Sunday, September 4, 2011

ที่จอดรถ Eco-car และ แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง (Incentive Incompatible)


ผมมีโอกาสได้เข้าไปจอดรถในอาคารจอดรถแห่งหนึ่งซึ่งเป็นอาคารหลายชั้นและการแข่งขันเรื่องที่จอดรถค่อนข้างมีความดุเดือดเลยที่เดียว คนที่เข้ามาจอดทุกคนก็อยากได้ที่จอดที่อยู่ชั้นเตี้ยๆ เนื่องจากประหยัดเวลาในการวนรถขึ้นและลง และมีของแถมก็คือใช้น้ำมันน้อยในการหาที่จอดรถ

สิ่งที่พิเศษสำหรับตึกนี้ก็คือมีที่จอดสำหรับจอดรถ Eco-car ที่กันไว้พิเศษในชั้นต้นๆ ของตึก (Eco-car คือ รถประหยัดพลังงานครับ ว่าง่ายๆ คือกินน้ำมันน้อยนั่นเอง)

ผมเห็นตอนแรกๆ ก็คิดว่าดีนะมีที่จอดรถสำหรับให้รถ Eco-car ด้วย ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่เคยเห็นก็ที่ตามห้างสรรพสินค้ากันที่จอดรถสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตของห้างที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้สมาชิก

แต่พอลองคิดอีกทีว่า การที่ตึกให้สิทธิพิเศษกับ Eco-car นี้ มันทำให้เกิดแรงจูงใจอะไรที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบ้าง หรือว่าการที่ทางตึกออกระเบียบเช่นนี้เพื่อทำให้คนหันมาซื้อรถ Eco Car กันมากขึ้น....

แรงจูงใจ (Incentive) เป็นแรงผลักดันที่ผมคิดว่ามีบทบาทมากที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ การกระทำและการตัดสินใจของคนเราทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดจาก “แรงจูงใจ”

ผู้บริโภคแสวงหาของดีที่มีราคาถูกก็เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างอรรถประโยชน์ให้สูงที่สุดภายใต้งบประมาณที่จำกัด ผู้ผลิตก็มีแรงจูงใจที่จะพยายามลดต้นทุนเพื่อขายของให้ได้กำไรมากที่สุด

ย้อนกลับไปที่แรงจูงใจของการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คนที่จะซื้อรถ Eco-car จะพิจารณาถึงประเด็นที่ได้ที่จอดรถชั้นเตี้ยๆ ในการซื้อรถซักคันหรือไม่

ถ้าจะให้ผมตอบตามความคิดตัวเองก็คงตอบว่า “ไม่มีผล” ต่อการตัดสินใจซื้อรถ Eco-car เลย แรงจูงใจนี้มันไม่น่าจะอยู่ในสมการการตัดสินใจของผู้ซื้อเลย หากเป็นการลดภาษีซักแสนสองแสนก็ว่าไปอย่าง

แล้วการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับรถ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตอบง่ายๆ ก็คือทำให้คนใช้รถ Eco-car รู้สึกดีขึ้นนั่นเอง ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนที่จะตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อรถ Eco-car เลย

ถามว่าระบบเศรษฐกิจได้อะไรหรือเสียอะไร

หากผมสามารถบริหารจัดการตึกจอดรถโดยเลือกให้รถคันไหนไปจอดที่ใดก็ได้ โดยใช้เป้าหมายเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นปัจจัยเดียว รูปแบบที่จะทำให้ระบบประหยัดพลังงานมากที่สุดก็คือ...

รถที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำที่สุดจอดชั้นต่ำที่สุด และรถที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Eco-car จอดชั้นที่สูงที่สุด

ส่วนระบบที่ใช้พลังงานมากที่สุดก็คือระบบที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาก็คือรถประหยัดพลังงานจอดชั้นต่ำสุด และรถประสิทธิภาพต่ำจอดชั้นสูงสุด ไล่กันไปตามลำดับ

แล้วระบบที่ให้รถ Eco-car จอดชั้นต่ำๆ อยู่ค่อนไปทางไหน

เห็นได้ชัดเจนว่าค่อนไปทางระบบที่ใช้พลังงานสูงนั่นเอง

จากตัวอย่างที่ยกมาเห็นได้ว่าการให้แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง นอกจากจะไม่ส่งผลตามที่ต้องการแล้ว บางทียังอาจเกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงด้วย

แต่ก็น่าคิดนะครับว่า หากทุกตึกในประเทศไทยออกกฎให้รถ Eco Car จอดในอาคารจอดรถชั้นล่างๆ จะมีผลอะไรต่อการตัดสินใจซื้อรถหรือเปล่า ??


รูปจาก: http://thailandbrioclub.com/wp-content/uploads/2011/03/eco_car1.jpg

Saturday, May 14, 2011

นิราศพิตส์เบอร์ก

ปล. ผมเขียนเรื่องนี้ตอนรอเครื่องบินกลับที่ LA ตอนปลายเดือนพฤษภาคม 2553 แต่ยังไม่จบดี และไม่มีโอกาสเอาลง Blog จนเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2554 ระหว่างรอเครื่องเพื่อบินไปปารีส ผมก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาและอยากเขียนให้มันจบ แต่ก็ยังไม่ได้เอาลง blog อยู่ดี จนมาเห็นโพสต์ของน้ำตาลในเฟซบุ๊คเมื่อสองสามวันก่อน (วันนี้วันที่ 14 พ.ค. 54) ก็เลยนึกขึ้นได้าต้องเอาลง blog เสียทีผ่านมาจะปีนึงแล้ว และไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ได้รับข่าวร้ายว่าอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์พึ่งจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 54 คิดว่าคงจะเขียนอะไรเพื่อระลึกถึงอาจารย์ซักอย่าง แต่คงรอให้ตั้งสติและตั้งใจให้เป็นปกติก่อน

----------------------------

------------------------------------

LA, 30 พฤษภาคม 2553 - ผมเขียนบทความนี้ขณะรอเครื่องบินขึ้นที่สนามบินแอลเอ เพื่อกลับประเทศไทยหลังจากเรียนจบและจัดการกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคืนห้องอพาร์ตเมนท์ ส่งของกลับเมืองไทย และร่ำลาเพื่อนๆ พี่ๆ และอาจารย์เรียบร้อยแล้ว

สนามบินแอลเอนับเป็นแผ่นดินอเมริกาที่แรกที่ได้เหยียบสำหรับการเดินทางเพื่อเรียนหนังสือเมื่อเกือบห้าปีก่อน เวลาผ่านไปแต่ก็ยังรู้สึกว่าเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว

สำหรับการตัดสินใจที่มาเรียนหนังสือนับเป็นการตัดสินใจที่คิดหนักอยู่พอสมควร เพราะว่าอายุในตอนนั้นก็ไม่ใช่น้อยแล้ว การงานก็ไปได้ด้วยดี กลับมาก็ไม่รู้อะไรจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่ไม่ว่าหลังจากนี้จะเป็นเช่นไรผมจะทำให้การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะการทำงานให้คุ้มค่ากับเงินลงทุนที่รัฐบาลได้ลงไป เวลาที่ผมได้ใช้ไปเพื่อศึกษา และโอกาสต่างๆ ที่หายไปโดยเฉพาะการได้อยู่กับครอบครัว คนที่รัก และเพื่อนๆ (งานแต่งงานของเพื่อนๆ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นสิบงาน ผมไม่มีโอกาสได้ไปร่วมสักครั้ง ซึ่งน่าเสียดายมาก)

เมื่อถึงวันเวลาที่ต้องกลับ สิ่งที่ผมรู้สึกอยู่ในใจตลอดมาคือ รู้สึก “ขอบคุณ” อาจารย์ พี่ๆ และเพื่อนๆ ที่พิตส์เบอร์ก นับตั้งแต่วันแรกที่มาถึงพิตส์เบอร์ก คนที่มารับก็คือ พี่คิม และมาร์ช ซึ่งทั้งสองก็ช่วยผมเป็นอย่างมากสำรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และรู้สึกถึงมิตรภาพในสังคมที่นี่ ผมยังจำ

คำพูดของมาร์ชได้ว่า พอออกจากอุโมงค์ที่เชื่อมต่อไฮเวย์เพื่อเข้าไปในดาวน์ทาวน์พิตส์เบอร์ก ภาพของเมืองที่เห็นมันจะอลังการมาก ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่ผมได้ผ่านอุโมงค์เพื่อทะลุไปดาวน์ทาวน์ผมก็ยังคงรู้สึกเช่นนั้นมาโดยตลอด

ตอนที่มาใหม่ๆ นั้นผมรู้สึกว่าการปรับตัวยากมาก คล้ายๆ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่หนึ่งนานๆ มีรากที่ยาวและยึดติดกับที่ๆ หนึ่ง ถูกดึงถอนออกไปปลูกในที่ใหม่ๆ ดิน ลมฟ้าอากาศ แสงแดด ใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าได้ผ่านช่วงเวลาที่เหี่ยวเฉาและต้องใช้เวลานานพอสมควรในการหยั่งราก ฝากใบ ให้คุ้นเคยกับที่ใหม่ ซึ่งการผ่านช่วงปรับตัวและช่วงแย่ๆ มาได้นั้น ครอบครัว และเพื่อนๆ ที่พิตส์เบอร์ก มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผมปรับตัวได้

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ นั้น มีอะไรที่ต้องเรียนรู้มากมาย บางอย่างนั้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่หลายๆ อย่างมาจากการช่วยเหลือของหลายๆ คน ที่ผมมีชีวิตในพิตส์เบอร์กได้อย่างราบรื่นนั้น ผมคิดว่าส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากคำแนะนำเล็กๆ ของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการหาบ้าน เปิดบัญชีธนาคาร แหล่งที่ควรหลีกเลี่ยงในเวลากลางคืน สถานที่ซื้อของ (ของกิน ของใช้ เครื่องปรุงอาหารไทย) ร้านอาหารอร่อยๆ และเรื่องสัพเพเหระต่างๆ ที่ประกอบรวมจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่นี่

อยากขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคน โดยมีหลายคนที่ขอขอบคุณเป็นการเฉพาะ

พี่คิม และมาร์ช ที่แนะนำอะไรหลายๆ อย่างนับตั้งแต่วันแรกที่มาถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอพารต์เมนท์ การเปิดบัญชีธนาคาร และพาไปกินอาหารมื้อแรกในพิตส์เบอร์ที่ร้านเจ๊โอเค (Orient Kitchen)

น้องฟอร์บส์ ที่เป็นน้องคนแรกที่รู้จักในงานเลี้ยงรวมกลุ่มของสยามที่เมืองไทย เป็นคนที่ช่วยประสานงานเรื่องที่พักในคราวแรกที่มาถึง

น้องเกดและน้องอาร์ม ที่เอื้อเฟื้อที่พักในช่วงเดือนแรกที่มาถึง และคำแนะนำหลายๆ อย่างที่เป็นประโยชน์ในการเริ่มต้นชีวิตที่พิตส์เบอร์ก

พี่นนท์ สำหรับอพารต์เมนต์ที่เช่าต่อจากพี่ที่อยู่มาตลอดจนเรียนจบและสิ่งของเครื่องใช้หลายๆ อย่างที่ให้ไว้

ตูน พี่มอส และหนามเตย สำหรับคำแนะนำหลายๆ อย่าง การจัดทริปท่องเที่ยว อาหารอร่อยๆ (โต๊ะทำงานที่ได้จากตูนใช้งานมาเกือบตลอดห้าปีที่ผ่านมา พี่มอสร่วมเชียร์และร่วมบ่นลิเวอร์พูล หนามเตยที่จัดการหลายอย่างได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งการรวมกลุ่มทานอาหารด้วยกัน งานวันเกิด และกิจกรรมของสยามหลายๆ อย่าง)

ปอม และส้ม ที่เป็นเพื่อนที่เข้ามาเรียนเอกในรุ่นเดียวกัน มาใหม่เหมือนกัน อยู่อพาร์ตเมนท์เดียวกัน เหมือนเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมที่เจอปัญหาต่างๆ คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะปอมจะเป็นแรงบันดาลใจมากในเรื่องความอึดในการเรียน

เค และปุ๊ก ที่เป็นน้องที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนเดียวกัน แต่อยู่คนละหลักสูตร เป็นน้องที่น่ารักมีน้ำใจ

เป้ เพื่อนอพาร์ตเมนท์เดียวกันที่ไม่เคยได้เจอหน้าเลยในปีแรกๆ ที่มาอยู่ เป็นเพื่อนที่แนะนำกิจกรรมหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการชวนไปเตะบอลที่ทำให้รู้จักเพื่อน ใหม่ๆ หลายๆ คน เป็นเพื่อนวิ่ง และช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง

พี่หรี่และพี่ปุ้ย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยน้องๆ ในหลายเรื่อง และสำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อการสังค์สรรในหลายๆ โอกาส และในเรื่องเตะบอล ผมรู้สึกว่าแค่เสื้อเจอร์ซีย์ที่พี่หรี่ซื้อทำให้ทีมฟุตบอลของเราดูมีระบบและมีความเป็นทีมมากขึ้น

พี่กร พี่ชายที่มีน้ำใจ ที่เป็นเพื่อนคุยเวลาผ่านไปเจอที่แกนั่งประจำที่สตาร์บัคส์ รวมถึงคำแนะนำเรื่องที่กินที่เที่ยว ต่างๆ และคำแนะนำในหลายๆ เรื่อง

ก่อ ที่ช่วยจัดการเรื่องการเตะบอลและจัดการสำหรับงานสังสรรค์หลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ ประสานงาน และเก็บเงิน

กอล์ฟ บอมบ์ และแป๊ะ ที่ชวนทำเรื่องสนุกๆ แบบที่เคยได้ทำกับเพื่อนที่เมืองไทย

พวก undergrad เช่น ปรี อาร์ม บู้ ขนุน ป้อง ที่ทำให้ได้ร่วมกิจกรรมที่หลากหลายที่ตอนเรียนปริญญาตรีไม่มีโอกาสได้ทำ

เพื่อนเตะบอลทุกคน ไม่ว่าจะเป็น พี่หรี่ พี่กร พี่ชาติ พี่นัท ปิง ก่อ ก้อง กอล์ฟ บอมบ์ เป้ โจ้ เอดี้ ปรี อาร์ม ขนุน บูบู้ ป้อง เนก หน่อไม้ แก๊ป มาร์ค อั้น ซัง สิ ยอด มี่ แป๊ะ เอก(ดำ) เอก(แคทซ์) เอ กริช อัธ ไก่ อาร์ท ชิน บิ๊ก ภาคย์ โป้ง นนท์ ฯลฯ ซึ่งหลายๆ คนแม้จะรู้จักได้ไม่นาน แต่ว่าคุ้นเคยกันได้เร็วก็เพราะเตะบอลด้วยกันนี่ล่ะ

เพื่อนๆ ที่ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ด้วยกัน ทานข้าว และรวมถึงกิจกรรมของสยาม/พิตต์ พี่โอ๊ต พี่อ้อม น้ำตาล กบ อัคร เล็ก ลูกชุบ ไผ่ เอ อ้อมใจ วี ผึ้ง พี่ยง มิงค์ ออม พลอย อร แอนนี่ ป๋วย ฯลฯ

Marcel ที่สอนให้ผมรู้จักกับ MATLAB อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น ยังจำได้ว่าการบ้านชิ้นแรกๆ ที่เพื่อนๆ หลายคนซึ่งใช้โปรแกรมนี้จนคุ้นเคยแล้วใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงเขียน Code ทำจนเสร็จ แต่ผมใช้เวลาสองสามวันกว่าจะทำได้ Marcel นี่ล่ะ ที่ช่วยให้ผมเข้าใจหลักการและทำให้รอดตัวมาได้

Ozgun เพื่อนร่วมโปรแกรม Econ ที่ผ่านด่าน qualify มาได้พร้อมกันอย่างทุลักทุเล ที่มักชวนคุยเรื่องการเมืองโลก ซึ่งผมไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไหร่ทำให้ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีมาโดยตลอด

Rick Green อาจารย์และเพื่อนในบริเวณออฟฟิสเดียวกัน ในปีแรกเข้ามาเรียนที่ Rick เป็น Head of the PhD Program ในตอนนั้นเป็นคนที่ผมคิดว่าโหดมากๆ และไม่ชอบหน้าเท่าไหร่ แต่ email ของ Rick ที่ส่งมาหลังจากในปีแรกที่ผมส่ง summer paper เป็นแรงกระตุ้นให้ฝ่าฟันจนเรียนจบมาได้ และเป็นคนที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการวิ่งที่ Schenley Park

ขอบคุณครับ

Saturday, May 1, 2010

คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า

คำถามที่ว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เป็นคำถามที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามกับผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องด้วยผมจะกลับเมืองไทยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งอาจารย์ก็เป็นห่วงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะมีภาพข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงจากการประท้วงทางการเมืองออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

อาจารย์ของผมท่านนี้เคยไปเมืองไทยเมื่อเกือบสามสิบกว่าปีก่อน ท่านยังเล่าให้ฟังเสมอถึงความประทับใจต่อเมืองไทย เช่น การบริการของโรงแรมโอเรียนเต็ลที่เอาใจใส่ในทุกรายละเอียดต่อแขกที่เข้าพัก เสื้อสูทที่ตัดไว้เมื่อไปเมืองไทยก็มียังอยู่ และอัธยาศัยที่เป็นมิตรของคนไทย

ท่านถามผมว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะภาพที่อยู่ในใจของท่านและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ คนไทยนั้นมีนิสัยอ่อนโยน และมีความเอื้ออาทร (จนเป็นที่เรียกติดปากว่า สยามเมืองยิ้ม) ท่านก็บอกว่าภาพข่าวที่เห็นดูจะตรงข้ามกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ท่านรู้จักอย่างสิ้นเชิง

คำตอบที่ผมตอบท่านไปก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีนิสัยอย่างที่ท่านบอกก็คือยังคงเป็นมิตรแม้แต่กับคนแปลกหน้า เช่น นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและมีการปลุกระดมเหมือนจิตวิทยามวลชน ทำให้เกิดการแสดงออกที่รุนแรง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้น ถ้าเราได้มานั่งคุยกันตัวต่อตัว ก็สามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนกับคนไทยคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้รู้สึกเหมือนกับการทำศึกสงคราม ทำให้อารมณ์ที่แสดงออกไปมีแต่ความก้าวร้าวรุนแรง จนเหมือนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและการควบคุมตนเองไป

ผมเชื่อว่าชาวต่างชาติหลายคนก็คงเริ่มตั้งคำถามแบบที่ผมได้รับเช่นนี้เหมือนกัน ภาพพจน์ของคนไทยในสายตาต่างชาติ คือ ชนชาติที่เป็นมิตร ยิ้มง่าย และมีน้ำใจ อย่างไรก็ตามหากภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นออกไปสู่โลกภายนอกอย่างต่อเนื่องเช่นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์โดยรวมของคนไทยอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้

คำตอบที่ผมตอบอาจารย์ไปเป็นคำตอบที่ผมมีความเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่าเราคนไทยยังคงมีไมตรีจิตให้แก่กันเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาช่างกลคู่อริที่ตีกันเป็นประจำ (โดยเฉพาะเวลาที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน) มาถอดเสื้อช๊อป ถอดเข็มขัด แล้วให้ใส่ชุดกีฬามาเล่นฟุตบอลกัน โดยให้ลืมเรื่องศักดิ์ศรีไร้สาระซึ่งถูกปลูกฝังจากรุ่นพี่นิสัยไม่ดี ผมว่าไม่นานคนกลุ่มนี้ก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่ต้องมีใครมากล่อมให้รักกัน

นิสัยอีกอย่างของคนไทยก็คือไม่ชอบการคุยกันดังๆ การใช้เสียงดังหรือตะโกนมักจะเกิดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น การทะเลาะกัน (บางชาตินี่คุยกันปกติแต่ส่งเสียงดังเหมือนทะเลาะกันก็มี) หรือมีการประกาศเพื่อเน้นให้ตั้งใจฟัง ซึ่งในแง่นี้อาจสามารถเปรียบได้กับเรื่องการชุมนุมที่เป็นทางออกทางหนึ่งเพื่อแสดงให้คนหมู่มากได้รับรู้และได้ยินในเรื่องที่ตนเองต้องการจะบอก ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่เคยสนใจหรือไม่เคยได้ยิน เช่นเดียวกับการพูดให้เสียงดังขึ้นกว่าปกติเพื่อกระตุ้นให้คนรับฟัง

หลักการเรื่องความพอดียังคงใช้ได้กับทุกเรื่อง หากผู้พูดส่งเสียงดังมากจนเกินไป จนเหมือนการตะโกนกรอกใส่หู ย่อมทำให้คนที่รับฟังเกิดอารมณ์ขุ่นมัว และ สาร ที่ต้องการจะ สื่อ อาจไม่ส่งผลได้ดังที่ตั้งใจไว้ และอาจส่งผลทางลบต่อผู้ส่งเสียงเรียกร้องเสียเอง

ส่วนตัวผมก็หวังว่าเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นจบลงโดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงบางเรื่องที่มีการตะโกนให้รับรู้ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาถูกนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และให้คนไทยสามารถกลับมาพูดถกเถียงเรื่องการเมืองได้โดยไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ เหมือนกับสมัยก่อนที่พูดกันยามเช้าในร้านกาแฟหน้าปากซอย คุยกันไปกินปาท๋องโก๋ไป สายๆ ก็แยกย้ายกลับบ้านโดยมีรอยยิ้มให้กัน

Wednesday, April 14, 2010

การเืมืองเรื่องความรู้สึก

ไม่ได้เขียนบล๊อกมานานพอสมควร ด้วยภารกิจทางการเรียนที่ค่อนข้างรัดตัว และที่สำคัญคือนิ้วก้อยซ้ายหัก ทำให้กิจกรรมที่ง่ายๆ หลายอย่างในชีวิต รวมถึงการพิมพ์ดีด กลายเป็นสิ่งที่ยากอย่างที่คิดไม่ถึง

ในช่วงหลายปีที่ผมอยู่ต่างประเทศสถานการณ์การเมืองในเมืองไทยอยู่ในภาวะวุ่นวายมาโดยตลอด และช่วงไม่กี่เดือนมานี้ก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องทั้งทางสื่อมวลชน และ Social network ทั้งหลาย

ที่พอสังเกตได้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ หลายๆ คนเหมือนจะอิน (ไม่รู้จะใช้ศัพท์ไทยว่าอะไรดี น่าจะคล้ายๆ กับหมกมุ่นแต่เบากว่าหน่อย) กับเรื่องการเมืองมาก เห็นได้จากการแสดงออกทาง Social network ซึ่งก็ถือเป็นการระบายหรือแสดงความคิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันรุนแรงเหลือเกิน ผมก็เข้าใจนะโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ และอยู่กับเรื่องราวนี้เกือบตลอดเวลา การที่คนจำนวนมากสนใจเรื่องการเมืองนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรหมกมุ่นจนใจหม่นหมอง จนเหมือนกลายเป็นคนไร้ความเมตตากรุณาไป

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าเรื่องการเมืองและศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกนำมาหยิบยกในวงสนทนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะหากคู่สนทนาต้องการเอาชนะคะคานทางด้านความคิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะในบางประเด็นที่พื้นฐานหรือข้อสมมุติ (Assumption) แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คืออัตตาของแต่ละคนที่ถูกเอาไปผูกไว้กับความคิดความเชื่อ และแม้จะมีข้อมูลที่หลั่งไหลออกมามากมายอย่างในยุคปัจจุบันก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดความเชื่อของแต่ละคนได้ เรามักเลือกที่จะเชื่อในแบบที่เราอยากให้เป็น

สำหรับผมก็หลีกเลี่ยงการถกเถียงเรื่องเหล่านี้ ประการแรกคือถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็เถียงกันไม่จบ สองถ้าเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันก็อาจเกิดการเสียความรู้สึกกันได้ เพราะคู่สนทนาอาจไม่สามารถแยกแยะความเชื่อ กับมิติด้านอื่นที่เป็นมนุษย์ของผมออกจากกันได้ กลายเป็น Stereotype เช่น เด็กแวนซ์ = ติดยา มั่วเซ็กซ์ งานการไม่ทำ (ซึ่งถ้าผมเป็นแวนซ์จริงก็อาจไม่มีลักษณะเช่นนี้ก็ได้ ปล.ไม่ขอยกตัวอย่างเรื่องการเมือง) สามการถกเถียงกับคู่สนทนาบางคนที่มีอคติรุนแรง เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะไม่ได้การต่อยอดทางความคิด ข้อสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ผมอาจเลือกที่ไม่แสดงความเห็นแค่รับฟังเฉยๆ โดยเฉพาะกับบุคคลที่ผมมีความรู้สึกดีๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าการถกเถียงกันทำให้เสียความรู้สึกดีๆ ในมิติอื่นๆ ของชีวิตไปเปล่าๆ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา

จำได้จากละครเรื่องเคหาสห์ดาวตอนหนึ่งที่ประทับใจก็คือ นายเขียว ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องเป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้านให้กับนางเอก คือ คุณจ๋อม หลังจากออกแบบบ้านจนจะเสร็จแล้ว แม่ของนางเอกซึ่งได้ปรึกษากับหมอดูฮวงจุ้ยมีความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแบบบ้านเพราะหมอดูทัก นายเขียวก็ไม่ยอมและโกรธเพราะว่าเขาไม่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ถ้าจะให้เปลี่ยนแบบด้วยเหตุผลอื่นเขาก็ยอมทำ แต่ถ้าด้วยเหตุผลเรื่องฮวงจุ้ยแล้ว หัวเด็ดตีนขาดยังไงเขาก็ไม่ทำ ซึ่งทำให้นายเขียว กับคุณจ๋อมและแม่ ก็ผิดใจกันไป จนนางเอกของเราพูดให้นายเขียวฟังว่า บางทีการยอมทำตามในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เพื่อรักษาความรู้สึกของคนที่เรารักนั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความรู้สึกดีๆ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ

แม้ว่าตัวอย่างในละครอาจไม่สามารถนำมาใช้กับเรื่องที่กล่าวมาขั้นต้นได้ทั้งหมด และก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องสูญเสียตัวตนหรือจุดยืนของเราไปเพื่อรักษาความรู้สึกคนที่เรารัก แต่หมายความว่าควรมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว ซึ่งผมว่าเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ทำได้ยากอย่างหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องมี

บางทีการรักษาความรู้สึกดีๆ ของคนที่เรารักมันสำคัญกว่าการยึดติดกับความคิดความเชื่อ เพราะคนเรามีโอกาสที่จะฉลาดหรือโง่หรือถูกหลอกได้พอๆ กัน บางทีในอนาคตสิ่งที่เชื่อสิ่งที่ยึดถือมาเกือบตลอดชีวิตอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ความคิดความเชื่อมันพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ความรู้สึกดีๆ บางอย่างเสียแล้วอาจเสียไปเลย แม้ว่าเราอาจมีกะลาที่ครอบความคิดบางเรื่องกันอยู่คนละใบ แต่ว่าเราก็สามารถมีความรู้สึกดีๆ เป็นเพื่อนกันได้ในมิติอื่นๆ ของชีวิต

Tuesday, February 23, 2010

น้ำเอยน้ำใจ 2

หมายเหตุ: เนื้อหาคราวนี้ต่อเนื่องจาก บทความที่แล้ว เรื่อง น้ำเอยน้ำใจ จริงๆ แล้วอยากเขียนให้ต่อจากคราวที่แล้วเป็นบทความเดียวไปเลยแต่ว่ามีบางประเด็นที่น่าจะแยกมาเขียนต่างหาก โดยบทความที่แล้วได้พูดถึงการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมนุษย์ ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเท่าไร รวมถึงการทดลองพฤติกรรมของคนในห้องแลปที่ไม่อาจสะท้อนพฤติกรรมที่ผู้คนในสังคมทั่วไปแสดงออกเมื่อประสบกับสถานการณ์ต่างๆ

อีกประเด็นที่สามารถหยิบยกได้จากกรณีฆาตกรรม Kitty Genovese ที่มีการนำเสนอว่าผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายวางเฉยกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเหตุการณ์สาธารณะ ประเด็นของเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือ An Introduction to Game Theory ของ Martin J. Osborne ในบทที่เกี่ยวกับ Mixed Strategy

กล่าวคร่าวๆ Mixed Strategy Equilibrium ในทฤษฎีเกม หมายความถึงการกำหนดกลยุทธ์ของบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับการคาดหมายถึงความน่าจะเป็นในการที่บุคคลอื่นจะใช้กลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ยิงลูกโทษ กับผู้รักษาประตู แต่ละคนกำหนดความน่าจะเป็นว่าอีกฝ่ายจะเลือกทางซ้ายหรือขวา แล้วนำมาใช้ตัดสินใจในการเลือกกลยุทธ์ของตน ซึ่งอยู่ในลักษณะความน่าจะเป็นอีกเช่นกัน

ในบทความจากหนังสือได้เสนอการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ในกรณีที่มีผู้พบเห็นเหตุการณ์หลายคน พบว่าความน่าจะเป็นหรืออัตราในการแจ้งเหตุมีน้อยลง ซึ่งทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า อาจเกิดจากการกระจายของความรับผิดชอบหรือความรู้สึกผิด เช่น ถ้าเราเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว เท่ากับว่าเราแบกรับความรับผิดชอบ หรือความเป็นความตายของผู้อื่นไว้แต่ผู้เดียว ซึ่งความรู้สึกผิดหากว่าเราไม่รับผิดชอบมันเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ถ้ามีคนอื่นเห็นด้วยเราก็สามารถบรรเทาความรู้สึกผิดได้ว่า คนอื่นไม่ยอมทำด้วย ไม่ใช่เราต้องรับผิดชอบคนเดียว

ทฤษฏีเกม Mixed Strategy สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวได้ดีเช่นกัน โดยหากสมมุติว่า การแจ้งเหตุก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตัวเรา อย่างไรก็ตามก็มีต้นทุนด้วย เช่น ค่าโทรศัพท์ หรืออาจต้องเสียเวลาเป็นพยานอีกหลายครั้ง ซึ่งเราสมมุติว่าผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน และหากว่ามีคนเพียงคนเดียวแจ้งเหตุ ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ก็จะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด

หากว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการแจ้งเหตุ เพราะผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก อย่างไรก็ตามเมื่อมีหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ ทำให้แต่ละคนคาดการณ์ว่าคนอื่นๆ ตัดสินใจแจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง และยิ่งการที่มีหลายคนทำให้ความน่าจะเป็นในการแจ้งเหตุของแต่ละคนลดลงไปเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าอีกคนหนึ่งจะแจ้งเหตุแล้ว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของเราคือการไม่แจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นที่สูง ซึ่งทำให้เราไม่เสียเวลาแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ซึ่งเหตุการณ์ที่ผมพบเจอทุกวันและน่าจะใช้คำอธิบายแบบเดียวกันได้ก็คือ ปัญหาการกดปุ่มสัญญาณคนข้ามถนนตอนไปโรงเรียน หากว่าต้องการข้ามถนนต้องกดปุ่มนี้สัญญาณไฟคนข้ามจึงจะติด ซึ่งกดเพียงครั้งเดียวมันก็จะติดหลังจากไฟแดงวนมาครบรอบ มีหลายที่ผมเห็นคนยืนรอข้ามถนนหลายสิบคน แต่ปรากฎว่าสัญญาไฟคนเดินไม่ขึ้น เพราะว่าไม่มีคนกดปุ่ม ซึ่งก็ทำให้ต้องรอไฟแดงกันอีกรอบหนึ่ง

จริงๆ แล้วการกดสัญญาณไฟไม่มีต้นทุนอะไรเลยต่อผู้กด อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มาถึงสัญญาณไฟเป็นคนแรก ไม่กดปุ่มดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ตามมาเข้าใจว่า มีการกดปุ่มไปแล้ว (ด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง) ทำให้เขาไม่ตัดสินใจกดปุ่มนั้น และเมื่อมีคนอื่นตามมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำคนที่ตามมาคาดการณ์ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงว่าต้องมีคนกดไปแล้วแน่ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครกดปุ่มนั้นเลย และต้นทุนที่เกิดจากการรอไฟแดงอีกรอบหนึ่งนั้น มากกว่าต้นทุนการกดปุ่มอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมจะข้ามถนนหากไม่เห็นว่ามีใครกดปุ่มนั้นแล้ว ผมจะกดปุ่มสัญญาณไฟเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ต้องรอไฟแดงอีกรอบ

สถานการณ์จากแบบจำลองทฤษฏีเกมที่ยกมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลักทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องของ Externality ซึ่งก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนๆ หนึ่งซึ่งนอกจากจะกระทบต่อตัวผู้ทำเองแล้วยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เช่น โรงงานก่อมลพิษ ข้างบ้านเปิดวิทยุเสียงดัง หรือถ้ามองเป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจก็เช่น ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนข้อสรุปในเรื่องของคดีของ Kitty Genovese นั้นในท้ายบทของ Super Freakonomics ได้เปิดเผยว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์นั้นเสนอข่าวเกินความจริง โดยการเปิดเผยจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ชี้ให้เห็นว่า การฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นในเวลาประมาณตีสาม ซึ่งมีไม่กี่คนที่เห็นเหตุการณ์ และก็ได้มีการแจ้งตำรวจไปแล้ว แต่ใช้เวลานานกว่าจะติดต่อกับตำรวจได้ ทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตของเธอไว้ได้ทัน

Tuesday, February 16, 2010

น้ำเอยน้ำใจ

ผมพึ่งอ่านบทหนึ่งในหนังสือ Super Freaknomics จบลง (ซึ่งเป็นภาคต่อของ Freakonomics) ซึ่งเล่มสองนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างเงียบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม ไม่เหมือนภาคแรกที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงอีกมุมมองของปรากฎการณ์ที่แปลกไปเมื่อใช้หลักทางเศรษศาสตร์มาอธิบาย

บทที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ บทที่ 3 Unbelievable Stories about Apathy and Altruism (apathy มีความหมายประมาณว่าเมินเฉยไม่ใส่ใจ ส่วน altruism ก็มีความหมายประมาณว่ามีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว)

เริ่มบทมาก็กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อมี ค.ศ. 1964 ที่หญิงสาวผู้หนึ่ง (Kitty Genovese) ถูกฆาตกรรมโดยชายผู้หนึ่งขณะเดินกลับบ้านตอนกลางคืน โดยส่วนที่สำคัญคือข่าวได้ลงว่าฆาตกรผู้นั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายหญิงสาวผู้นี้ถึงสามครั้งจนถึงแก่ความตาย และได้มีการพาดหัวข่าวว่าผู้คนถึง 38 คนที่อาศัยอยู่ในตึกใกล้เคียงที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้แจ้งตำรวจหรือช่วยเหลือหญิงสาวผู้นี้แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงดังกล่าวในประเด็นเรื่องความใส่ใจในชีวิตผู้อื่นในสังคม

เหตการณ์ดังกล่าวก็ถูกโยงมาถึงประเด็นที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามีความมีน้ำใจหรือเปล่า ทำไมคนจึงทำบุญหรือช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่รู้จัก อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมดังกล่าว (จริงๆ ในบทมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาเหตุการเกิดอาชญากรรม เช่น การออกอากาศโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหรัฐ พบว่ารัฐที่มีการออกอากาศก่อนรัฐอื่นหลายเดือนมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจึงมีการพัฒนาการทดลองในห้องแลป เพื่อศึกษาพฤติกรรม (การใช้ข้อมูลจริงทำได้ลำบากในทางสังคมศาสตร์ เพราะหาปรากฎการณ์ที่เป็น Natural Experiment ได้ยาก)

ยกตัวอย่างเช่น เกมที่ชื่อว่า Ultimatum ซึ่งให้ผู้รับการทดลองสองคนที่ไม่รู้จักกัน โดยผู้เล่นคนแรกจะต้องแบ่งเงินที่ได้รับมาจำนวน $20 ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับตัวเองและส่วนหนึ่งสำหรับผู้เล่นคนที่สอง โดยกฎของเกมก็คือ หากว่าคนที่สองไม่ยอมรับจำนวนที่เสนอทั้งคู่ก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งจากทฤษฏีเกมผู้เล่นคนแรกสามารถเสนอจำนวนที่น้อยที่สุดให้ผู้เล่นคนที่สอง เช่น $0.01 เพราะถ้าปฏิเสธก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ว่าจากผลการทดลองพบว่าผู้เล่นคนที่หนึ่งเสนอให้โดยเฉลี่ย $6 ซึ่งก็ถือว่ามาก และผู้เล่นคนที่สองโดยเฉลี่ยจะปฏิเสธจำนวนเงินที่น้อยกว่า $3 ซึ่งผลดังกล่าวก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เล่นคนแรกเป็นคนมีน้ำใจจริงหรือเปล่า เพราะการเสนอตัวเลขที่สูงอาจทำเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธ

ต่อมาก็มีการปรับปรุงแนวทางของเกมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ผู้เล่นคนแรกเป็นคนตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว (Dictator) ก็ยังปรากฎว่าโดยเฉลี่ยยังมีการแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนที่สองอยู่ แต่ว่าพอเปลี่ยนกฎของเกมโดยแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนแรกและคนที่สองเท่าๆ กัน และผู้เล่นคนแรกสามารถตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินให้ หรือเอาเงินจากคนที่สองมาเป็นของตัวเอง ซึ่งผลออกมาว่ามากกว่า 40% ของผู้เล่นคนแรกเอาเงินทั้งหมดจากผู้เล่นคนที่สอง

จากการทดลองหลากหลายดังกล่าวก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และผู้เขียนก็ยังได้กล่าวถึงประเด็นของการทดลองในห้องแลป ที่อาจมีปัญหาเรื่องการสุ่มตัวอย่าง และพฤติกรรมของผู้เข้ารับการทดลองซึ่งอาจไม่เป็นธรรมชาติและไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงของคนในสังคมได้

ประเด็นเรื่องน้ำใจดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องที่เคยอ่านใน Predictably Irrational ที่กล่าวถึงเรื่อง Social Norm กับ Market Norm โดย Social Norm หมายถึง รูปแบบทางสังคมที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วน Market Norm เป็นรูปแบบของสังคมแบบผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายยึดถือคนละแบบแผน (Norm) มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น องค์กรหนึ่งต้องการหาทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เลยเข้าไปเสนองานให้กับทนายรายหนึ่งโดยให้ค่าชั่วโมงน้อยกว่าราคาตลาดเพื่อเป็นการกุศล ปรากฎว่าทนายได้ปฏิเสธ ทางองค์กรจึงได้เปลี่ยนแนวทางโดยบอกกับทนายว่าจะช่วยองค์กรฟรีๆ เพื่อการกุศลได้หรือเปล่า ปรากฏว่าทนายได้ตอบรับ โดยผู้เขียนได้อธิบายว่า ในกรณีแรกทนายได้ใช้ Market norm ในการตัดสินใจ เมื่อราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาตลาดเขาจึงไม่รับงาน ส่วนในกรณีหลังเขาตัดสินใจโดยใช้ Social norm ในการตัดสินใจช่วยเหลือทำให้รับงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นเรื่องการมีน้ำใจ หรือทำบุญกุศลนั้นผลที่เกิดขึ้นทางใจมันสามารถวัดได้ลำบาก แตกต่างกันไปตามแต่บุคคล อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นประเด็นที่ดูแปลกสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ก็เพราะใน Utility Function (http://en.wikipedia.org/wiki/Utility) ที่เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปนั้นถูกกำหนดโดยทรัพย์สินหรือวัตถุ ความพึงพอใจหรือความสุขใจ ไม่ได้รวมอยู่ในนั้น หากว่าความสุขใจจากการเสียทรัพย์สินบางส่วนเพื่อการกุศลนั้นถูกบรรจุเข้าไปอย่างเหมาะสม ก็น่าจะสามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าจะตีออกเป็นมูลค่าได้ลำบากก็ตาม

หลักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายหลายปรากฎการณ์ที่ไม่น่าจะอธิบายได้ แต่ว่าก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ทุกอย่าง

(สำหรับความเห็นส่วนตัวกับหนังสือ Super Freakonomics เล่มนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลิน ไม่น่าเบื่อ แต่สิ่งที่ต่างจากเล่มแรกก็คือในแต่ละบทมีความพยายามที่จะแทรกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปและเบนความสนใจจากคนอ่านไปจากประเด็นหลักได้)

อ้างอิง : http://www.amazon.com/SuperFreakonomics-Cooling-Patriotic-Prostitutes-Insurance/dp/0060889578/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371768&sr=8-1

http://www.amazon.com/Predictably-Irrational-Hidden-Forces-Decisions/dp/006135323X/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371802&sr=1-1

Tuesday, February 2, 2010

อารมณ์ขำและคิดถึงหนังโจวซิงฉือ


ผมคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นอารมณ์เฉพาะของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นสิ่งมีชีวิตอื่น แสดงอารมณ์ขันได้เลย ถ้าเป็นอารมณ์สนุกก็พอจะเห็นได้บ้าง อย่างเช่นเวลาเล่นกับสุนัข (ผมเดาว่ามันสนุกนะ แต่จริงๆ ไม่รู้ว่ามันสนุกหรือเปล่า เห็นมันกระดิกหางวิ่งไปมาก็เข้าใจว่ามันน่าจะสนุก)

อารมณ์ขันก็คล้ายๆ กับความพอใจในรสอาหารซึ่งมีความเฉพาะตามบุคคล แต่ว่าขอบเขตมันกว้างมาก อย่างในเรื่องอาหาร ถ้าอาหารรสดี คนส่วนใหญ่ที่กินก็จะรู้สึกไปในทางเดียวกัน แม้ว่าความชอบมากน้อยอาจต่างกันไปบ้าง แต่ว่าเรื่องตลกนี่มันกว้างไปกว่านั้น บางคนรับรู้เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจขำเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ว่ากับอีกคนอาจไม่ขำแถมไม่ชอบอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ผมดูพวกเดี่ยวฯ ของโน้ส อุดม ก็ไม่ขำ แค่หัวเราะหึๆ กับบางมุก แต่หลายๆ คนก็ดูจะชอบและขำกันมากมาย

เท่าที่สังเกตตัวเองมาระยะหลังมุกตลกหรือหนังตลกเรื่องตลกแบบก่อนๆ มันไม่ค่อยขำเท่าไหร่ ไม่รู้เพราะเส้นลึกไปตามวัยหรือรสนิยมเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เด็กเล็กๆ นี่ขำง่าย เล่นจ๊ะเอ๋ก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้ว (ในทางกลับกันก็ร้องไห้และเศร้าได้ง่ายเช่นกัน) เหมือนว่ายิ่งโตขึ้นการควบคุมอารมณ์มีมากขึ้นตามลำดับพออายุมากขึ้น

หนังสือการ์ตูนแต่ก่อนก็มีหลายเรื่องที่อ่านแล้วขำล่าสุดก็คือ ครอบครัวตัว ฮ. ที่พี่ชายซื้อไว้ ส่วนหนังการ์ตูนล่าสุดที่ได้ดูแล้วคิดว่าขำก็คือ คุโรมาตี้ (anime) แบบเป็นการ์ตูนไม่มีโอกาสได้อ่าน พวกเรื่องขำขันก็เช่นกัน หาแบบตลกๆ ได้ยากเต็มที

ส่วนถ้าจะพูดถึงหนังที่ชวนขำมากที่สุดสำหรับผม ก็คือหนังของ โจว ซิง ฉือ สมัยแรกๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยไม่เคยพลาดเลยที่จะดูหนังของโจวซิงฉือในโรงหนัง ซึ่งไปดูกันทีก็เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ทีมพากย์ก็ต้องทีมพากย์อินทรีไม่งั้นไม่สนุก

เรื่องแรกที่ได้ดูไม่ได้ดูในโรงหนัง แต่ว่าดูกับเพื่อนสามคน เนื่องด้วยว่ามีเพื่อนคนหนึ่งต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน มันจึงเช่าหนังมาดู ซึ่งก็คือเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” เป็นหนังที่ดูแล้วขำมากๆ เรียกว่าหัวเราะกันท้องแข็งแทบทุกฉาก

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าว่าในระยะหลังๆ หนังของเฮียโจวไม่ค่อยขำเท่าไหร่ (สำหรับผม) ไม่รู้ว่าต้องการทำให้อารมณ์ขันเป็นสากลขึ้นหรือไม่ แต่ว่าความเป็นตลก แบบงี่เง่าๆ มันหายไปอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเสียงเล็กๆ ของผมไปถึงเฮียโจวได้ อยากบอกเฮียว่าทำหนังแบบเดิมเหอะ ไม่ต้องเอาโกอินเตอร์ก็ได้

มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดผม (และอีกหลายคนคงเป็นเหมือนกัน) ที่มีอารมณ์ขำกับสิ่งต่างๆ ได้ยากขึ้น ไม่รู้ว่ามันจะเกิดจากการที่ในชีวิตที่ผ่านมาเราเจอเรื่องขำๆ มาเยอะ หรือว่าเจอเรื่องไม่ขำมาเยอะกันแน่

ปล. มีคนเอาเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” มาลงไว้ในเนตด้วย (ตอน 3 ซ้ำกับตอน 2 ข้ามไปตอน 4 ได้เลย) ใครยังไม่เคยดูต้องลองดูนะ ส่วนจะขำไม่ขำก็แล้วแต่ความลึกของเส้น http://video.mthai.com/player.php?id=23M1218434130M0

Friday, January 1, 2010

เลขเด็ด สิ่งลึกลับ และ Sample Selection Bias

เคยคิดกันบ้างไหมว่าทำไมคนไทยบ้าหวยกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ได้บ้าหวยก็ได้ แต่เหมือนกับว่าวัฒนธรรมหวยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไปแล้ว โดยเฉพาะข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหวยสามารถพบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีโดยทั่วไป

ข่าวที่คาดว่าจะพบเห็นได้ในช่วงใกล้วันที่สิบหก และวันที่หนึ่งของเดือนก็จะเป็นข่าวจำพวก กล้วยสองเครือ วัวสองหัว ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ (แต่ไม่ได้ผิดธรรมชาติเพราะว่ามันอยู่ในธรรมชาติ) หรือจะเป็นข่าววิญญาณมาเข้าฝันบอกเลขเด็ด ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักเสี่ยงโชคตีความเป็น “เลขเด็ด” ต่างๆ นานา หลังจากช่วงหวยออกก็จะมีข่าว follow up ประมาณว่า มีคนถูกเลขเด็ดทั้งหมู่บ้าน

ด้วยความที่หวยเป็นการลงทุนในจำนวนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง (ความน่าจะเป็นที่จะถูกก็น้อยเช่นกัน) ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการลงทุนได้เงินง่าย ที่กำไรงาม และเหมือนว่าใครๆ เขาก็ถูกกัน ซึ่งจูงใจให้คนเข้ามาเล่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโอกาสในการลงทุนด้านอื่น และก็เป็นโอกาสให้คนหลายๆ คนเข้ามาหากินเช่นกัน เช่น สื่อมวลชน คนใบ้หวย และพระสงฆ์ที่ให้หวย ซึ่งกรณีหลังผมถือว่ามันเป็นมารศาสนาชัดๆ

ส่วนเรื่องสิ่งลึกลับที่คนเชื่อกันว่าให้เลขเด็ดได้ เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ต่างๆ ถ้าสมมุติว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงและให้เลขเด็ดได้จริง หมายความว่าสิ่งลึกลับเหล่านี้อาจมีรูปแบบที่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนเป็นระบบ

ประการแรกก็คือ รางวัลหรือเลขที่ถูกรางวัลมีจำกัด แต่ว่าแหล่งให้เลขเด็ดต่างๆ กระจายไปนับพันนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ถ้าสิ่งลึกลับที่กล่าวอ้างสามารถให้เลขเด็ด ได้จริงก็จะเกิดการแข่งขันการให้เลขเด็ด เพราะยิ่งคนถูกรางวัลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะได้รับการ เซ่นไหว้ เทินทูน บูชา มากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่มีการจัดสรร จัดคิว จะมีการแข่งกันสร้างบารมี แล้วระบบการเล่นหวยก็จะพังทลายเพราะจะมีแต่คนถูกรางวัล (โดยเฉพาะหวยใต้ดิน) การคิดต่อจากนี้ก็จะเริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อย เช่น กฎเกณฑ์ในการจัดสรรเลข บอสใหญ่เป็นประธานคือใคร คัดเลือกอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีบางประเด็นที่ผมสงสัย เช่น ให้เลขเด็ดนอกประเทศได้ไหม หรือว่าจำกัดเฉพาะประเทศไทย (อยากได้เลขเด็ด Power Ball บ้าง ออกบ่อยด้วย สัปดาห์นึงตั้งสองครั้ง รางวัลถ้านับเป็นเงินไทยก็หลายร้อยล้านบาท)

ที่ผมกล่าวในประเด็นข้างต้นจัดได้ว่าเพ้อเจ้อเลยที่เดียว หรือถ้าจะลองคิดอีกมุมที่ไม่ซับซ้อนและไม่เพ้อเจ้อว่า จริงๆ แล้วสิ่งลึกลับอาจมีจริงหรือไม่มีจริงก็ได้ แต่ได้คนที่คิดว่าได้เลขเด็ด “คิดไปเอง” ว่ามีใครมาให้เลขเด็ด หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า “(คนเหล่านี้) ที่เห็นที่รู้สึกน่ะจริง แต่สิ่งที่ได้เห็นได้รู้สึกน่ะไม่มีจริง” หรือไม่ก็โดน “คน” ด้วยกันเองหลอกต้มตุ๋น

ส่วนในอีกประเด็นที่ว่าใครๆ ก็ถูกหวยกันจากแหล่งเลขเด็ดต่าง ถ้าจะลองคิดอีกอีกมุมหนึ่งว่าจริงๆ แล้วไอ้คนที่ถูกหวยจากเลขเด็ดที่ได้จากแหล่งทั้งหลายมันมีไม่เยอะหรอก แต่ว่าที่เราคิดว่ามันเยอะก็เพราะไอ้คนที่มันไม่ถูกไม่ได้แสดงตัวต่างหาก เป็นรูปแบบหนึ่งของ Sample Selection Bias

โดยธรรมชาติของคนเราแล้วเมื่อมีดีอะไรมักจะโชว์ คนที่ถูกหวยจากเลขเด็ดก็มักจะแสดงตัวให้เด่นเป็นธรรมดา ส่วนพวกที่ไม่ถูกก็สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่ออกหน้าออกตา ทำให้เรารู้แต่ว่ามีคนถูก ไม่รู้ว่ามีคนไม่ถูกเพราะพวกนี้ไม่แสดงตัว

คนที่ถูกหวยจากแหล่งเลขเด็ดอาจมีไม่ถึงหนึ่งในร้อยของคนที่ได้เลขเด็ดไปด้วยซ้ำ แต่ว่าคนทั่วไปก็จะรู้แต่เรื่องของคนที่ถูกรางวัล ข่าวประเภทนี้ก็ไปช่วยหล่อเลี้ยงความหวังให้กับคอหวยอีกหลายแสน (หรือล้าน?) ทั่วประเทศ

การถูกหวยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นเรื่องความความบังเอิญ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ตราบใดที่ความน่าจะเป็นไม่เป็นศูนย์ เช่น ซื้อรถใหม่เอาทะเบียนไปแทง เอาวันเกิด เอาอายุไปแทง ถ้ามันจะถูกรางวัลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือถ้ามันไม่ถูกก็ไม่แปลกเช่นกัน

การลงทุนในหวยไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรทำอย่างมีเหตุผล เนื่องด้วยความเสี่ยงสูง ก็ควรลงทุนในสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด จึงจะเป็นการจัด Portfolio การลงทุนที่เหมาะสม ไม่ควรที่จะทุ่มเทเงินทอง จิตใจ และอนาคตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันมีความเสี่ยงสูงมากๆ


ป.ล. มีข่าวที่ผ่านมานานแล้วข่าวหนึ่งหลังจากมรณกรรมของหลวงพ่อปัญญา ก็มีการออกข่าวว่าเลขเด็ดที่เป็นอายุของท่านขายดีทั่วประเทศ ข่าวนี้ทำให้ผมรู้สึกไม่พอใจอย่างมากเพราะว่าหลวงพ่อปัญญาท่านต่อต้านการเล่นหวย แทนที่ข่าวจะออกในเชิงส่งเสริมปัญญาจากคำสอนของท่าน กลับเพิ่มความงมงายให้คน แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของสื่อสารมวลชนในการสร้างปัญญาให้กับประชาชน และความมืดบอดงมงายไร้สาระของประชาชนบางส่วน

Friday, October 23, 2009

ค่า (คร่า) ชีวิต

ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจในประเทศไทย ซึ่งหลายๆ คนมีความเชื่อว่ากินเจแล้วจะได้บุญ สำหรับผมก็เฉยๆ สำหรับเรื่องนี้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อะไรอร่อยก็กินได้หมด ช่วงกินเจก็ดีอย่างนึงคือได้กินผักมากขึ้น ส่วนเรื่องหนึ่งที่หงุดหงิดใจในช่วงเทศกาลกินเจเวลาที่อยู่ที่เมืองไทยก็คือว่า อาหารเจแพง (มาก) ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องกลไกตลาดมีคนโหมกินกันมากๆ ราคาก็สูงขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนอีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การขายของที่เกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อของคนนั้นมันได้กำไรงามนักแล (ดิน + มวลสารอะไรซักอย่าง ยังขายได้ราคามากกว่าต้นทุนเป็นพันเป็นหมื่นเท่า)

ได้อ่านประเด็นเรื่องการกินเจตามเวบบอร์ดก็ได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่าง ประเด็นที่อ่านเจอก็เช่น กินเจได้บุญจริงหรือเปล่า ลดการฆ่าสัตว์ได้จริงๆ หรือไม่ ทำไมทานหอยนางรมได้ ในโค๊กมีส่วนผสมจากสัตว์หรือเปล่า (อันนี้น่าสนใจนะเพราะส่วนผสมของโค๊กเป็นความลับระดับโลก อาจมีส่วนผสมที่มาจากสัตว์ก็ได้) ถ้าพืชส่งเสียงร้องได้เราจะกินมันหรือเปล่า อะไรเทือกๆ นี้

อ่านไปก็สนุกดี แต่ที่พอจะสรุปสั้นๆ ได้ ก็คือ หนึ่ง จะทำอะไรก็ทำไปเถิดถ้ามันทำแล้วสบายใจไม่เดือดร้อนใคร (มาตรฐานบุญหรือบาปบางทีมันก็ขึ้นกับความคิดของเราเอง) สอง อย่าผูกขาดความดีไว้กับตัวเอง อย่าเอาความดีไปข่มใคร และอย่าหลงความดี ความดีเก็บไว้เป็นศรีแ่ก่ตัว เหมือนกางเกงในจำเป็นต้องมีไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องโชว์ ไ่ม่ต้องอ้างความดีเพื่อกดให้คนอื่นต่ำลง และสิ่งสุดท้ายก็คือ ความเชื่อใครความเชื่อมัน เชื่อไม่เหมือนกันก็อย่ามาว่ากันและคนอื่นไม่ผิดถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา ไม่งั้นเถียงกันไปร้อยชาติก็ไม่จบ

ส่วนเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจก็คือ เรื่องคุณค่าของชีวิต สิ่งมีชิวิตแต่ละชนิดมีคุณค่าเท่ากันหรือไม่ ทำไมบางทีคนเราทำประหนึ่งว่า การคร่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดบาปน้อยกว่าการคร่าชีวิตของอีกชีวิต (คำว่าบาปความจริงก็ต้องนิยามนะว่ามันเป็นยังไง)

ยกตัวอย่างเช่น เคยคุยกับแฟนว่าอยากกินเนื้อเปื่อย แฟนก็บอกว่าใจร้าย กินสัตว์ใหญ่ ก็เลยโต้ตอบกันไปมา ผมก็บอกว่าตัวใหญ่ก็ดีนะ ชีวิตเดียวกินได้ตั้งหลายคน ลองกินกุ้งปลากว่าจะอิ่มก็หมดไปหลายตัว น้ำปลาขวดนึงเนี่ยใช้ปลาเป็นร้อยๆ ตัวได้มั้ง จำได้ว่าบทสนทนาเรื่องนี้จบลงด้วยการเปลี่ยนเรื่องพูด ไม่งั้นคงจะเถียงกันไปยาว

บางคนก็บอกว่ากินสัตว์ใหญ่บาปมาก เพราะมันรู้เรื่องและมีความคิด ถ้าใช้ตรรกะแบบกำปั้นทุบดินก็แปลว่า กินสัตว์รู้มาก มีความคิดมาก บาปมาก ซึ่งถ้าอย่างนั้นผมเผลอไปกินกุ้งแสนรู้ ปูแสนฉลาด ปลาผู้อารีย์ ผมก็คงบาปมากกว่ากินกุ้ง ปู ปลาทั่วไป (แต่่ก็ว่าเถอะตอนผมดูหนังเรื่อง Babe จบใหม่ๆ นี่กินหมูไม่ลงไปเป็นวันๆ หรือเวลาที่เห็นวัวถูกบรรทุกพาไปโรงฆ่ามันก็ทำให้จิตตกไปพักหนึ่งเหมือนกัน)การวัดระดับของบาปของคนเรามันคงอยู่ที่ว่าการคร่าชีวิตสิ่งไหนมันทำให้จิตใจเศร้าสร้อยไ้ด้มากกว่ากัน

ถ้าเอาเรื่องบุญบาปกับการกินสัตว์ใหญ่มาโน้มน้าวผมคงไม่ได้ผลเท่าไหร่ ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพอาจได้ผลมากกว่า อย่างเช่น (เขา)ว่ากินสัตว์ใหญ่เยอะๆ ไม่ดี จะทำให้ร่างกายมีสารพิษสะสมเยอะ อันนี้ก็อาจเป็นไปได้เพราะว่าสัตว์ใหญ่มีอายุยาวกว่า การสะสมสารพิษจากสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีมากกว่าสัตว์เล็กๆ

จริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีค่าเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหมีแพนด้า หนูนา หรือแมลงสาป ทุกตัวมีสิทธิ์อยู่บนโลกนี้เท่าๆ กัน อย่างไรก็ตามระดับบาปหรือความไม่สบายใจของคนเราคงต่างกัน อย่างเช่น เผลอไปเหยียบแมลงสาปตายกับเผลอไปขับรถชนสุนัข อย่างหลังคงทำให้ไม่สบายใจไปหลายเดือน

นานมาแล้วเคยอ่านการ์ตูนสั้นๆ เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพระญี่ปุ่นที่ไปเจอผีเสื้อติดอยู่ที่ใยแมงมุม พระรูปนี้สงสารก็เลยช่วยผีเสื้อให้บินหนีไปได้ ขณะนั้นเองในมโนจิตของพระรูปนั้นก็ได้ยินเสียงจากแมงมุมพูดขึ้นว่า ทำไมท่านไปช่วยผีเสื้อตัวนั้นล่ะ นั่นคืออาหารของข้า และข้าจะเอาอะไรกิน ก็มีการพูดจาโต้ตอบไปมาระหว่างพระกับแมงมุม

ขณะนั้นเองก็มีนกตัวหนึ่งบินมา และก็จับแมงมุมไปกิน พระก็ตะลึงแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร แมงมุมก็ถูกนกกินไป หลังจากนั้นพระก็เกิดมโนภาพเห็นแมงมุมตัวยักษ์กล่าวกับพระอย่างโกรธแค้นว่า เพราะรูปลักษณ์ของแมงมุมน่าเกลียดใช่ไหม ทำให้พระไม่สนใจที่จะช่วยเหลือ ดังนั้นข้าก็จะล้างแค้นโดยการกินพระรูปนั้นเป็นอาหาร ขณะที่แมงมุมใช้ใยจับพระอยู่นั้น พระก็อยู่ในความกลัวสุดขีดออกจากภวังค์ เห็นผีเสื้ออยู่ติดอยู่ที่ใยแมงมุม กลับไปยังจุดเริ่มต้น แต่ว่าคราวนี้พระรูปนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ปล่อยให้ผีเสื้อถูกกินไป

ซึ่งเรื่องนี้ก็พอจะบอกถึงจิตสำนึกลึกๆ ของมนุษย์บางส่วนที่ประเมินชีวิตอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก เลือกที่จะชอบสิ่งทีน่ารักและเกลียดสิ่งที่ดูน่าเกลียด ซึ่งมันก็ปกติ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราควรจะทำคือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายสิ่งที่เราเกลียด เลือกรักษาไว้แต่สิ่งมีชีวิตที่เราชอบ หรือให้ประโยชน์กับเราได้ เพราะในธรรมชาติแล้วทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มีวงจรชีวิตอย่างเดียวกัน เกิด แก่ เจ็บ และตาย

ก็มีแง่คิดจากการ์ตูนอีกเรื่อง คือ Mushishi เป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่คล้ายๆ แมลง ดำรงชีวิตด้วยการเป็นปรสิตในร่างกายมนุษย์ และก่อให้เกิดอาการแปลกๆ ต่างๆ นานา ซึ่งตัวเอกของเรื่องเป็นคนที่สามารถกำจัดปรสิตเหล่านี้ได้ มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากที่ตัวเอกของเรื่องพูดว่า “การที่ปรสิตเบียดเบียนชีวิตเรา ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันทำไปก็เพราะความอยู่รอด ส่วนเรื่องที่เราจะกำจัดมันจากร่างกายเราก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราก็ทำเพื่อความอยู่รอดของเราเช่นกัน”

ก็คงพอสรุปได้ว่า ถ้าต้องคร่าชีวิตเพื่อเป็นอาหารก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และควรกินด้วยความเคารพคุณค่าของเพื่อร่วมโลกในห่วงโซ่อาหาร ไม่กินทิ้งขว้าง วิธีการคร่าชีวิตก็ควรทำโดยไม่ให้ทรมานมาก และไม่ควรเลยที่จะคร่าชีวิตอื่นเพื่อความสนุก

Tuesday, October 13, 2009

ก้นกล่องจดหมาย

ผมจำได้ว่าตอนยังเรียนประถมจะมีวิชาที่ต้องหัดเขียนจดหมาย เช่น จดหมายถึงเพื่อน จดหมายถึงอาจารย์ จดหมายลากิจ ลาป่วย ฯลฯ และในวิชาเรียนก็ได้เขียนจดหมายส่งจริงๆ ส่งทางไปรษณีย์ถึงเพื่อนในห้อง ความรู้สึกในการรอคอยจดหมายที่จะได้รับจากบุรุษไปรษณีย์มันก็น่าสนุกและตื่นเต้นดี แม้ว่ามันจะเป็นจดหมายที่ส่งมาจากเพื่อนที่นั่งอยู่โต๊ะติดกันก็ตาม

จนมาถึงตอนที่ได้เขียนจดหมายจริงๆ จังๆ ก็คือตอนไปเรียนโทที่อังกฤษเมื่อเก้าปีก่อน ซึ่งสมัยนั้นค่าโทรศัพทางไกลต่างประเทศมันก็ยังแพงอยู่พอสมควร พวกโปรแกรมสำหรับแชทก็มีแค่พวก ICQ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ จดหมายจึงเป็นช่องทางการสื่อสารทางนึงที่ผมชอบใช้ อย่างแรกคือมันจับต้องได้ และสองมันใช้เวลา ซึ่งทำให้เราต้องลุ้นว่าจดหมายไปถึงหรือยัง ถึงเมื่อไหร่ และก็มีลุ้นอีกว่าเมื่อไหร่จะได้รับจดหมายตอบกลับมา

แต่ว่าก้นกล่องจดหมายที่ผมจะพูดถึงมันคือกล่องจดหมายอีเลคทรอนิคส์หรืออีเมล์ นั่นเอง อีเมล์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผมในช่วงหลายปีมานี้ เช้าขึ้นมาอาจลืมแปรงฟันได้ แต่ลืมเช็คอีเมล์ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องมีภารกิจอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมจากอีเมล์ที่ส่งมา ซึ่งทำจนเป็นกิจวัตร

พอดีเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาเปิด hotmail เพื่อหาเมล์บางฉบับแล้วบังเอิญเลื่อนแถบ scroll มาจนถึงเมล์ที่เก่าสุดในกล่องจดหมาย (จริงๆ เมล์นี้ใช้มาเป็นสิบปีแล้วแต่ว่าเมื่อหลายปีก่อน hotmail เป็นอะไรไม่รู้ลบเมล์เก่าๆ ออกหมดเลย น่าเสียดายเหมือนกัน) เมล์ที่เก่าที่สุดตอนนี้ก็คือเมล์จากเพื่อนที่ส่งมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2002 หัวข้อ How to love wisely

ลองเลื่อนไปอ่านเมล์ที่เก่ารองลงมาก็ได้ระลึกถึงเรื่องอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยมานาน เรื่องราวชีวิตตัวเอง และคนรอบข้างที่บางทีก็หลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง เช่น เรื่องของเพื่อนที่ตอนนั้นพึ่งจะไปเรียนเอกที่อเมริกา ตอนนี้มันก็จบไปปีกว่าแล้ว และก็เรื่องของผมที่กำลังจะไปเรียนเอกเมื่อสี่ปี (กว่าๆ) ที่แล้ว

มีเมล์ที่ตลกๆ อ่านแล้วขำก็ เช่น ตอนที่จะมาอเมริกาเมื่อตอน 2005 ต้องต่อเครื่องที่แอลเอ ก็เลยเมล์ไปหาเพื่อนที่อยู่ซานดิเอโกว่ามาเจอกันที่สนามบินสิไม่ได้เจอกันนาน มันก็ตอบกลับมาว่า “กูต้องขับรถไปสองชั่วโมงนะ (โว้ย) ถ้ามึงจะมาทรานสิทจะให้กูไปหาทำ (เหี้ย) อะไร ถ้าจะเจอกันก็มาเที่ยวสิ (ท้ายสุดก็ยังไม่ได้ไปหามัน จนตอนนี้มันก็กลับเมืองไทยไปแล้ว)” อ่านแล้วก็ขำดี
มีอีกเมล์ที่ส่งไปบ่นกับเพื่อนตอนมาถึงพิตสเบอร์กใหม่ๆ ว่า รู้สึกลำบากมากในการปรับตัว ต้องเช่าห้องอยู่นอกแคมปัส ทั้งห้องมีแค่ตู้เย็นตัวเดียว ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าจะเป็นเหมือนที่อังกฤษที่ทั้งห้องมีเฟอร์นิเจอร์ครบทุกอย่างแล้ว ก็เลยเครียดไปเหมือนกันช่วงนั้น ในการหาซื้อของมาเติมห้องให้เต็ม

แม้ว่าอีเมลล์จะจับต้องไม่ได้เหมือนจดหมาย แต่ว่าเมื่อผ่านไปนานๆ ลองย้อนกลับมาดูมันก็เติมเต็มความทรงจำที่ขาดหายไปตามกาลเวลาได้พอสมควร ก็รู้สึกมีความสุขดี ถ้ามีเวลาหากคุณลองเช็คเมล์เก่าๆ ก้นกล่องจดหมายดูบ้างก็น่าจะทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามตื่นเช้ามาพรุ่งนี้ผมก็คงไม่ได้มานั่งอ่านเมล์พวกนี้ ก็คงต้องเช็คเมล์ที่เข้ามาใหม่แล้วก็ทำภารกิจประจำวันต่อไป
ขอลงท้ายด้วยประโยคที่ผมเขียนลงท้ายในอีเมล์เก่าๆ ถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า
Life is not easy but it is not too hard…

Monday, August 24, 2009

กรรมและแรงจูงใจ (Karma and Incentive)

สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์และธรรมะเป็นสองเรื่องที่มีความเหมือนกันอยู่ คือ ผมต้องการศึกษาทั้งสองอย่างให้ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่มีโอกาส ความพยายาม และความอดทนมากเพียงพอ และเหตุผลที่เป็นข้ออ้างก็คล้ายๆ กันก็คือ รู้มากไปก็ไม่ได้มีโอกาสเอาไปใช้มากเท่าไหร่

สำหรับผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์และต้องการพัฒนาทฤษฏีใหม่ๆ คณิตศาสตร์ชั้นสูงมีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยลักษณะงานของผมในอนาคตที่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษา ทำให้ผมเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์ในด้านของการนำทฤษฎีที่มีอยู่ไปใช้มากกว่าการพัฒนาทฤษฎี คณิตศาสตร์ขั้นสูงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสเน่ห์และน่าค้นหาแต่ว่ามันก็เหมือนเป็นส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไรต่อการศึกษาของผม

เรื่องธรรมะก็เช่นกัน ที่ผ่านผมก็พยายามที่จะศึกษาให้มันมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการสร้างสมาธิ ใช้ชีวิตให้มีสติ (ซึ่งบางครั้งผมก็คิดว่ามันก็น่าจะพอสำหรับชีวิตคนเดินดินโดยปกติทั่วๆ ไป)
ผมคิดว่าศึกษาธรรมะนี้ยากกว่าที่คิด ด้วยความสัตย์จริงถ้าจะให้ผมว่าชาร์ตแสดงโครงสร้างของเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ผมยังพอทำให้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจะให้วาดชาร์ตแสดงโครงสร้าง/ความเชื่อมโยงของหลักธรรมะต่างๆ ผมคิดว่าผมทำไม่ได้ ด้วยความรู้ ณ ปัจจุบัน

อารัมภบทมาจนยืดยาวซึ่งมันก็เกี่ยวกับแนวคิดที่ผมจะพูดหลักๆ ในบทความนี้ คือ เรื่องของกรรม และประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง แรงจูงใจ (Incentive)

ไอ้เจ้าแรงจูงใจนี่มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐาสตร์ทุกๆ อย่าง (คล้ายๆกับสัญชาติญาณ) เช่น เมื่อเราหิวก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการหาอะไรมากิน (ล่าสัตว์ เพาะปลูก หรือทำงานหาเงินมาซื้ออาหาร)

หลายคนก็คงเคยได้ยินคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผมเชื่อว่ามันจริง แต่ว่ามีประเด็นที่ติดใจคือ มีคำสอนที่ว่าทำไม่ดีในชาตินี้ ชาติหน้าจะต้องใช้กรรม ฟังดูแล้วก็น่ากลัวที่ว่าถ้าทำไม่ดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีจะตาม “เรา” ไปถึงชาติหน้า

ถ้านับว่าชาตินี้คือปัจจุบัน และชาติหน้าคืออนาคต ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีหลายช่วงเวลา ตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ต้องมีก็คือ Discount rate หรือ Rate of time preference หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยสภาพปกติแล้วเจ้าอัตราตัวนี้จะมากกว่าศูนย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าในอนาคต

ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือ Utility Function หรือความพึงพอใจ/อรรถประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งแรงจูงใจ ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปชอบมีเงิน ยิ่งเงินมากอรรถประโยชน์ตัวนี้ก็จะยิ่งสูง สร้างแรงจูงใจให้หาเงินมาได้มากที่สุด

ถ้าผมสมมุติว่าการเวียนว่ายตายเกิดมีจริงและกรรมชั่วที่ผมทำในช่วงเวลาปัจจุบันทำให้อรรถประโยชน์ในปัจจุบันสูงขึ้น แต่จะส่งผลลบต่อผมในชาติหน้า เช่นโกงเงินประชาชน ชาตินี้รวยล้นฟ้า ชาติหน้าเป็นยาจก

ถามว่า คนนี้ชาตินี้ กับคนนี้ในชาติหน้า เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ตัวของวิญญาณ (ตามความเชื่อ) อาจเป็นคนๆ เดียวกัน แต่ว่าความรู้สึกมันคือคนละคนแน่นอน หากลองถามตัวเราในวันนี้ ว่าชาติที่แล้วเป็นใคร ประมาณร้อยละร้อยก็คงไม่รู้ เหลือเศษอีกนิดหน่อยที่คิดไปเอง

ถ้าผมเชื่อว่ากรรมชั่วที่ผมทำในชาตินี้ส่งผลต่อผมในชาติหน้า สิ่งที่จะสร้างความพอใจให้กับผมมากที่สุดก็คือ ทำชั่วให้มากที่สุด แสวงหาความสุขให้มากที่สุดในชาตินี้ เพราะผมก็คงไม่ต้องมารับผิดชอบของเจ้าตัวผมที่จะเกิดในชาติหน้า (เหมือนกับการ Maximize Utility แค่เพียงช่วงเวลาเดียว ให้ผลใกล้เคียงกับการตั้งข้อสมมุติว่า Discount rate สูงมากๆ จนผลที่จะเกิดในชาติหน้า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในภพชาติปัจจุบัน)

ถ้าสมมุติว่าผลของกรรม “อาจ” ส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า การตัดสินใจก็จะอยู่ในรูปของค่าเฉลี่ยจากความน่าจะเป็นที่กรรมจะส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า ผลก็คืออยู่ตรงกลางๆ คือ ทำชั่วน้อยกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาติหน้า แต่มากกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาตินี้

ถ้ายึดตามแบบจำลองแปลกๆ ที่ผมยกมา การสอนธรรมะ (ซึ่งผมคงไม่อาจหาญไปแนะนำครูบาอาจารย์/พระสงฆ์) เรื่อง กรรม ควรเน้นไปที่การให้สังเกตสภาพจิตใจที่รุ่มร้อน มากกว่าการสร้างรูปลักษณ์ของกรรมให้เป็นเหมือนก้อนพลังงาน/วิญญาณอาฆาตที่คอยจ้องทำร้ายผู้กระทำกรรมไม่ดี และที่สำคัญควรเน้นว่าผลของกรรมทุกอย่างจะส่งผลในชีวิตในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คงจะมีประเด็นคล้ายกับเรื่องกรรมที่กล่าวมาข้างต้น คือ ถ้าหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรต่อผมในปัจจุบัน ถึงไม่สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าสิ้นชีวิตไปมันก็เหมือนจบ เกิดใหม่ก็เป็นคนใหม่อยู่ดี (ไม่รับรู้ถึงเรื่องที่ผ่านมาในชาติภพก่อน)

ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธ การหยุดเวียนว่ายตายเกิดถือเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ว่าคนเรียนธรรมน้อยๆ อย่างผม ขอแค่มีชีวิตสงบๆ มีสุขพอประมาณ เวลามีทุกข์ก็เข้าใจมันและผ่านมันและแก้ปัญหาไปได้อย่างมีสติก็พอ

ขอยอมรับว่าบทความนี้เป็นบทความที่เพี้ยนๆ ซักนิดนึง ซึ่งถ้าผู้ใดที่มีความรู้ทางด้านธรรมะ โปรดให้คำชี้แนะในประเด็นที่ไม่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างสูง

ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเยอะเหลือเกิน คงต้องหาโอกาสศึกษาอย่างจริงจังเสียที เพราะมันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้เฉพาะตน ต้องปฏิบัติเองไม่มีใครมาบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร (เขียนไปเขียนมารู้สึกว่าตัวเองเป็นบัวใต้ตมอย่างไรก็ไม่รู้ 555)

Saturday, August 15, 2009

CO2 ราคาแพง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการรถยนต์ในสหรัฐฯมีความคึกคักเป็นพิเศษจากโครงการของรัฐบาล คือ Cash for Clunker (CfC) ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเก่าซึ่งรถมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงมาแลกเป็นรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

พอผมได้ยินโครงการนี้ก็รู้สึกได้ว่าคงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อช่วยด้านการประหยัดพลังงานเท่าไรนัก แต่คงเพื่อช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ซบเซามาตั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาเสียมากกว่า

พอดีได้อ่าน Working Paper ของ Christopher Knittel จาก University of California, Davis โดยในงานเขียนนี้มีการประมาณค่ากว้างๆ ของต้นทุนในการลดการปลดปล่อย CO2 จากโครงการ CfC ซึ่งในตอนต้นผู้เขียนก็ได้กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการดังกล่าว คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้เขียนได้ประมาณการต้นทุนของการลด CO2 แบบคร่าวๆ จากค่าเฉลี่ยของอัตราการกินน้ำมันของรถเก่าและรถใหม่ และระยะทางที่รถทั้งสองกลุ่มจะถูกใช้งาน ส่วนตัวแปรที่จะใช้กำหนดขอบเขตของต้นทุนก็คือ ระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลาย (ถ้าไม่มีโครงการนี้)

โดยหากว่าระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลายยาว หมายความว่าโครงการนี้ลดปริมาณ CO2 ไปได้มาก ต้นทุนการลด CO2 ก็จะถูกลง แต่หากว่ารถจะถูกนำไปทำลายในอีกไม่กี่ปี ต้นทุนการลด CO2 ก็จะสูง เพราะว่าถึงไม่มีโครงการนี้อีกไม่นานรถคันนี้ก็ไม่อยู่ในท้องถนนในอีกไม่กี่ปีอยู่ดี (การลดใช้น้ำมันก็ทำได้ไม่มาก)

ต้นทุนต่ำสุดที่คำนวณได้ก็คือ 237 $/ตันของ CO2 โดยตัวเลขนี้ได้รวมผลประโยชน์ที่ได้รับจากมลพิษที่ลดลง (รถใหม่ปล่อยของเสียลดลง เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์) เทียบกับค่าเฉลี่ยของ CO2 ที่ซื้อขายในตลาดยุโรปในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ราวๆ 25 ปอนด์ต่อตัน ซึ่งถ้าแปลงเป็นดอลลาร์ก็ประมาณ 35 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นทางเศรษฐศาสตร์ เช่น เรื่องของ Rebound effect* ซึ่งก็คล้ายๆ กับ Price Effect ที่ใช้โดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ (Rebound effect หรือ take-back effect เป็นคำที่มักใช้กับด้านการใช้พลังงาน) ซึ่งประเด็นก็คือ เมื่อคนมีรถใหม่ใช้ซึ่งประหยัดน้ำมันมากขึ้นเท่ากับว่าต้นทุนในการเดินทางรถลง ก็จะทำให้คนเดินทางมากขึ้น และประเด็นของ Adverse Selection ซึ่งก็คือว่าคนนำรถที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้มาเปลี่ยน (ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของการลดใช้น้ำมัน)

สำหรับผมคิดว่านโยบายนี้ดีแน่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์เพราะสามารถระบายสต๊อกไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่อ่านเจอพบว่าขายรถใหม่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ถึงเกือบ 3 แสนคันในไม่กี่สัปดาห์ แต่ว่าประเด็นอื่นด้านทรัพยากรนอกเหนือจากการใช้น้ำมัน ผมไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือเปล่า ซึ่งน่าจะมีการศึกษาโดยใช้ Life Cycle Analysis ว่าความสูญเสียจากรถเก่าบางคันที่ยังไม่ได้ใช้จนคุ้มค่าแต่ว่าถูกนำไปทำลาย (ซึ่งคำว่า “ใช้จนคุ้มค่า” ในมุมมองของบุคคลและสังคมโดยรวมอาจไม่เหมือนกัน) เพราะว่าการผลิตรถคันใหม่ย่อมใช้ทรัพยากรหลายอย่างรวมไปถึงพลังงานด้วยเช่นกัน

* Rebound effect หรือ take-back effect หมายความว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ต้นทุนหรือปริมาณการใช้ต่อหน่วยลดลง ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนการใช้ต่ำลงทำให้ใช้มากขึ้น เช่น รถใหม่ๆ ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ก็สร้างแรงจูงใจให้คนขับก็ขับมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้ก็มีมาหลายร้อยปีแล้ว จาก Jevons Paradox จากหนังสือ The Coal Question ในปี ค.ศ. 1865 โดย William Stanley Jevons ซึ่งกล่าวถึงประเด็นเครื่องจักรไอน้ำของ James Watt ที่มีประสิทธิภาพการใช้ถ่านหินสูงขึ้น ซึ่งแทนที่จะทำให้การใช้ถ่านหินลดลงกลับเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนต่ำลง

อ้างอิง Christopher R. Knittel, "The Implied Cost of Carbon Dioxide under the Cash for Clunkers Program" (August 2009) http://www.ucei.berkeley.edu/PDF/csemwp189.pdf

Wednesday, July 15, 2009

สั่งสอนด้วยความกลัว

ในช่วงสองสามปีมานี้บทสนทนาส่วนใหญ่ของผมเวลาโทรศัพท์คุยกับแม่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับหลานสาว ชื่อ ใจใส ซึ่งใจใสเป็นหลานคนแรกของครอบครัว ทุกคนก็เป็นมือใหม่กันหมด พ่อกับแม่ของผมก็เป็นปู่กับย่ามือใหม่ พี่ชายกับพี่สะใภ้ก็เป็นพ่อแม่มือใหม่ ผมกับพี่สาวก็เป็นอามือใหม่ ตอนนี้ใจใสอายุเกือบสามขวบแล้ว และก็เริ่มไปโรงเรียนแล้ว ก็นับว่าเร็วเหมือนกันเพราะก็ยังไม่สามขวบเต็มดี

ยิ่งหลานโตขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเรื่องให้คุยมากขึ้นเท่านั้น เพราะรู้เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่ผมกลับเมืองไทยไปเยี่ยมบ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้อยู่กับหลานหลายวัน ทำให้รู้สึกได้ว่าเด็กเดี๋ยวนี้รู้มากขึ้นจริงๆ ไม่เฉพาะหลานของผม แต่เด็กคนอื่นๆ ที่ได้เจอก็เป็นลักษณะเดียวกัน

มีคราวหนึ่งแม่ก็บอกว่าตอนนี้ใจใสเริ่มดื้อแล้ว ต้องเริ่มตีแล้ว เพราะคนอื่นๆ ที่เลี้ยงไม่มีใครตี มีคุณย่าที่ดุที่สุดแล้ว แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่แม่เล่าว่าใจใสบอกว่า “คุณย่าตีมาเลย ตีให้เจ็บๆ นะ” คาดว่าใจใสคงรู้ว่าไม่มีใครอยากตีใจใส ก็เลยท้าให้ตี ผมคิดว่าทางพี่ชายก็คงไม่สนับสนุนเรื่องการตีเท่าไหร่ แต่ทว่าการสั่งสอนด้วยการใช้เหตุผลสำหรับเด็กอายุน้อยขนาดนี้ก็คงต้องใช้ความพยายามสูงอยู่เหมือนกัน

ผมก็เลยลองคิดย้อนกลับไปในวัยเด็กๆ คิดว่าผมเป็นลูกที่ถูกตีบ่อยที่สุด เพราะซนมากๆ เป็นลูกคนเล็กที่ทำของในบ้านเสียได้แทบจะทุกวัน ถ้ามีอะไรแตกหักชำรุดส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือผมนี่แหละ คือโดนตีแต่ก็ยังดื้อได้ทุกวัน เป็นพวกดื้อเงียบ ไม่โต้ไม่เถียง แต่ไม่ทำตาม และเป็นคนที่ไม่ค่อยขยันถ้าไม่ใช่เรื่องที่ชอบทำหรืออยากทำจริงๆ ก็ต้องให้แม่จ้ำจี้จำไชอยู่ตลอดเวลา (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นนะ แต่ก็พยายามหาแรงบันดาลใจปลอมๆ มาหลอกจิตใต้สำนึกในเรื่องที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่อยากทำ) แต่ว่าพอโตขึ้นและฟังเหตุผลรู้เรื่องก็ไม่โดนตีแล้ว

คิดย้อนไปตอนนั้นถ้าตอนเด็กๆ ไม่โดนตีนี่คงจะเหลวไหลมากๆ อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า การลงโทษด้วยการตี มันดีหรือไม่ดี จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถคิดในเชิงของเหตุผลได้อย่างชัดเจน และถ้าตอนเด็กๆ พ่อแม่สอนด้วยเหตุผล ผมจะฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่าๆ (จริงๆ ตอนถูกตีก็รู้เหตุผลที่โดนตี ว่าสิ่งที่ทำมันไม่ดีอย่างไร แต่การควบคุมตัวเองในตอนเด็กๆ ทำได้ลำบากมาก)

จากเรื่องระดับครอบครัวมาสู่ระดับสังคม สิ่งที่ผมพอจะเทียบเคียงได้กับการสั่งสอนด้วยการตี ก็คือการสังสอนให้กลัว “บาป” จำได้ว่าตอนเด็กๆ ทำอะไรหลายอย่างก็ถือว่าเป็นบาปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบหนังสือ พูดคำหยาบ ไม่ล้างเท้า เจอพระแล้วไม่ไหว้ ไม่ตั้งใจเรียน เหยียบมด หรือบางทีทิ้งขยะก็บาป เพราะตอนเด็กไม่ค่อยมีใครที่จะพยายามอธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่ทำผิดมีผลกระทบต่อเนื่องไปอย่างไร

“บาป” กลายเป็นเหมือนบทลงโทษที่สามารถนำไปใช้ได้เกือบทุกกรณีที่ทำผิด ความไม่สบายใจจากการที่ทำผิดก็มีเพียงความเกรงกลัวบาป กลัวตกนรก แต่อาจไม่ได้มีจิตใจคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่แท้จริงจากการทำผิด เพราะจริงๆ แล้วผมคิดว่าเวลาเราทำสิ่งใดที่ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่ดี ผลกระทบที่ลงโทษเราก็คือการขาดสันติในจิตใจ มิใช่บาปหรือนรก อย่างไรก็ตามการใช้บาปเป็นเครื่องมือในการลงโทษนั้นทำได้ง่ายและสะดวก เรียกว่าเข้าถึงใจคนง่ายกว่าเหตุผลที่ซับซ้อนอื่น

อย่างไรก็ตามพอมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่คนบางคนพอจะรู้ได้ว่า ผลจากบาปมันไม่ส่งผลเสียที ก็ทำให้ความกลัวที่ว่าทำ “ผิด” แล้ว “บาป” และบทลงโทษทางใจจาก “บาป” จึงไม่ส่งผลต่อคนๆ นั้นอีกต่อไป และเมื่อในอดีตบทลงโทษทางจิตใจที่ผ่านมามีเพียงอย่างเดียว คือ ความกลัวบาป ก็ทำให้การทำผิดไม่มีผลต่อจิตใจของคนๆ นั้นอีกต่อไป

เคยอ่านการ์ตูนเรื่อง “ครอบครัวตัว ฮ.” มีตอนหนึ่งกล่าวถึงโคเทซึซึ่งเป็นตัวนำในเรื่อง (ไม่ใช่เคอิโงะที่ตามหาพ่อนะ ได้ข่าวว่าจะออกเทปด้วย -*- ) โดยแม่ของโคเทซึพยายามที่จะหาทางสอนคณิตศาสตร์ให้กับลูก ที่ไม่สนใจเรียนและไม่เข้าใจการบวกลบคูณหาร ก็เลยสอนโดยใช้เปลือกส้มมาฉีกเป็นชิ้นๆ เพื่อสาธิตการบวกลบเลข ซึ่งโคเทซึก็ชอบเพราะมันเข้าใจง่าย อีกวันหนึ่งจะมีการสอบคณิตศาสตร์ โคเทซึก็เลยแบกส้มไปลังหนึ่งเพื่อใช้ประกอบการสอบ ข้อแรกๆ ก็ยังพอทำได้เพราะเลขมันไม่เยอะ ก็พอนับเปลือกส้มได้ แต่พอข้อหลังๆ ประมาณว่า สองพันกว่าบวกหนึ่งพันกว่า คราวนี้ส้มไม่พอ ก็เลยต้องเอายางลบ กระเป๋านักเรียน มาหั่นเป็นชิ้นเพื่อจะนับให้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมอ่านแล้วก็ฮามาก

ตัวอย่างนี้ก็คงเหมือนกับการสั่งสอนด้วยความกลัว มันใช้แก้ปัญหาในบางประเด็นได้ แต่ก็คงไปได้ไม่ไกล เมื่อความซับซ้อนของปัญหามันเพิ่มมากขึ้น และหากบุคคลหรือสังคมได้รับการฝึกฝนในด้านความรับผิดชอบและการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อนที่จะทำอะไรลงไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะพัฒนาได้สูงขึ้นได้มากว่าผลของความกลัวเพียงอย่างเดียว

Wednesday, May 13, 2009

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอน ทำไมพวกนี้ไม่สูญพันธุ์

หัวข้อเรื่องนี้เหมือนชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาที่เคยอ่านสมัยมัธยม ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและทำให้รู้ถึงวิถึีชีวิตของคนไทยสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อน แต่ว่าบทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือที่กล่าวมาข้างต้นเลย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเวบไซด์ “หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีหนังสือเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่หลายเล่ม สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ pdf ไฟล์

ลองดาวน์โหลดมาอ่านดูแบบเร็วๆ สองสามเล่มก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี และคิดว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราน่าจะรักษาไว้ ถ้ารัฐบาลใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งทางด้านนี้ก็น่าจะดี โดยจ้างคนมาแสกนหนังสือเก่าๆ ตามหอสมุดแห่งชาติเพื่อเก็บในรูปไฟล์ภาพ หรือ pdf เพื่อรักษาเนื้อหาในหนังสือไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา จากสภาพทางกายภาพของหนังสือที่จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

หนังสือเล่มแรกที่ผมลองดาวน์โหลดมาอ่านดูก็คือ “วัฒนธรรมแห่งชาติและระเบียบการแต่งกาย” โดย คณะกรมการจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งพิมพ์แจกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นช่วงรัฐนิยม สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในบทนำของหนังสือเล่มนี้ มีบทหนึ่งที่ขอความร่วมมือให้คนไทย ละเว้นการกระทำต่างๆ ดังนี้

1.ไม่ช่วยเหลือหรือให้เกียรติยศแก่สตรีเพศ หรือคนป่วย คนชรา ตามสมควร
2.สูบบุหรี่ในที่ซึ่งรู้แล้วว่าอาจจะเกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น
3.แย่งกันซื้อบัตรเข้าดูมหรสพ โดยไ่ม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง
4.เขียนชื่อตนลงในสภานที่สำคัญของชาติ เช่น โบราณสถาน เพื่อหวังเพียงให้ชื่อของตนปรากฎในที่นั้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะึพึงมีแก่สิ่งสำคัญของชาติ
5.ทำลายสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ลอบลักถอดหลอดไฟฟ้าที่ใช้จุดให้แสงสว่างแก่ประชาชน
6.เห็นแก่ความสนุกในการทำลายสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น ทำอันตรายแก่ป้ายบอกชื่อถนน
7.เห็นแก่ความสนุกส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เช่น ลอบเจาะยางรถยนตร์
8.เห็นความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นความเพลิดเพลินเบิกบานของตัว เช่น เวลาเิกิดอัคคีภัย มักไปยืนดู หรือเอารถยนตร์ไปจอดดูเล่นอย่างสนุกสนาน จนเป็นที่กีดขวางแก่เจ้าหน้าที่่ที่จะทำการดับเพลิง

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาเมื่อเกือบ “เจ็ดสิบปี” ก่อน แต่จากความรู้สึกของผมแล้ว คนบางคนในปัจจุบันก็ยังมีนิสัยเสียอย่างที่กล่าวมาไว้ขั้นต้น อีกทั้งมีพฤติกรรมแย่ๆ ที่เลวร้ายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีระบบระเบียบซับซ้อนขึ้น

แม้ว่าช่องทางการสื่อสารหรือเผยแพร่ในสมัยก่อนจะไม่กว้างขวางและครอบคลุมดังเช่นปัจจุบัน แต่ว่าการสั่งสอน บอกกล่าวต่อกันมาเป็นหลายสิบปีก็น่าจะทำให้คนพวกนี้สูญพันธุ์ไปบ้าง แต่ว่าในปัจจุบันเราก็ยังเห็นอยู่แม้อาจจะไม่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้เราได้ไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การไร้มารยาทในการขับขี่ การแซงคิว

ผมไม่รู้ว่าคำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ถูกเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ว่าก็อยากให้มันหมดไปในรุ่นของเราในปัจจุบัน (30+ :P ) หวังว่าถ้าครอบครัวและโรงเรียนช่วยกันกวดขันอย่างจริงจัง และผู้ใหญ่ช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ดีแก่สังคม พวกที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ ไร้ความเกรงใจ มักง่าย และเห็นแก่ตัวจะได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยมากๆ และน่าจะสูญพันธุ์ไปเสียที

อ้างอิง: http://library.tu.ac.th/newlib2/newweb/rarebook/rarebook.html

Sunday, April 26, 2009

ความหมายในรูปถ่าย

ผมเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “รูปหนึ่งรูปความหมายเทียบเท่ากับคำเป็นพันๆ คำ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้เกินความเป็นจริงไปเลย และรูปหนึ่งรูปกับคนหนึ่งคน ก็อาจมีความหมายต่างจากพันๆ คำของคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ได้ดูรูปเดียวกัน

.........

สองวันก่อน และวันนี้ (๒๖ เมษายน ๒๕๕๒) ได้มีโอกาสไปถ่ายรูปกับเพื่อน และพี่ๆ ที่จบการศึกษา ซึ่งวันนี้ก็นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในชีวิต หลังจากที่ลำบากตรากตรำกันมานาน วันนี้เป็นวันที่แสดงให้ทั้งผู้จบการศึกษาเองและคนอื่นๆ ได้เห็นถึงผลของความพยายามที่ผลิดอกออกผลให้ชื่นชม

นอกจากนั้นการถ่ายรูปเพื่อแสดงความยินดีกับเพื่อนฝูงหรือคนสำคัญของเรา ยังแสดงถึงความรู้สึกร่วมต่อความสำเร็จ และจุดเริ่มต้นสำคัญอีกจุดหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานจบการศึกษา งานแต่งงาน หรือแม้แต่งานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ

วันนี้ในขณะที่ผมถ่ายรูปกับเพื่อนๆ อยู่ ก็เห็นบัณฑิตชาวต่างชาติ คาดคะเนด้วยสายตาแล้วก็น่าจะอายุประมาณสี่สิบกว่าปี ที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป ก็คือเธอคนนี้จูงสุนัขมาด้วย เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีดำ ซึ่งเธอคนนี้ตาบอด และสุนัขตัวนั้นก็คือสุนัขนำทางของเธอนั่นเอง

เธอก็มาถ่ายรูปเหมือนบัณฑิตคนอื่นๆ ทั่วไป มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาร่วมยินดีด้วย ซึ่งความรู้สึกหลายอย่างก็เกิดขึ้นในจิตใจผมเมื่อได้เห็นเธอคนนี้ อย่างแรกก็คือรู้สึกยินดีกับเธอด้วย ที่แม้ว่าเธอจะมีความพิการทางสายตา แต่ก็สามารถฟันฝ่าจนจบการศึกษามาได้

ความรู้สึกที่ได้เห็นเธอตอนถ่ายรูปนั้น รูปแรกเธอถ่ายคู่กับสุนัขนำทางของเธอ ซึ่งสีหน้าเธอมีความสุข และเจ้าสุนัขตัวนั้นก็นั่งอยู่ข้างๆ เธออย่างเรียบร้อย ในความรู้สึกของผมต่อภาพที่เห็นนั้นเหมือนกับรูปที่เธอถ่ายกับเพื่อนคู่ทุกข์คู่สุข ซึ่งมีส่วนร่วมของความสำเร็จของเธอเช่นกัน ส่วนรูปอื่นๆ เธอก็ถ่ายกับคนที่มาร่วมแสดงความยินดีกับเธอ หน้าตาของทุกคนในรูปถ่ายมีความสุข

ผมคิดว่าเธอคงไม่มีโอกาสที่จะได้มองเห็นรูปถ่ายเหล่านั้น ที่เธอถ่ายกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และเจ้าสุนัขเพื่อนยาก ผมก็มีความรู้สึกสุขระคนเศร้าบ้างที่คนในรูปถ่ายเองไม่มีโอกาสได้เห็นว่าภาพที่ถ่ายออกมาเป็นอย่างไร รูปของเธอในชุดครุยสวยแค่ไหน แต่ว่าผมรู้สึกได้ว่าเธอมีความสุขกับการถ่ายรูป จากรอยยิ้มของเธอที่จะปรากฎในรูปเหล่านั้น...

สิ่งที่เห็นเหล่านั้นทำให้ผมได้คิดว่าความหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในรูปถ่ายนั้นคือ ความระลึกถึง ... ไม่ใช่การระลึกถึงตัวเราเองอย่างเดียว แต่เป็นความระลึกถึงสถานที่ และระลึกถึงคนสำคัญที่มีความรู้สึกร่วมกันในเหตุการณ์ต่าง ไม่ว่าจะใหญ่ หรือเล็ก สุขหรือเศร้า

บางทีความหมายของภาพถ่ายนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าภาพนั้นมีลักษณะอย่างไร สวย คมชัดแค่ไหน แต่ว่าความหมายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ความตั้งใจ และความรู้สึกที่ก่อให้เกิดภาพนั้นขึ้นมา

รูปถ่ายบางรูปถ้ามองด้วยตาแต่ไม่ได้สัมผัสด้วยใจ ไม่มีความระลึกถึง เรื่องราว บุคคล รูปถ่ายนั้นมันก็คงไม่มีความหมาย เหมือนคำว่า “บอดที่ใจมองไปเท่าไรไม่เห็นความงาม” จากเพลง “ต้นชบากับคนตาบอด” ของวงเฉลียงนั่นเอง

ขอแสดงความยินดีกับเพื่อน และพี่ๆ ที่จบการศึกษาครับ

Wednesday, April 8, 2009

จำ

ประมาณสองอาทิตย์ก่อนได้ดูรายการ Nightline ของสถานี ABC ซึ่งได้นำเสนอเรื่องของคนที่มีความจำพิเศษต่อเรื่องราวในอดีต (Super autobiographic memory) ซึ่งมีความสามารถในการจดจำเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำเหมือนถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ เพียงแค่บอกวันที่ เขาก็จะบอกได้ว่าวันนี้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งในประเทศสหรัฐฯ พบบุคคลที่มีความสามารถนี้นับถึงขณะนี้มีจำนวน 4 คน

น่าสนใจว่าคนเหล่านี้ 3 ใน 4 ถนัดซ้าย อีกหนึ่งคนก็มีแนวโน้มที่จะถนัดซ้ายแต่ใช้มือขวาเขียนหนังสือ และคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คนเหล่านี้เป็นคนที่ชอบเก็บสิ่งของ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยคนเหล่านี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องลึกลับที่คนจะมีความสามารถในการจดจำได้ขนาดนี้ ราวกับว่าความทรงจำนั้นมีความจุที่ไม่จำกัดก็ว่าได้

.................................................

จริงๆ แล้วผมว่าเราทุกคนก็มีความทรงจำประเภทนี้ เพียงแต่ว่าเราจะจำเรื่องที่มีความสำคัญต่อเราเท่านั้น แต่บุคคลพิเศษที่กล่าวถึงนั้น เขาจดจำทุกเรื่องราว เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับคนรอบข้าง

สำหรับคนเหล่านี้ผมคิดว่ามันคงเหมือนกับกล้องวีดีโอที่ถ่ายภาพเก็บไว้โดยอัตโตมัติ ในสมองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ต่างจากการท่องจำที่เราเคยชินมาตั้งแต่เด็ก ที่บังคับให้จำลงในสมองให้ได้ ซึ่งก็มีคนที่มีความสามารถพิเศษด้านนี้ที่เราเคยได้พบตามข่าวเช่นกัน อย่างเช่น จำเบอร์โทรศัพท์ได้หลายร้อยเลขหมาย

การที่มีความสามารถจำรายละเอียดของทุกเหตุการณ์ได้ ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์หรือสุขให้กับชีวิตกันแน่ ก็คงขึ้นอยู่กับว่า “จำ” ได้ในเรื่องใด

เมื่อลองเปิดพจณานุกรมดู คำว่า “จำ” นั้นมีหลายความหมาย ความหมายแรกก็คือ การระลึกได้ แต่อีกความหมายถัดมาก็คือ การลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ล่ามเอาไว้ เช่น การจำคุก เมื่อกล่าวถึงความทรงจำแล้ว ผมว่ามันก็มีความหมายทั้งสองแบบ อย่างแรกก็คือ ความทรงจำทำให้เราระลึกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และอย่างที่สองก็คือ เราก็ถูกจองจำไว้กับเหตุการณ์นั้น ผูกติดความคิดไว้กับเรื่องราวนั้นๆ

.............................................

จำได้ว่าตอนนัดพบกับเพื่อนตอนมัธยมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทุกคนซึ่งไม่ได้เจอกันนานต่างยกแต่เรื่องเก่าๆ ขึ้นมาคุยกัน จนเพื่อนคนนึงก็บอกว่า “พวกเราคงแก่แล้ว เพราะคุยกันแต่เรื่องเก่าๆ แต่ถ้าถึงขนาดจำกันไม่ได้ว่าจะคุยกันเรื่องอะไรเนี่ย แสดงว่าแก่มากๆ แล้ว”

เคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง คือ Mushishi ในตอนหนึ่งที่มีบทสนทนาที่ประทับใจผม ซึ่งมีเนื้อหาประมาณว่า “การลืมเรื่องบางเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่เจ็บปวด แต่ที่เจ็บปวดก็คือการที่เราจำไม่ได้ว่าเราได้ลืมอะไรไปบ้าง”

อ้างอิง http://abcnews.go.com/Nightline/story?id=7075443&page=1

ปล. ได้อ่านข่าวเมื่อหลายปีก่อนเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษในการจำหมายเลขโทรศัพท์ได้หลายร้อยเลขหมาย ซึ่งหน้าข่าวนี้มีช่องที่ให้พิมพ์แสดงความคิดเห็น ก็มีรายหนึ่งพิมพ์ว่า “วันเกิดเมีย กูยังจำไม่ได้เลย....ลงชื่อ ผัวเลว”

Wednesday, April 1, 2009

พลาด พลาด พลาด

วันนี้ตั้งใจว่าจะตัดผม โดยใช้แบตตาเลี่ยนที่เคยใช้ตัดประจำ ซึ่งจะมีคลิปที่กำหนดความยาวผมมาด้วย ตัดไปตอนแรกๆ ก็โอเคอยู่ แต่รู้สึกว่ามันจะฝืดๆ ก็เลยถอดคลิปออก แล้วหยอดน้ำมัน
ปรากฎว่าลืมใส่คลิปเข้าไป ก็เลยโกนด้วยแบตตาเลี่ยนเปล่าๆ ไปครึ่งหัว ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยเพราะว่ากลางหัวพอดี เลยต้องจำใจโกนหมดทั้งหัวไปเลย เป็นข้อเตือนใจอย่างดีว่าทำอะไรควรจะมีสติ

Tuesday, March 31, 2009

ท้องอืด

สองสามวันที่ผ่านมามีอาการท้องอืด ทรมานและรำคาญมากเพราะว่ารู้สึกอึดอัด วันทั้งวันกินอาหารไปนิดเดียวแต่ก็ไม่รู้สึกหิวข้าวเลย คาดว่าสาเหตุคงมาจากวันหนึ่งที่กินข้าวเย็นเสร็จแล้วไปนอนเล่นเกิดเผลอหลับไปสองสามชั่วโมง ตื่นมาก็รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย

ก็กินยาไปหลายขนานไม่ว่าจะเป็นยาไทย เช่น ยาธาตุ หรือยาฝรั่ง เช่น อีโน และยาที่ซื้อที่นี่ที่คล้ายยาธาตุน้ำขาว ที่ฉลากมีเขียนไว้ว่าแก้ได้สารพัดทั้งลดกรด ท้องอืด และท้องเสีย แต่ผมชอบที่เขียนไว้ว่าแก้อาการ “upset stomach” คือ อ่านแล้วมันเห็นภาพเลยว่ามัน น่าผิดหวังจริงๆ

ท้องอืดก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยหิว ก็ไม่ค่อยได้กินอะไรเท่าไหร่ กินแต่พวกย่อยง่ายๆ เหมือนว่าต่อมส่งความหิวมันหายไปซะงั้น คุยกับอาจารย์ที่อยู่ห้องติดกัน แกก็แนะนำให้ซื้อพวกยาลดกรดมากิน แกบอกว่าถึงวัยแล้วล่ะ ที่จะเกิดกรดไหลย้อน เพราะหูรูดกระเพาะมันปิดไม่สนิท

ลองหาข้อมูลในเนทก็พบว่าก็พบว่าเป็นอาการปกติของคนอายุมาก ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเราก็อายุมากพอสมควรแล้ว แต่เนื่องจากใจยังเด็ก (โม้นิดหน่อย) จึงไม่ค่อยคิดว่าตัวเองอายุมากขึ้นทุกวัน ต้องรอสังขารมาเตือน อย่างเช่นอาการท้องอืดเป็นต้น

ตอนเด็กๆ ก็เป็นไม่ค่อยบ่อยเท่าไหร ที่จำได้แม่นๆ ก็คือช่วงตรุษจีน ตอนนั้นท้องอืดเนื่องจากกินขนมเทียนมากเกินไป ซึ่งมูลเหตุมาจากการที่ผมต้องการกินขนมเทียนไส้หวาน แต่ว่าเปิดใบตองมาทีไรก็เจอแต่ไส้เค็ม ในเมื่อแกะออกมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ กินไส้เค็มไปเกือบสิบอัน ก็ยังไม่เจอไส้หวานเสียที มารู้ตอนหลังว่าในถาดนั้นมีแต่ใส้เค็ม เมื่อกินเข้าไปเยอะขนาดนั้น ก็ท้องอืดตามคาด เป็นข้อเตือนใจว่าการจะเลือกซื้อเลือกกินอะไรที่มองไม่เห็นและไม่สามารถชิมได้ เช่น ขนมเทียน และแตงโม มีความเสี่ยงเสมอที่จะได้ไส้เค็ม และไส้ล้ม (ในกรณีของแตงโม)

ทุกทีเวลาที่ผมป่วยนั้น ผมจะรู้สึกว่าการมีอาการที่เป็นปกติธรรมดานั้นเป็นความสุขที่สุดและเป็นความโชคดีที่สุดแล้ว ซึ่งในที่สุดแล้วสุภาษิตที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นเป็นเรื่องจริงอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่พอหายป่วยแล้วก็มักจะลืมความคิดเหล่านี้ไปหมดสิ้นและใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังทุกที

Saturday, March 28, 2009

เล็บยาว

ผมไม่รู้ว่าเล็บของเรานับเป็นหนึ่งในอวัยวะหรือเปล่า แต่ที่รู้มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมี่มีความสำคัญมากทีเดียวเลย เวลาที่ไม่มีเล็บจะรู้สึกแปลกๆ การไม่มีเล็บที่ได้ประสบมาก็คือเล็บหักไปครึ่งนึง อันเนื่องมาจากเท้าโดนของทับจนห้อเลือดแล้วเล็บมันก็ค่อยๆ เปื่อยแล้วหักหลุดออกไปครึ่งนึง

นอกจากนี้เล็บยังทำให้เกิดความเสียวได้ โดยเฉพาะเวลาที่เอาไปขูดกับกระดานดำ เพียงแค่นึกก็เสียวแล้ว ไม่รู้กลไกที่ทำให้เกิดความเสียวได้นี้มันเกิดจากอะไร ผมว่ามันคงเป็นที่รวมเส้นประสาทที่สำคัญส่วนหนึ่งเลยทีเดียว แค่นึกถึงวิธีการทรมานนักโทษสมัยโบราณที่เอาเหล็กมาตอกเล็บ คิดว่าคงเจ็บปวดสุดๆ เลยทีเดียว

สำหรับผมนั้นไม่ชอบไว้เล็บยาวเท่าไหร่ วันเสาร์จะเป็นวันประจำสัปดาห์สำหรับการตัดเล็บซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว ตัดเล็บสัปดาห์ละครั้งผมว่ากำลังดี เล็บจะยาวประมาณ ๑ – ๒ มิลลิเมตร ซึ่งผมว่ามันยาวได้ที่พอดี ส่วนเล็บเท้าก็ประมาณสองสามอาทิตย์ครั้ง ซึ่งจะยาวเพียงพอให้ตัดอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (๒๕๕๑) ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย พบว่าหลายๆ อย่างทั้งคน และสิ่งของก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไป รวมถึงหมาบางแก้วทั้งสามตัวที่เลี้ยงไว้ด้วย ก็แก่และโทรมลงไปเยอะ ตัวที่แก่สุดสองตัว คือ โจกับดี้ ก็อายุ ได้ ๑๔ ปีแล้ว ส่วนเจ้าจอห์นก็อายุได้ ๙ ปี

โจซึ่งเป็นหมาตอนที่อ้วนตั้งแต่ก่อนโดนตอนก็โทรมไปเยอะ ขนร่วงทั้งตัว ส่วนจอห์นก็โทรมไปเยอะเช่นกันและก็เฉื่อยไปมาก นอนทั้งวัน ส่วนเจ้าดี้ก็ยังดูปกติดีแต่ว่าสายตาค่อนข้างแย่แล้ว มองอะไรไม่ค่อยเห็น สำหรับเจ้าหมาเฉื่อยสองตัวนั้น ลักษณะร่วมที่เห็นก็คือ เล็บยาวมาก ยาวออกมาประมาณสองสามเซนติเมตรได้
แม่ก็บอกว่ามันไม่ค่อยเดิน นอนทั้งวัน เล็บมันเลยยาว และเวลาจะตัดเล็บมันก็ไม่ค่อยยอม ทั้งสองตัวเลย โดยธรรมชาติแล้วบางแก้วจะขี้ระแวง แต่สองตัวนี้อาการหนักทำอะไรกับมันไม่ค่อยได้เลย จริงๆ ก็เคยตัดเล็บให้มันแต่ก่อน บางทีก็พลาดไปเลือดสาดเลย ไม่รู้จะเป็นสาเหตุที่มันระแวงหรือเปล่า เวลาพาไปฉีดยาทีนึงก็ต้องให้หมอช่วยตัดเล็บให้ แปลกดีเหมือนกันเวลาพาหมาพวกนี้ไปหาหมอมันจะกลัวหมอโดยอัตโนมัติ ไม่รู้เพราะอะไร

ตอนเด็กหมาพวกนี้มันวิ่งกันทั้งวัน ขุดโน่นขุดนี่จนสนามเละไปหมด เล็บมันก็เลยไม่มีโอกาสได้ยาว พอมันเริ่มนอนทั้งวัน ก็เลยไม่ค่อยได้ใช้เล็บ มันก็เลยยาว ซึ่งทำให้ผมนึกถึงสำนวนไทยที่เรียกว่า “สันหลังยาว” ที่ใช้เรียกคนขี้เกียจ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าสำนวนนี้มีที่มาอย่างไร รวมถึง “ขี้เกียจตัวเป็นขน” ด้วย

Tuesday, March 17, 2009

ไข่แฝด

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาทำกับข้าวทาน โดยวันก่อนทำผัดหมี่ใส่ใข่ และเช้าวันนี้ทอดไข่ดาว โดยในสองมื้อดังกล่าวที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ มีเรื่องบังเอิญก็คือทั้งสองมื้อนั้นไข่ที่นำมาใช้เป็นไข่แฝดทั้งสองวัน ซึ่งไข่โหลนั้นที่ผมซื้อมามีไข่แฝดอยู่ถึงสองใบ ซึ่งนานๆ จะเจอไข่แฝดซักที แต่ไข่แดงของไข่แฝดมีขนาดเล็กกว่าไข่แดงของไข่ปกติอยู่พอสมควร

ขนาดของไข่โหลนั้นที่ซื้อมาเป็นขนาดใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า jumbo แต่จริงๆ ขนาดของไข่เท่าที่เห็นก็มีแต่ large, extra large แต่เท่าที่ดูชั้นวางของร้านที่ซื้อประจำไม่ยักกะเห็นไข่ที่เรียกว่า small ซักที คิดว่าการเรียกไข่ว่าเป็น “ขนาดเล็ก” คงไม่จูงใจผู้ซื้อเท่าไหร่ หรือไม่ไข่ขนาดเล็กก็คงไม่มีคนซื้อเท่าไหร่เลยไม่ได้เอามาขาย

Host unlimited photos at slide.com for FREE!

ในสหรัฐมีการกำหนดขนาดไข่ไก่ที่ขายไว้ 6 ขนาด โดย jumbo เป็นขนาดใหญ่ที่สุด และ peewee เป็นขนาดเล็กที่สุด* ซึ่งเท่าที่ค้นดูจาก google ก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในไทยเช่นกัน แต่ในไทยจะใช้เป็นเบอร์ 0 – 5 โดยเบอร์ 0 เป็นขนาดใหญ่ที่สุด

ไข่แฝดจะมีขนาดใหญ่กว่าไข่ปกติ การซื้อไข่ขนาดใหญ่จะทำให้มีโอกาสเจอไข่แฝดได้มากกว่า ฟองที่ผมเจอดูต่างจากไข่ปกติตรงที่ลักษณะฟองดูยาวรีกว่าไข่ทั่วไป การเกิดไข่แฝดเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก โดยในกระบวนการสร้างไข่ของแม่ไก่ ได้สร้างไข่แดงขึ้นมาพร้อมกันสองใบ แต่ว่าสิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือ ไข่ที่เป็นไข่แฝดสามารถถูกฟักออกมาเป็นตัวได้ เนื่องจากขนาดของไข่ไม่เพียงพอสำหรับลูกไก่สองตัวจะใช้ชีวิตอยู่ได้ **

พอดีไปเจอเรื่องไข่แฝดจากเว็บ newscientist.com ซึ่งกรณีนี้แปลกมากก็คือ มีไข่ทั้งใบอยู่ในไข่อีกใบหนึ่ง ซึ่งกรณีเกิดขึ้นยากกว่าไข่แฝดปกติ โดยเกิดเมื่อไข่ฟองแรกที่ได้ถูกหุ้มด้วยแคลเซียมแล้ว ไหลย้อนกลับไปติดกับอีกฟองซึ่งอยู่ในกระบวนการสร้างเปลือกขึ้นมาหุ้มไข่ ทำให้เปลือกนั้นหุ้มไข่ฟองแรกเข้าไปด้วย ***

Host unlimited photos at slide.com for FREE!


ปล.
- ผมก็พึ่งรู้มาไม่นานนี้ว่าส่วนของไข่ที่เติบโตเป็นลูกไก่นั้น ไม่ใช่ไข่แดง แต่เป็นไข่ขาว ไข่แดงเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนเท่านั้น ถ้าสังเกตดีๆ เวลาตอกไข่เราจะเห็นจุดขาวๆ บนไข่แดง นั่นคือส่วนที่จะโตเป็นลูกไก่ต่อไป
- รูปไข่แฝดมาจากเว็บ (4) และ (3) ตามลำดับ

อ้างอิง
(1) http://en.wikipedia.org/wiki/Egg_(food) *
(2) http://pods.dasnr.okstate.edu/docushare/dsweb/Get/Document-2098/ANSI-8402web.pdf **
(3) http://www.newscientist.com/blog/lastword/2007/03/twin-chicks.html ***
(4) http://farm4.static.flickr.com/3260/2602063070_74af2256b6.jpg

Monday, March 2, 2009

นายศุลกากรชื่อ Adam Smith

เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านหนังสือเกี่ยวกับ History of Economics Thought เล่มที่ซื้อมาก็แบ่งเป็น 3 แนวคิดของ 3 บุคคลหลักๆ ก็คือ Adam Smith, Carl Marx และ John Maynard Keynes ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาก็เพราะอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ไอ้เราเรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรี ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์อย่างจริงๆ จังๆ เลย ตอนเรียนตรีวิชานี้ก็ได้ C อีกต่างหาก ตอนที่เรียนนั้นก็คงเรียนอย่างไม่เต็มใจเท่าไหร่ อ่านเพื่อทำข้อสอบเท่านั้น แต่ตอนนี้มันอยากเรียนรู้จริงๆ ก็นึกเสียดายขึ้นมา เลยต้องหามาอ่านเพื่อชดเชย

ภาคแรกของหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Adam Smith ซึ่งเป็นผู้นำปรัชญาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มาสู่โลกใบนี้ ภายใต้งานเขียนที่ชื่อว่า The Wealth of Nations ซึ่งเนื้อหาหลักโดยย่อก็คือ การใช้กลไกตลาดในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ

ก่อนหน้านี้แนวคิดของประเทศตะวันตกในการสร้างความมั่งคั่งก็คือ ลัทธิ Mercantilism ซึ่งมีความคิดว่าทรัพย์สินของแต่ละประเทศมีปริมาณคงที่ การที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ ก็โดยการแย่งชิงจากประเทศอื่น แบบพวกจักรวรรดินิยม รวมถึงการทำให้ดุลการค้าของประเทศเกินดุลมากๆ และต่อต้านการนำเข้าโดยใช้มาตรการต่างๆ

แนวคิดของสมิธคือการให้กลไกตลาดทำงาน หากสินค้าใดที่ชาติอื่นผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือมีความชำนาญมากว่า เราก็ควรจะนำเข้าจากเขา และทำสิ่งที่เราถนัด ซึ่งเป็นแนวคิดของการทำการค้าเสรี รวมถึงการแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความชำนาญในกระบวนการผลิต (ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดเดียวกับระบบสายพานที่เฮนรี ฟอร์ดได้นำมาใช้)

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตสมิธได้รับตำแหน่งเป็นนายศุลกากรระดับสูงของสก๊อตแลนด์ มีหน้าที่กวดขันการนำเข้า และจัดการสินค้าหนีภาษี ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับแนวคิดการค้าเสรีที่เป็นหลักการที่เขาสนับสนุนมาโดยตลอด เขาดำรงตำแหน่งนี้อยู่ 12 ปี และมีข่าวว่าเขาก็นำสินค้าหนีภาษี เช่น เสื้อผ้า มาใช้ส่วนตัวด้วย

ชีวิตของสมิธทำให้ผมแปลกใจไม่น้อย บุคคลผู้เรียกได้ว่าเป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ จะมีชีวิตบั้นปลายที่หักมุมไปมากจากแนวคิดที่เขาสนับสนุนมาทั้งชีวิต แต่ผมก็ไม่ได้ประหลาดใจมากเพราะสมิธก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เขาอาจจะเป็นฮีโร่หรือบุคคลสำคัญ แต่แท้จริงแล้วเขาก็คือคนธรรมดา ที่ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์อย่างในอุดมคติ

ฮีโร่ก็คือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นฮีโร่ในทุกมุม ทุกคนต่างก็มีด้านมืดด้านสว่าง บางทีคนที่เรายึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อาจทำในสิ่งที่ทำให้เราต้องผิดหวัง คนบางคนมีเบื้องหน้าที่ดีมาตลอดชีวิต แต่เบื้องหลังอาจทำสิ่งเลวร้ายที่เราคาไม่ถึง และไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง แต่เราก็ควรคิดได้ว่าเขาก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำผิดได้ ทำดีได้ ไม่ต่างจากเรา

ถึงตอนนี้เองภาพในความคิดของผม Adam Smith ก็ยังคงเป็นนักปรัชญาที่เฉียบแหลม ซึ่งนำเสนอแนวคิดทางเศรษศาสตร์ที่ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน มิใช่นายด่านศุลกากรแต่อย่างใด


อ้างอิง: The Big Three in Economics by Mark Skousen


Our heroes are people and people are flawed. Don't let that taint the thing you love.

Randy K. Milholland, Midnight Macabre, 09-27-07

Thursday, February 19, 2009

Playboy กำลังลำบาก

จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปัจจุบัน กิจการแทบทุกประเภทได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน รวมไปถึง Playboy ซึ่งเป็นกิจการด้านความบันเทิงชื่อดังของอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีผ่านมาขาดทุนไปถึง 146 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายได้หลักจากนิตยสาร รายการโทรทัศน์ และเสื้อผ้าเครื่องประดับ ได้ลดลงอย่างมาก ซึ่ง CEO คนปัจจุบันซึ่งเป็นลูกสาวของคุณลุง Hugh Hefner กำลังพิจารณาว่าจะขายกิจการซึ่งมีอายุยืนยาวมาถึง 55 ปี หรือไม่

ไม่รู้ว่าจากผลประกอบการที่ตกต่ำจะทำให้ลุง Hugh ลดปริมาณสาวๆ นับสิบในคฤหาสน์ของแกลงหรือเปล่า เพราะแค่คนสองคนก็ทำให้หนุ่มๆ ทั่วโลกตาร้อนกันแล้ว

(ที่มา The Wall Street Journal, February 19, 2009)

Tuesday, February 17, 2009

ประตูสำหรับคนพิการ

หากเราเคยสังเกตฟุตบาทในกรุงเทพฯ จะพบว่าจะมีแผ่นพื้นสำเร็จที่ปูพื้นที่มีลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ นูนขึ้นมา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสีเหลือง ซึ่งพื้นปูแบบนี้ผมก็ไม่รู้มาก่อนเหมือนกันว่ามันใช้สำหรับคนตาบอดที่จะสัมผัสเวลาเหยียบเพื่อให้รู้ว่าเดินอยู่บนทางเท้า แต่ก็ลำบากสำหรับคนตาบอดเหมือนกันเพราะว่าทางเท้ามักจะมีพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาตั้งซะจนเต็ม ทางทีก็บังพื้นพิเศษนั้นจนมิด

เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ที่ผมได้พบเห็นมา ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการจะค่อนข้างมีพร้อม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีกำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทางลาดเพื่อขึ้นอาคารสำหรับผู้พิการซึ่งนั่งรถเข็น ที่จอดรถสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ห้องน้ำ และปุ่มกดเพื่อเปิดประตูอัตโนมัติ

ปุ่มนี้จะถูกติดตั้งไว้ก่อนถึงประตู เพื่อให้ผู้พิการกดเปิดประตู ซึ่งประตูก็จะเปิดค้างอยู่ประมาณห้าถึงสิบวินาที เพียงพอที่จะนั่งรถเข็นผ่านไป (ลักษณะเป็นเช่นในรูป)


Push-Button-on-Post-LD


สิ่งที้ผมค่อนข้างหงุดหงิดใจก็คือผมเห็นคนที่ไม่ได้พิการ ไม่ได้ถือข้าวของพะรุงพะรังจนมือไม่ว่างที่จะเปิดประตู และก็ดูแข็งแรงดี ใช้ปุ่มนั้นเปิดประตูอยู่หลายๆ ครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้มีกฎว่าคนธรรมดาห้ามใช้ แต่ว่าอุปกรณ์ทุกอย่างมีอายุการใช้งานของมัน การใช้ปุ่มนั้นเปิดบ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดการสึกหรอ รวมถึงต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนของการเปิดประตูด้วยปุ่มดังกล่าวย่อมสูงกว่าการเปิดประตูด้วยมือตามปกติ แม้ว่าจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ว่าความเสียหายดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อคนพิการโดยตรง

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเรียนมัธยม ตึกหนึ่งที่เรียนเป็นตึกห้าชั้น และทั้งตึกก็มีลิฟท์อยู่หนึ่งตัว ซึ่งเป็นลิฟท์สำหรับอาจารย์เท่านั้น นักเรียนห้ามใช้ แต่ว่าพวกเราก็มักจะแอบใช้เมื่อมีโอกาส เหตุผลก็คือความตื่นเต้นที่ได้ฝืนกฏสำเร็จและความสบายจากการไม่ต้องเดิน อย่างไรก็ตามก็จะมีอาจารย์คอยลงโทษถ้าจับได้ โดยท่านหนึ่งที่ลงโทษพวกเราจนเข็ดหลาบก็คือ อาจารย์จักกฤช สุทธิกลัด ซึ่งจะตีพวกเราด้วยไม้เรียวขนาดใหญ่ และสั่งสอนว่าการใช้ลิฟท์บ่อยๆ จะทำให้มันเสียเร็ว และคนที่เดือดร้อนก็คือ อาจารย์ที่สูงอายุซึ่งบางทีต้องเดินขึ้นบันไดสี่ห้าชั้นเพื่อขึ้นไปสอน ในช่วงระหว่างที่ลิฟท์ยังไม่ได้ซ่อม

เรื่องที่ผมยกขึ้นมาทั้งสองเรื่องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วความคิดของคนส่วนใหญ่แล้วมันจะนึกถึงความสบายของตนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวโดยยึดแนวคิดดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผิดกฎระเบียบแต่ว่าบางทีมันก็ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้โดยที่เราอาจคาดไม่ถึง


หมายเหตุ: อาจารย์จักกฤช ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งท่านก็เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาฟิสิกส์ผมตอนอยู่ ม.๔ และยังเป็นบิดาของเพื่อนร่วมห้องและร่วมคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยของผมด้วย

รูปจาก: http://www.configure.ie/Accessible_Building_Equipment/upload/Image/Push-Button-on-Post-LD.jpg

Saturday, February 14, 2009

ความเหมือนระหว่างมอดและแมลงเม่าที่ผมเจอ

อากาศที่นี่ (พิตส์เบอร์ก) ค่อนข้างแห่งมากไม่ว่าจะฤดูกาลไหน ผมรู้สึกว่าความชื้นในอากาศน้อยมากโดยเฉพาะบางวันที่ตื่นขึ้นมาคอแห้งผาก ก็เลยต้องรองน้ำใส่ภาชนะมาตั้งไว้ในห้องเพื่อเพิ่มความชื้น และก็ลองซื้อเครื่องเพิ่มความชื้น (Humidifier) มาใช้ แต่ก็พบว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ตอนนี้ก็เลยใช้วิธีเดิมๆ ก็คือรองน้ำใส่กาละมังมาไว้นั่นแหละ

น้ำที่รองไว้จะระเหยไปเร็วมาก ประมาณสัปดาห์กว่าๆ ก็จะแห้งไปหมด เวลาไปเติมน้ำก็จะมีสองสิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ คราบขาวๆ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นพวกหินปูนหรือเกลือแร่ที่อยู่ในน้ำ แต่อีกสิ่งหนึ่งก็คือแมลงตัวเล็กๆ สีดำๆ ที่เรียกว่า “มอด” นั่นเอง

แรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เอากาละมังไปล้างแล้วก็รองน้ำใหม่ แต่มันก็เริ่มเจอบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนผมคิดว่าห้องคงโดนมอดบุกซะแล้ว ก็เลยต้องทำการดูดฝุ่นขนานใหญ่ ซึ่งที่มาของมันคาดว่าจะมาจากที่เก็บข้าวสารนี่แหละ ผมก็เลยนำชามมาใส่น้ำเพื่อดักมอด ปรากฎว่าได้ผลมีมอดหลายตัวมาติดกับ แรกๆ ก็มีมาก แต่หลังๆ ก็มีน้อยลงไปเยอะ

ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้ามอดพวกนี้มันรู้ได้ยังไงว่ามีน้ำอยู่ที่ตรงไหน แล้วทำไมมันไม่กินดีๆ ตกลงไปตายกันจนหมด หรือว่าที่ผมคิดว่ามันหิวน้ำจะไม่จริง มันอาจไม่หิวน้ำก็ได้ แต่มันอาจจะอยากฆ่าตัวตาย ... ว่าแต่แมลงมันกลุ้มใจอะไรมากจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ... ผมจึงคิดว่ามันคงจะหิวน้ำนั่นแหละ แต่คงจะกระหายมากไปหน่อยจึงโดดลงไปเล่นน้ำทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น (ดูจากในรูป นี่คือสภาพของมอดผู้โชคร้ายที่พลัดตกลงไปในน้ำ)
DSC01391
เคยได้ยินว่าวิธีไล่มอดจากถังข้าวสาร ก็คือให้นำใบมะกรูด หรือตะปูใหม่ๆ ลงไปใส่ในถังข้าวสาร ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมมอดมันถึงไม่ชอบสิ่งเหล่านี้ หรือว่ามันรู้สึกว่ามีคนไล่มันก็เลยเกรงใจและออกไปโดยดี ชีวิตมอดมันมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่ผมเคยคิดไว้ ทั้งเรื่องการสัมผัสถึงแหล่งน้ำ และการไม่ชอบใบมะกรูด คาดว่ามันคงไม่ชอบทานต้มยำกุ้งด้วย ส่วนหนูตกถังข้าวสารผมคิดว่า ถ้าจะไล่คงต้องใช้วิธีอื่นและน่าจะไล่ยากกว่ามอดหลายเท่าตัวนัก

เมื่อเจอมอดเล่นน้ำทำให้ผมคิดไปถึง แมลงเม่าที่ชอบมาเล่นไฟ และก็ชอบบินเข้ากองไฟ อ้างอิงจากวิชาการดอทคอม http://mail.vcharkarn.com/vcafe/43932 พบว่าแสงไฟเป็นสิ่งเร้าที่แมลงม่าสัมผัสได้ ทำให้ต้องบินไปหา โดยที่มิได้เกรงกลัวกลับความร้อน อ่านเจอในเวบพันทิป http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X7523676/X7523676.html มีคนนึงตอบได้ตลกดีก็คือมีแมลงเม่าอีกแบบที่ชอบเล่นไฟสีเขียว แต่พอบินเข้าไปก็จะเจอไฟสีแดง ซึ่งก็จะพบได้มากมายตามตลาดหุ้นทั่วโลก

จะว่าไปแล้วทั้งแมลงเม่าและมอดต่างก็พาตัวมันไปหาสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของมันตามสัญชาติญาณ แต่ว่าในที่สุดก็อาจต้องแลกด้วยชีวิต ส่วนสำหรับมนุษย์นั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สัญชาติญาณจากธรรมชาติมีหลงเหลืออยู่น้อยที่สุดเมื่อดำเนินชีวิตอยู่ตามปกติ แต่ว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบแมลงเม่าหรือมอดก็มีให้พบเห็นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะคนที่แสวงหาอำนาจและจมไปกับอำนาจนั้นๆ โดยไม่รู้ตัวว่าความเป็นคนของตนได้ตายไปแล้ว

The wise are instructed by reason; ordinary minds by experience; the stupid, by necessity; and brutes by instinct.
Cicero (106 BC - 43 BC)

(เขียนเมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)