Thursday, February 12, 2009

พลังงาน...พอเพียง

หลังจากที่ลางานมาเรียนได้พักใหญ่ ชีวิตของผมก็ได้พักจากเรื่องพลังงานไปพอสมควร แต่ก็ได้ติดตามบ้างอยู่ห่างๆ ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเหมือนตอนทำงาน แต่แม้จะดูอยู่ห่างๆ แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าโลกเราคงจะลำบากในเรื่องพลังงานไปอีกพักใหญ่

น้ำมันที่แพงขึ้นไปเกือบสองหรือสามเท่าก็ทำให้ผู้ใช้ทั้งหลายตกใจไม่น้อยในตอนแรกๆ แต่ตอนนี้ก็คิดว่าคงจะชินไปพอสมควร ถ้าเป็นประเทศที่เก็บภาษีน้ำมันสูงๆ เช่น ประเทศในยุโรปก็คงจะไม่รู้สึกเ่ท่าไหร่ แต่สำหรับคนไทยที่อัตราภาษีไม่สูงเท่านั้น ก็ดูเหมือนราคาจะเพิ่มไปหลายเท่า และเราก็คงต้องทำใจเพราะทางเลือกที่เราจะใช้นอกเหนือจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวก็มีน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะในเมือง ถึงราคาจะเพิ่มไปยังไงก็คงต้องใช้ต่อไป (สังเกตได้ว่าน้ำมันแพงแต่รถก็ยังติด) หรือที่เรียกทางภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาต่ำ (Low Price Elasticity of Demand) แต่ความยืดหยุ่นที่ต่ำก็เป็นเฉพาะบางช่วงของราคาเท่านั้น สมมุติว่าราคาเพิ่มไปถึงลิตรละห้าหกสิบบาทการใช้ก็คงจะลดลงไปมากกว่านี้

มีผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะว่าการผลิตน้ำมันจากทรัพยากรน้ำมันดิบของโลกมันได้ผ่านจากจุดสูงสุดมาแล้วที่เรียกว่า Hubbert Peak การผลิตน้ำมันก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะทรัพยากรน้ำมันที่มีอยู่มันลดลง แม้ว่าตัวเลขของปริมาณสำรองน้ำมันของโลกที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) ของโลกมันจะเพิ่มขึ้นจากอดีตด้วยเทคโนโลยีการขุดเจาะที่ทันสมัย แต่ว่าความต้องการน้ำมันมันก็เพิ่มขึ้นเร็วจนการผลิตมันตามไม่ทัน

ความต้องการใช้น้ำมันจากจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความหวาดกลัวการก่อการร้าย และความไม่สงบในตะวันออกกลาง มันก็เป็นเหมือนสูตรสำเร็จของการพัฒนาเมื่อพัฒนามากขึ้น มีเงินมากขึ้น ต้องซื้อรถมาใช้ มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น นอกเหนือจากการใช้น้ำมันของจีนจะทำใ้ห้ราคาน้ำมันแพงขึ้นแล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าของจีนก็ทำให้ราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งค่อนข้างผิดปกติเพราะราคาถ่านหินค่อนข้องจะคงที่มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เคยได้อ่านหนังสือเรื่อง The Prize ของ Daniel Yergin ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์การใช้น้ำมันของโลกตั้งแต่สมัยที่ขุดพบน้ำมันครั้งแรกที่เพนซิลวาเนีย (ที่ผมนั่งพิมพ์อยู่เนี่ย) จาำกน้ำมันที่ใช้จุดโคมตามถนน จนมีการประดิษฐ์รถยนต์ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้น้ำมันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทั้งโลก จนถึงการค้นพบน้ำมันในตะวันออกกลางที่ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อน (เบดูอิน) กลายเป็นเศรษฐีน้ำมัน และรวมไปถึงความเป็นมาของบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ แต่ดูเหมือนว่ามันจะเหมือนเป็นคำสาปที่ความต้องการที่จะครอบครองน้ำมัน การค้าน้ำมัน การใช้น้ำมันเป็นยุทธปัจจัย มักจะห้อมล้อมไปด้วยเรื่องของอำนาจ เงินตรา และความโลภความต้องการของมนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกวุ่นวายมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วเราล่ะจะมีทางเลือกอะไรบ้าง จะเลิกใช้พลังงานไปเลยก็คงไม่ได้ หรือจะให้ใช้น้อยลง ก็อาจพูดได้ว่านี่ก็ใช้เท่าที่จำเป็นแล้ว (เพราะมันแพง) นอกเหนือจากทางเลือกเหล่านี้เราก็อาจมีพลังงานหมุนเวียน เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล รวมถึงทางเลือกอื่นเช่น CNG (Compressed Natural Gas) ที่ใช้กับ รถ NGV (Natural Gas Vehicle)

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคืออยู่ที่ตัวเราเองนี่แหละ แม้ว่าเราอาจบอกว่าพลังงานหมุนเวียนพวกนี้ได้มาจากพืช ไม่มีวันหมด ปลูกขึ้นได้ใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีต้นทุนของมัน การเพาะปลูกพืชที่นำมาผลิตพลังงาน เช่น อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง มันก็ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของผืนดินจากปุ๋ยเคมี การทำลายป่า และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาฆ่าแมลง และที่สำคัญคือเราไม่สามารถผลิตพลังงานจาำกพืชเหล่านี้ให้เพียงพอกับความต้องการน้ำมันในปัจจุบัน เคยได้ฟัง presentation จากวิทยากรจากบริษัทน้ำมันต่างประเทศท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่าแม้จะใช้พื้นที่ทั้งยุโรปเพื่อปลูกพืชพลังงานสำหรับเติมรถยนต์ ก็ยังไม่เพียงพอก็ความต้องการใช้น้ำมันอยูดี ซึ่งหมายความว่าเรายังคงต้องพึ่งน้ำมันดิบไปอีกนาน

รวมไปถึง CNG ที่แม้ว่าเราสามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวันนึง (ไม่เกินชั่วอายุเราหรอก ลองคิดแบบง่ายๆ ลองเอาปริมาณสำรองหารด้วยความต้องการใช้ดูก็จะรู้ว่าใช้ได้ประมาณกี่ปี) มันก็จะหมดไป และเราก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในที่สุด

แม้ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่มันก็มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของมัน ทุกอย่างในโลกมีราคาของมัน เคยได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแกลบ ซึ่งจุดเริ่มต้นมันมีอยู่ว่าเิดิมประเทศไทยเรามีแกลบอยู่มากมายถูกทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ก็เลยมีการส่งเสริมให้สร้างโรงไฟฟ้าแกลบ ปรากฎว่าส่งเสริมไปได้ซักระยะหนึ่ง ราคาของแกลบก็เพิ่มขึ้นจากตันละร้อยกว่าบาทไปเป็นหลายเท่าตัว (คาดว่าตอนนี้คงตันละเกือบพันแล้วมั้ง) กลายเป็นว่าโรงสีขายแกลบได้กำไรพอๆ กับขายข้าวเลย เพราะโรงไฟฟ้าต้องใช้แกลบทุกวัน วันละหลายๆ ตัน และก็กลายเป็นว่าต้องเสียน้ำมันจากการขนแกลบมาจากจังหวัดอื่นเพื่อนำมาเผา (-_-“)

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือโซลาร์เซล มีคนมักจะพูดว่าทำไมประเทศไทยไม่ติดโซลาร์เซลให้หมดทั้งประเทศล่ะ เมืองไทยมีแดดตลอดปี ได้มาฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเหมือนก๊าซเหมือนน้ำมัน แต่ผู้พูดก็คงลืมไปว่าต้นทุนของการผลิตแผ่นโซล่าร์เซลด้วยเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงสูงอยู่และทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยมากกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซหรือถ่านหินหลายเท่านัก ค่าไฟฟ้าคงหน่วยละสิบกว่าบาทถ้าใช้โซลาร์เซลผลิต แต่การส่งเสริมให้ใช้โซลาร์เซลให้กว้างขวางขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะก็จะทำให้เกิดการผลิตเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง และกระตุ้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือว่าการผลิตโซลาร์เซลมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ของเสีย) มากพอควรทีเีดียว

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราครับ ถ้าไม่มีอุปสงค์ก็ไม่มีอุปทาน เคยมีคนฉลาดๆ พูดว่า “ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอสำหรับคนทุกคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของคนๆ เดียว” เหมือนว่าทุกคนทุกประเทศพยายามที่จะแสวงหาทรัพยากรให้มากๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีพอใช้ โดยไม่ได้คิดที่จะลดการใช้ลง ใช้เท่าที่จำเป็น ตัวอย่างมีให้เห็นครับ ทั้งพวกลัทธิล่าอาณานิคมในอดีต และบางประเทศที่แสวงหาทรัพยากรจากประเทศอื่นทั้งในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงทางทหารและความรุนแรงของเศรษฐกิจ

ทุกอย่างในโลกมีต้นทุนของมันครับ พลังงานที่เราใช้ๆ ก็อยู่ก็เ่ช่นกัน เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้มันไม่ได้ ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ไม่มีใครหรอกครับที่อยากจมป่าทั้งป่าจมภูเขาทั้งภูเขาเพื่อมาทำเขื่อน หรือขุดก้อนสีดำๆ จาำกใต้ดินมาเผาให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากว่าไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพวกเรา เรื่องการจัดการการผลิตพลังงานไม่ให้มีผลกระทบ (รุนแรง) ต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ แต่ว่าเรื่องที่เราต้องทำก็คือต้องใช้ให้น้อยลง ใช้ให้คุ้มค่า หลอดไฟทุำกๆ หลอด ทีวีทุำกๆ เครื่อง ที่เราเปิดเพิ่มขึ้น มันเป็นสาเหตุที่ำทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผมก็พยายามทำตัวให้มีคุณค่า (แต่มันก็ยากเหลือเกิน) อย่างน้อยก็เพื่อ เป็ด ไก่ หมู วัว กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ผมกินเข้าไปมันได้รู้สึกดีบ้างที่อย่างน้อยว่าผมเอาพลังงานและกล้ามเนื้อที่ได้จากการกินพวกมันไปทำประโยชน์ให้กับโลกนี้ได้บ้าง

(เขียนเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙)

No comments:

Post a Comment