลทางด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงไว้ 3 ประเภท คือ รักความเสี่ยง (Risk lover), กลัวความเสี่ยง (Risk averse) และไม่ยินดิยินร้ายกับความเสี่ยง (Risk neutral) บุคคลทั้งสามประเภทนี้ก็จะมีลักษณะการตัดสินใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ต่างกัน เนื่องจาก อรรถประโยชน์ (utility) ของคนแต่ละคนต่างกันไป

เกริ่นมาตั้งนานก็แค่อยากจะบอกว่าจากการวิเคราะห์ตัวเองดูแล้ว ผมก็คงอยู่ในประเภทที่เรียกว่าเป็นพวกกลัวความเสี่ยง (Risk averse) ซึ่งก็เป็นลักษณะบุคคลนิยมใช้ในการตั้งสมมุติฐานในการวิเคราะห์แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่พอจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นพวกที่กลัวความเสี่ยงนั้น เนื่องจากว่า เป็นคนที่ไม่ชอบลองของใหม่ๆ เท่าไหร่ ไม่ค่อยกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ตัวเองไม่มั่นใจ
วันก่อนก็คุยกับเพื่อนในออฟฟิส ซึ่งก็เรียนเศรษฐศาสตร์อยู่ปีเดียวกัน เพื่อนเป็นคนตุรกี พอดีที่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องชีส มันก็บอกว่ามีชีสหลายแบบ แล้วมันก็โชว์ชีสที่แช่ในตู้เย็นที่เป็นของตุรกี แล้วมันก็บอกว่ารสคล้ายๆ กับ Feta Cheese ของกรีซ ผมก็เลยบอกว่าไม่รู้จักหรอก เวลาไปซื้อของที่ซุปเปอร์ก็ซื้อชีสอยู่ไม่กีแบบ ไม่ค่อยได้ลองอย่างอื่นเท่าไหร่ ....

มันก็เลยเลคเชอร์เป็นแนวเศรษฐศาสตร์ให้ฟังว่า ผมเนี่ยควรจะลองของแบบใหม่ๆ ดูบ้าง(You should try new things) โดยยกตัวอย่างว่า การที่ผมทานชีสแบบเดิมๆ เนี่ยให้อรรถประโยชน์กับผม 1 หน่วย ถ้าผมลองทานชีสแบบใหม่เนี่ยผลออกมาอาจเป็นสองรูปแบบคือ ด้วยความน่าจะเป็น 0.5 ผมจะได้อรรถประโยชน์ 2 หน่วย ส่วนความน่าจะเป็นอีกครึ่งหนึ่งได้อรรถประโยชน์ 0 หน่วย ซึ่งผมควรจะลองเปลี่ยนดูเพราะว่าโดยเฉลี่ยแล้วได้อรรถประโยชน์เท่ากัน และที่สำคัญชีสเนี่ย ไม่ใช่สินค้าคงทน (Durable goods) ถ้าลองแล้วไม่ชอบครั้งหน้าก็ลองอย่างอื่น หรือกลับไปกินแบบเดิม ที่สำคัญการที่ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ เนี่ยทำให้เราเสียเวลาไปกับของที่เราอาจไม่ได้ชอบมากๆ ก็ได้เพียงแค่เพราะเราไม่กล้าลองอย่างอื่น (ของบางอย่างพอลองแล้วก็เปลี่ยนลำบาก หรือต้นทุนในการเปลียนสูง ก็ต้องคิดดีๆ)

วิชาเศรษฐศาสตร์ก็มีแนวทางการวิเคราะห์การตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยง หรือควาไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่สำคัญอยู่รูปแบบหนึ่งก็คือ Dynamic programming ซึ่งใช้ในการประเมินอรรถประโยชน์ของบุคคลตั้งแต่ ณ เวลาปัจจุบันจนถึง Infinity ซึ่งเป็นข้อสมมุติที่ใช้กันทั่วไปแม้มันจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็ตาม

หลักการก็คือว่า เรามีตัวแปรที่ใช้ในการตัดสินใจ (Decision variable) เช่น ลงทุนหรือไม่ลงทุน เรียนต่อหรือไม่เรียน และก็มีการกำหนดรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (State space) เช่น เศรษฐกิจดีและเศรฐกิจไม่ดี ฝนตกและฝนไม่ตก ซึ่งผลประโยชน์จากการตัดสินใจของเราก็จะขึ้นอยู่กับ state ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เช่น ถ้าตัดสินใจลงทุนแล้วเศรษฐกิจเกิดตกต่ำขึ้นมา เราก็อาจขาดทุนได้

เราก็ต้องมีการกำหนดว่าจะให้มี scenario อะไรเกิดขึ้นบ้างในอนาคต ด้วยความน่าจะเป็นเท่าไหร่ และความน่าจะเป็นขึ้นอยู่กับ state ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าอย่างไร เช่น ถ้าในปีแรกเศรษฐกิจไม่ดี ความน่าจะเป็นที่ปีที่สองเศรษฐกิจไม่ดีจะเป็นเท่าไหร่ และปีที่สาม ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญแล้วเพื่อความไม่ซับซ้อนก็จะมีการตั้งข้อสมมุติไว้ว่า ให้ความน่าจะเป็นของปีต่อไปขึ้นกับปีปัจจุบันเพียงปีเดียว ไม่ต้องย้อนไปหลายปี
ด้วยกระบวนการคิดดังกล่าวก็ช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจได้ว่าควรเลือกตัวแปรใดเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ (ตลอดชีพ) สูงสุด อย่างไรก็ตามในชีวิตจริงเราไม่สามารถจะรู้อย่างที่แบบจำลองกำหนดไว้ได้ ตัวแปรต่างๆ มีมากมาย การวางแบบระยะยาวก็มีความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นสูง การวางแผนสมัยใหม่ ก็มีการใช้ Scenario Planning เพื่อใช้กำหนดทางเลือก ที่เหมาะที่สุดกับสถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามเรามักจะได้ยินหลายๆ คนพูดว่า ถ้า... คงดีกว่านี้เยอะ รู้อย่างนี้ทำ...อย่างนี้ดีกว่า ถ้าตอนนั้นเลือก...คงไม่เป็นอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เพราะว่าการตัดสินใจของเราอาจมีผลทำให้ State space มันเปลี่ยนไปก็ได้ (ซึ่งในการทำแบบจำลองจะให้ State space เป็นอิสระไม่ขึ้นกับตัวแปรที่เราเลือก)

สมมุตินะ สมมุติว่า มีการแปรรูปหน่วยงานแห่งหนึ่ง แล้วปรากฎว่า ทุกอย่างแย่ลงไปหมด บริการก็ไม่ดีขึ้น ... ซักพักไม่กีวันก็จะมีพวกนักวิเคราะห์ (ที่ส่วนใหญ่ทำเป็นแต่การวิจารณ์) ก็จะบอกว่า “เห็นรึเปล่าผมเคยบอกแล้วว่าการแปรรูปมันไม่ดี (อาจบอกกับคนสวนที่บ้านก็ได้) เป็นไงล่ะ แปรรูปแล้วทุกอย่างแย่ลง” ... แต่ก็อาจมีอีกส่วนที่ออกมาพูดว่า “นี่ถ้าไม่แปรรูปมันจะแย่กว่านี้อีกนะ ดีที่ตัดสินใจแปรรูปไปก่อน” ที่ทั้งสองคนนี้พูดอาจถูกหรือผิดก็ได้ แต่ว่าไมมีใครที่จะย้อนอดีตแล้วกลับไปแก้การตัดสินใจได้ ยกเว้นแต่ว่าจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องที่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกเราก็อาจนำข้อมูลที่มีการวิจารณ์นี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจได้
ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เพียงแค่อยากบอกว่าการตัดสินใจบางอย่างไปแล้ว มันย้อนกลับมาไม่ได้ (Irreversible) การวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องที่มีผลกับคนส่วนใหญ่ การกลัวความเสี่ยงก็เป็นนิสัยหนึ่งที่ทำให้เราคิดให้รอบคอบ แต่ว่าการที่ไม่กล้าตัดสินใจลองอะไรใหม่ๆ มันก็ทำให้เราเสียโอกาสดีๆ ไปเหมือนกัน

ปล. สัปดาห์นี้ก็ได้มีการลองอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน คือ ได้ลองวิ่งในสวนสาธารณะหลังโรงเรียนซึ่งเป็นเนินเขา เพราะมาคิดดูแล้วว่าการวิ่งในยิม เมื่อไหร่ก็วิ่งได้ แต่ว่าตอนนี้อากาศดีๆ ขอวิ่งข้างนอกเพื่อรับแสงแดดหน่อยแล้วกัน ไว้หนาวๆ ค่อยกลับไปวิ่งในยิม แต่ปรากฏว่าการวิ่งขึ้นเนินเขามันทรมานมาก กลับมาบ้านปวดขาอย่างหนัก มันเหนื่อยกว่าวิ่งบน Belt หลายเท่าเลย

(เขียนเมื่อ ๕ กันยายน ๒๕๕๐)

No comments:

Post a Comment