Thursday, February 12, 2009

ภาษาไทย สำคัญนะ

ตั้งแต่เด็กก็นึกสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องเรียนภาษาไทยด้วย
เรียนกันตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.ปลาย
โดยเฉพาะข้อสอบที่ให้เลือกว่าคำใดสะกดไม่ถูกต้อง ต้องเจอข้อสอบอย่างนี้ตั้งแต่สอบเข้า ม.1 จนสอบเข้ามหาลัย จำได้ว่าต้องท่องคำในสมุดเล่มเล็กๆ ที่ราชบัณฑิตยสถานพิมพ์ ไม่รู้ว่าตอนนี้เลิกพิมพ์ไปหรือยัง ถ้าจำไม่ผิดชื่อหนังสือว่า “อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร”

จนเรียนจบปริญญาตรีก็ไม่ได้นึกว่าการใช้ภาษาไทยมันจะสำคัญขนาดไหน แค่เวลาพูดเวลาเขียนก็เอาให้มันสุภาพ ให้มันอ่านและฟังได้รู้เรื่องก็พอแล้ว
แต่หารู้ไม่ว่าการที่เราพูดอ่านเขียนอย่างที่เป็นอยู่ มันเกิดจากการเพาะบ่มมาตั้งแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่าเรื่องลายมือผมก็ไม่รู้ว่าตอนเด็กคุณครูสอนผมยังไง ลายมือมันถึงไม่สวย อ่านไม่ค่อยออก จำได้ว่าตอนอยู่ ม.2 ลายมือแย่มากจนอาจารย์ประจำชั้นซึ่งสอนภาษาไทยด้วย เอาสมุดคัดลายมือ ที่ให้เขียนคำตามเส้นประแบบที่เด็กประถมกับอนุบาลใช้กัน มาให้คัดส่ง รู้สึกว่าทั้งห้องเจอกันอยู่สองคนอายเพื่อนมากๆ
....
จนจวบจนทำงานผมจึงรู้ว่าการใช้ภาษาไทยนี้มันสำคัญมากโดยเฉพาะข้าราชการ
ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมราชการถึงให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา การเขียนมากขนาดนั้น ผมคิดว่าก็คงเป็นเพราะการสืบทอดมาแต่สมัยโบราณ
แรกๆ ก็รำคาญเหมือนกันกับระเบียบพวกนั้น แต่พอสัมผัสมันไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ ของมันและมันก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ส่งต่อมาให้ เรียกว่ามันก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชิ้นหนึ่งของประเทศเราก็ว่าได้ แม้ว่าศัพท์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับวัยรุ่น หรือหนังสือพิมพ์ มันจะแสดงถึงวิวัฒนาการของภาษาที่บ่งชี้ว่าภาษานั้นยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าเราก็ควรรักษาสิ่งที่เป็นแก่นสำคัญของภาษาของเราเอาไว้

การใช้คำในจดหมายราชการเรียกได้ว่ามีการกำหนดไว้ว่าคำไหนใช้กับกรณีไหน มีเป็นคู่มือเลยที่ กพ. จัดพิมพ์ เรียกว่าข้าราชการทุกคนที่เข้าใหม่ต้องได้รับการอบรมการเขียนหนังสือราชการ ผมก็เรียน แต่จำได้มั่งจำไม่ได้มั่ง ที่เป็นความรู้ใหม่ ก็อย่างเช่นทำหนังสือถึงรัฐมนตรีใช้คำว่า “เรียน ...” ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีต้องใช้คำว่า “กราบเรียน...”
คนที่ไม่ใช่ข้าราชการที่อ่านหนังสือราชการอาจนึกว่าทำไมใช้ภาษาได้ลิเกอย่างนี้

สำหรับผมมีประโยคที่ประทับใจมากที่หัวหน้าชอบเขียนในจดหมาย คือ “จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หากเห็นชอบด้วยดำริขอได้โปรด....” อ่านแล้วประทับใจมาก อีกประโยคนึงที่ชอบก็คือ “จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หากได้ผลประการใดขอได้โปรดแจ้งให้ทราบในโอกาสแรกด้วย จักขอบคุณยิ่ง” (อันนี้ ความหมายคือ ช่วยพิจารณาให้เร็วๆหน่อยและแจ้งให้ทราบด้วยแบบสุภาพมากๆ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดวันว่าจะต้องการผลภายในวันไหน)
ตอนแรกที่ทำงานก็คิดว่าเราคงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะว่างานเราคงเป็นงานวิชาการไม่ใช่งานสารบรรณ (สารบรรณ-งานเกี่ยวกับหนังสือหรือจดหมาย เป็นภาษาราชการ เหมือนกัน J )
แต่ว่าพอทำงานไปแล้วมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ เคยมีพี่ที่เคยทำงานด้วยกันเล่าให้ฟังว่า คนที่รับราชการที่ก้าวหน้าได้เร็วประเภทหนึ่งคือ คนที่จับประเด็นได้ดี และร่างหนังสือได้เก่ง
....
การเขียนให้ถูกต้องมีความสำคัญสำหรับหนังสือราชการมาก ทำให้ผมหายสงสัยว่าที่ทำงานที่เคยทำงานทั้งสองที่ต้องมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไว้ในตู้หนังสือทั้งสองที่ และคิดว่าหน่วยราชการทุกแห่งก็คงต้องมีพจนานุกรมติดเอาไว้
ปกติเวลาที่ร่างหนังสือไปจะมีคนดูหลายขั้นตอนมาก เรียกว่าหัวหน้าทุกสายงานต้องดูหมด จะมีการแก้ไขไปตามขั้นตอน เรียกว่าไม่ค่อยมีหลุดเท่าไหร่ และตรงด่านสุดท้ายก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะเซ็น ก็คือ ต้องผ่านหน้าห้อง

คนที่เป็นหน้าห้องจะเป็นคนที่ละเอียดมากๆๆๆ และรู้ระเบียบอย่างละเอียด เคยร่างจดหมายส่งไปให้ผู้ใหญ่ลงนาม เรียกว่าก่อนถึงมือคนลงนาม ผ่านไปแล้วประมาณ สี่ห้าคน แต่ว่าไปจอดตรงหน้าห้องผู้ใหญ่เพราะพิมพ์ไม้เอกตกไปตัวนึง เรียกว่าหน้าห้องนี่จะเป็นคนที่ละเอียดมาก ต้องอ่านทุกคำ ส่วนเราที่เป็นคนทำหนังสือ มักอ่านไม่ละเอียดเท่า เพราะว่าเป็นคนร่างเอง ไม่คิดว่ามันจะผิด เรียกได้ว่าหนังสือกว่าจะผ่านไปถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะระดับใหญ่มากๆ ผมว่าผ่านไม่ต่ำกว่าห้าหกคน

ฉะนั้นสำหรับคนที่คาดหวังว่าหนังสือราชการจะรวดเร็วก็ต้องเข้าใจนะครับว่ามันมีหลายขั้นตอน
ไม่ใช่ว่าผมจะเห็นด้วยกับการที่ต้องมีหลายขั้นตอน แต่ว่าสำหรับหน่วยราชการแล้ว มันต่างจากบริษัทเอกชนเพราะว่าสำหรับราชการถ้ามีการออกหนังสืออะไรที่ผิดพลาดออกไปแล้วมันจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก คงต้องกำหนดให้เหมาะสมระหว่างความคล่องตัวกับคุณภาพและความถูกต้องให้ดี

....
ว่าถึงการสะกดสำคัญมากครับ บางคำผมสะกดมาผิดตลอดทั้งชีวิต มารู้ก็ตอนรับราชการ เช่น คำว่าประสบการณ์ ผมสะกดเป็น ประสพการณ์มาตลอดเลย และที่สำคัญที่สุดที่ต้องสะกดให้ถูกคือ .... ชื่อคน โดยเฉพาะชื่อเจ้านายครับ เคยทำ powerpoint ให้ปลัดกระทรวงไปบรรยาย ปรากฎว่าที่หน้าแรกสะกดนามสกุลท่านผิด พอดีวันนั้นมีน้องที่ทำงานไปจัดการกดสไลด์ให้แทน แล้วน้องกลับมาบอกว่า ท่านปลัดฯฝากบอกว่าสะกดนามสกุลท่านผิด จ๋อยไปเลย คิดว่าแป้กแน่กู สะกดชื่อนายผิด ยังดีที่ท่านใจดีไม่ได้ติดใจเอาความ แต่ก็ต้องระวังเพราะว่าเราคงไม่ได้เจอนายใจดีแบบนี้ตลอด เพราะผู้ใหญ่บางท่านก็ถือกับเรื่องพวกนี้มาก ต้องระวังอย่างแรง ไม่งั้นได้แป้กจริงๆ แน่

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ วัน เวลา ในจดหมายที่นัดหมายหรือเชิญประชุม เคยมีน้องคนนึงที่ทำงาน ทำจดหมายเชิญประชุม แต่ใส่วันที่ผิด ปรากฎว่าวันประชุมมีประธานกับฝ่ายเลขามาประชุม แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานอื่นเลย เรียกว่าเป็นความผิดพลาดที่หนักหนาเอาการ

เคยมีพิมพ์จดหมายผิดเหมือนกันครับ พิมพ์ คำว่า “เปิด” เป็น “ ปิด” ปรากฎว่าความหมายผิดไปเป็นตรงกันข้าม โชคดีที่สังเกตเห็นก่อนที่จะส่งให้ผู้ใหญ่เซ็นต์ ไม่งั้นเป็นเรื่องแน่ๆ

มีเรื่องนึงที่เป็นเรื่องที่จะมีการเล่าให้ฟังตลอดเวลา ไปอบรมเกี่ยวกับการเขียนหนังสือราชการก็ คือ มีจดหมายฉบับนึงที่คนพิมพ์ พิมพ์ผิด แล้วก็มีผู้ใหญ่เซ็นต์ออกไป โดยมีคำที่ผิดเป็นคำที่สะกด ด้วย “ค.ควาย” แต่คนพิมพ์ พิมพ์เป็น “ด.เด็ก” กลายเป็นคำที่สื่อความหมายในทางทะลึ่งโดยปริยาย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(เขียนเมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙)

2 comments:

  1. เห็นด้วยค่ะ ว่าภาษาไทยสำคัญมาก อย่างในเรื่องจดหมายราชการที่ว่าเนี่ย

    เราคิดว่ามันเหมือนจะไม่ยาก แต่กว่าจะร่างผ่านเนี่ย ใช้เวลาพอควร ไหนจะรูปแบบการเขียนที่ต้องถูกต้อง และการใช้คำด้วยย

    ถ้าเราในฐานะคนไทยยังไม่รู้ ก็ต้องฝึกฝนในเรื่องของภาษานะคะ

    เพราะนี่คือภาษาของชาติเรา

    ReplyDelete
  2. "ว่าแล้วหนูยังพิมพ์ผิดเลย ขอแก้ไข คำว่าด้วย ในความเห็นก่อนหน้านี้ ขอตัด ย ยักษ์ ออกหนึ่งตัวนะคะ"

    ReplyDelete