Sunday, September 4, 2011

ที่จอดรถ Eco-car และ แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง (Incentive Incompatible)


ผมมีโอกาสได้เข้าไปจอดรถในอาคารจอดรถแห่งหนึ่งซึ่งเป็นอาคารหลายชั้นและการแข่งขันเรื่องที่จอดรถค่อนข้างมีความดุเดือดเลยที่เดียว คนที่เข้ามาจอดทุกคนก็อยากได้ที่จอดที่อยู่ชั้นเตี้ยๆ เนื่องจากประหยัดเวลาในการวนรถขึ้นและลง และมีของแถมก็คือใช้น้ำมันน้อยในการหาที่จอดรถ

สิ่งที่พิเศษสำหรับตึกนี้ก็คือมีที่จอดสำหรับจอดรถ Eco-car ที่กันไว้พิเศษในชั้นต้นๆ ของตึก (Eco-car คือ รถประหยัดพลังงานครับ ว่าง่ายๆ คือกินน้ำมันน้อยนั่นเอง)

ผมเห็นตอนแรกๆ ก็คิดว่าดีนะมีที่จอดรถสำหรับให้รถ Eco-car ด้วย ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่เคยเห็นก็ที่ตามห้างสรรพสินค้ากันที่จอดรถสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตของห้างที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้สมาชิก

แต่พอลองคิดอีกทีว่า การที่ตึกให้สิทธิพิเศษกับ Eco-car นี้ มันทำให้เกิดแรงจูงใจอะไรที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบ้าง หรือว่าการที่ทางตึกออกระเบียบเช่นนี้เพื่อทำให้คนหันมาซื้อรถ Eco Car กันมากขึ้น....

แรงจูงใจ (Incentive) เป็นแรงผลักดันที่ผมคิดว่ามีบทบาทมากที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ การกระทำและการตัดสินใจของคนเราทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดจาก “แรงจูงใจ”

ผู้บริโภคแสวงหาของดีที่มีราคาถูกก็เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างอรรถประโยชน์ให้สูงที่สุดภายใต้งบประมาณที่จำกัด ผู้ผลิตก็มีแรงจูงใจที่จะพยายามลดต้นทุนเพื่อขายของให้ได้กำไรมากที่สุด

ย้อนกลับไปที่แรงจูงใจของการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คนที่จะซื้อรถ Eco-car จะพิจารณาถึงประเด็นที่ได้ที่จอดรถชั้นเตี้ยๆ ในการซื้อรถซักคันหรือไม่

ถ้าจะให้ผมตอบตามความคิดตัวเองก็คงตอบว่า “ไม่มีผล” ต่อการตัดสินใจซื้อรถ Eco-car เลย แรงจูงใจนี้มันไม่น่าจะอยู่ในสมการการตัดสินใจของผู้ซื้อเลย หากเป็นการลดภาษีซักแสนสองแสนก็ว่าไปอย่าง

แล้วการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับรถ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตอบง่ายๆ ก็คือทำให้คนใช้รถ Eco-car รู้สึกดีขึ้นนั่นเอง ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนที่จะตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อรถ Eco-car เลย

ถามว่าระบบเศรษฐกิจได้อะไรหรือเสียอะไร

หากผมสามารถบริหารจัดการตึกจอดรถโดยเลือกให้รถคันไหนไปจอดที่ใดก็ได้ โดยใช้เป้าหมายเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นปัจจัยเดียว รูปแบบที่จะทำให้ระบบประหยัดพลังงานมากที่สุดก็คือ...

รถที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำที่สุดจอดชั้นต่ำที่สุด และรถที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Eco-car จอดชั้นที่สูงที่สุด

ส่วนระบบที่ใช้พลังงานมากที่สุดก็คือระบบที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาก็คือรถประหยัดพลังงานจอดชั้นต่ำสุด และรถประสิทธิภาพต่ำจอดชั้นสูงสุด ไล่กันไปตามลำดับ

แล้วระบบที่ให้รถ Eco-car จอดชั้นต่ำๆ อยู่ค่อนไปทางไหน

เห็นได้ชัดเจนว่าค่อนไปทางระบบที่ใช้พลังงานสูงนั่นเอง

จากตัวอย่างที่ยกมาเห็นได้ว่าการให้แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง นอกจากจะไม่ส่งผลตามที่ต้องการแล้ว บางทียังอาจเกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงด้วย

แต่ก็น่าคิดนะครับว่า หากทุกตึกในประเทศไทยออกกฎให้รถ Eco Car จอดในอาคารจอดรถชั้นล่างๆ จะมีผลอะไรต่อการตัดสินใจซื้อรถหรือเปล่า ??


รูปจาก: http://thailandbrioclub.com/wp-content/uploads/2011/03/eco_car1.jpg