Thursday, February 12, 2009

ไปดูฝนดาวตก

ได้ข่าวว่าอาจมีฝนดาวตกให้ดูประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ประมาณวันที่ 17-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ซึ่งไม่รู้ว่ามีตกบ้างหรือเปล่าhttp://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/meteors/2008meteors.html ซึ่งผมก็พึ่งจะรู้ว่ามันมีปรากฏการณ์แบบนี้เมื่อประมาณเกือบสิบปีก่อน เมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ตอนนั้นได้ข่าวว่าจะมีฝนดาวตก คาดว่าประมาณช่วงหน้าหนาวนี้เหมือนกัน และด้วยว่าการอยู่ปีสี่นั้นวิชาเรียนมันมีน้อยเต็มที เพื่อนๆ ในกลุ่มก็เลยจัดทริปเพื่อไปดูฝนดาวตกกัน

สถานที่ที่จะไปก็คือจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งที่จะไปก็ไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอะไร ไม่ใช่รีสอร์ต เป็นบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเพื่อนของผมบางคนได้เคยมาออกค่ายอาสาพัฒนาที่หมู่บ้านนั้น สมาชิกทริปที่ไปก็มีเพื่อนผู้ชายในกลุ่มประมาณสิบคนและผู้หญิงประมาณสี่ห้าคน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ค่อนข้างสนิทกัน
จำไม่ได้ว่าตอนนั้นที่ไปนั่งรถไฟหรือรถทัวร์ไป แต่จำได้ว่าไปถึงประมาณตีสี่กว่าๆ ยังไม่เช้าดี ก็เลยไปเช่าโรงแรมนอนประมาณสามสี่ชั่วโมง เพื่อหารถเข้าไปในหมู่บ้านตอนเช้า ซึ่งโรงแรมก็เป็นโรงแรมแบบห้องแถวแบบโบราณหน่อยๆ ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม ซึ่งถ้าไปคนเดียวคงไม่กล้าพักแน่ เพราะบรรยากาศค่อนข้างวังเวงมาก

พอตอนเช้าก็เข้าไปในตลาดเพื่อซื้อเสบียงเข้าไปกิน เพราะต้องอยู่ในนั้นหลายวัน และก็ซื้อของไปให้เด็กๆ ในหมู่บ้านด้วย หลังจากนั้นก็นั่งรถเข้าไป จำได้ว่าน่าจะเป็นประมาณรถสองแถว การเข้าไปไหนหมู่บ้านก็ค่อนข้างจะลำบากเหมือนกันถนนเข้าไปก็เป็นลูกรัง และก็มีเนินเป็นระยะๆ

บ้านพ่อผู้ใหญ่ที่ไปนอนก็กว้างมาก มีชานเรือนที่กว้างพอให้เราสิบกว่าคนนอน ตอนที่ไปอยู่ที่นั่นก็ทำกับข้าวกันกินเอง และทางพ่อผู้ใหญ่กับแม่ก็ทำกับข้าวบ้าง กินรวมๆ กัน ตกดึกก็มีทานเหล้าบ้าง ดีดกีตาร์ ร้องเพลง ก็เป็นชีวิตที่สนุกดี ตัดขาดกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง เพราะมันเหมือนอยู่ในหุบเขา สัญญาณมือถือและเพจเจอร์ก็ไม่มี มีโทรศัพท์สาธารณะที่ต้องเดินไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มีออกไปโทรกลับบ้านและก็ส่งเพจเจอร์ (น้ำเน่าๆ) บ้าง แต่ไม่กี่วันโทรศัพท์ก็เสีย ก็เลยขาดการติดต่อโดยสิ้นเชิงกับภายนอก

คืนที่ไปดูฝนดาวตกก็ออกกันไปตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ก็เดินหาที่โล่งๆ เพื่อจะรอดูฝนดาวตก พอดีก็ไปเจอถนนที่อยู่ในหมู่บ้าน พวกเราก็คิดว่าคงจะไม่มีรถวิ่งผ่าน เพราะมันเงียบและมืดมากๆ ก็เลยนอนดูกันกลางถนนที่แหละ พอดีมีเพื่อนคนนึง (โอฬาริก) บอกว่าจะเปิดไฟฉายทิ้งไว้เวลารถวิ่งมาจะได้เห็น คนอื่นก็เฉยๆ ไม่ได้ทำตาม

ดาวตกก็มีมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน แต่ก็นานๆ มาที ดูกันไปเรื่อยๆ อากาศก็เย็นสบายๆ คุยกันไปเพลินๆ ก็หลับกันหมด แต่ว่ามาสะดุ้งตื่นอีกทีก็เห็นแสงจ้ามากๆ ไม่ใช่ยูเอฟโอหรืออะไร แต่เป็นรถกระบะที่วิ่งมาบนถนนแล้วก็มาหยุดตรงที่พวกเรานอนพอดี ซึ่งคิดว่าถ้าโอไม่เปิดไฟฉายทิ้งไว้ ป่านนี้คงโดนรถกระบะทับแบนแน่ๆ ที่พวกพวกเราปลอดภัยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความรอบคอบของโอนี่แหละ

ไปพักผ่อนครั้งนี้ก็ได้ความสนุกมากมาย ผมกับไอ้อ้วน (กุ๊กไก่ ชื่อปัจจุบันธงธง) ก็ออกไปตกปลากันทุกวัน เพราะในหมู่บ้านมีบึงขนาดใหญ่อยู่ ก็ยืมเบ็ดของพ่อผู้ใหญ่นี่และไปตก เหยื่อที่ใช้ก็คือกุ้งฝอย ซึ่งใช้สวิงไปช้อนมา นั่งตากแดดกันจนตัวดำไปตกหลายวันก็ไม่ได้ปลาอะไรใหญ่โต ได้ตัวเท่าปลาซิวปลาสร้อย พวกปลาที่ได้มาก็สงสารนะ แต่ว่าตกนานเหลือเกินก็เอามากินกันจนหมด พอเอาไปทอดก็เหลือนิดเดียว จนในที่สุดตอนหลังเราก็ตัดสินใจว่าไม่ตกปลาแล้ว เอากุ้งที่ช้อนได้นี่แหละมากิน ทางพ่อผู้ใหญ่ก็เลยเอาไปทำกุ้งเต้นให้กิน ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทานกุ้งเต้น เอาเข้าปากไปก็กระโดดกันในปาก เรียกว่าผมได้ทำบาปกันแบบครบวงจรทีเดียว

ไปทริปนี้ก็มีเรื่องน่าสนุกอีกหลายเรื่อง เช่น ชัชอั๋นที่ออกไปเดินเล่นตอนเช้าแล้วกลับมาตาลีตาเหลือกว่าเจอมนุษย์ต่างดาว (ปกติก็มีความเชื่อประมาณนี้อยู่แล้ว) แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากที่เกิดขึ้นในทริปนี้ก็คือ มนต์รักปลาทู ที่เกิดขึ้นระหว่างชิว หรือไอ้กำ กับเอ๋ โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นในมื้อหนึ่งซึ่งในวันนั้นเรามีปลาทูทอดและเอ๋ก็เป็นคนแกะปลาทูให้ชิวกิน ซึ่งก็นับว่าเป็นความประทับใจระหว่างสองคนนั้นที่เกิดขึ้นและเติบโตมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็น่าจะสิบปีได้แล้วมั้ง

ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาชิวกับเอ๋ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกัน ซึ่งผมก็เสียดายมากที่ไม่ได้มีโอกาศกลับไปร่วมงาน แต่ก็ขออวยพรให้ทั้งคู่มีความสุขมากๆ มีครอบครัวที่อบอุ่นต่อไปในอนาคต
บางทีช่วงเวลาสำคัญๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ในชีวิตมันก็อาจเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่แสดงน้ำใจเล็กๆ ที่มีให้กัน เช่น การแกะปลาทูให้กัน หรือการยิ้มให้กัน เป็นต้น
ซึ่งก็ทำให้ผมนึกถึงเพลง “เพราะอะไร” (อีกแล้ว) “... หรือเป็นเพียงรอยยิ้มรอยนั้นเมื่อวันแรกเจอ...”

ปล. หลังจากไปดูฝนดาวตกกลับมา ก็ได้คุยกับที่บ้าน ซึ่งทำให้รู้ว่าแถวบ้าน (พุทธมณฑลสายสอง) มีฝนดาวตกมากว่าที่ผมไปดูที่เพชรบูรณ์เสียอีก

(เขียนเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

No comments:

Post a Comment