Wednesday, April 14, 2010

การเืมืองเรื่องความรู้สึก

ไม่ได้เขียนบล๊อกมานานพอสมควร ด้วยภารกิจทางการเรียนที่ค่อนข้างรัดตัว และที่สำคัญคือนิ้วก้อยซ้ายหัก ทำให้กิจกรรมที่ง่ายๆ หลายอย่างในชีวิต รวมถึงการพิมพ์ดีด กลายเป็นสิ่งที่ยากอย่างที่คิดไม่ถึง

ในช่วงหลายปีที่ผมอยู่ต่างประเทศสถานการณ์การเมืองในเมืองไทยอยู่ในภาวะวุ่นวายมาโดยตลอด และช่วงไม่กี่เดือนมานี้ก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องทั้งทางสื่อมวลชน และ Social network ทั้งหลาย

ที่พอสังเกตได้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ หลายๆ คนเหมือนจะอิน (ไม่รู้จะใช้ศัพท์ไทยว่าอะไรดี น่าจะคล้ายๆ กับหมกมุ่นแต่เบากว่าหน่อย) กับเรื่องการเมืองมาก เห็นได้จากการแสดงออกทาง Social network ซึ่งก็ถือเป็นการระบายหรือแสดงความคิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันรุนแรงเหลือเกิน ผมก็เข้าใจนะโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ และอยู่กับเรื่องราวนี้เกือบตลอดเวลา การที่คนจำนวนมากสนใจเรื่องการเมืองนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรหมกมุ่นจนใจหม่นหมอง จนเหมือนกลายเป็นคนไร้ความเมตตากรุณาไป

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าเรื่องการเมืองและศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกนำมาหยิบยกในวงสนทนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะหากคู่สนทนาต้องการเอาชนะคะคานทางด้านความคิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะในบางประเด็นที่พื้นฐานหรือข้อสมมุติ (Assumption) แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คืออัตตาของแต่ละคนที่ถูกเอาไปผูกไว้กับความคิดความเชื่อ และแม้จะมีข้อมูลที่หลั่งไหลออกมามากมายอย่างในยุคปัจจุบันก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดความเชื่อของแต่ละคนได้ เรามักเลือกที่จะเชื่อในแบบที่เราอยากให้เป็น

สำหรับผมก็หลีกเลี่ยงการถกเถียงเรื่องเหล่านี้ ประการแรกคือถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็เถียงกันไม่จบ สองถ้าเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันก็อาจเกิดการเสียความรู้สึกกันได้ เพราะคู่สนทนาอาจไม่สามารถแยกแยะความเชื่อ กับมิติด้านอื่นที่เป็นมนุษย์ของผมออกจากกันได้ กลายเป็น Stereotype เช่น เด็กแวนซ์ = ติดยา มั่วเซ็กซ์ งานการไม่ทำ (ซึ่งถ้าผมเป็นแวนซ์จริงก็อาจไม่มีลักษณะเช่นนี้ก็ได้ ปล.ไม่ขอยกตัวอย่างเรื่องการเมือง) สามการถกเถียงกับคู่สนทนาบางคนที่มีอคติรุนแรง เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะไม่ได้การต่อยอดทางความคิด ข้อสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ผมอาจเลือกที่ไม่แสดงความเห็นแค่รับฟังเฉยๆ โดยเฉพาะกับบุคคลที่ผมมีความรู้สึกดีๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าการถกเถียงกันทำให้เสียความรู้สึกดีๆ ในมิติอื่นๆ ของชีวิตไปเปล่าๆ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา

จำได้จากละครเรื่องเคหาสห์ดาวตอนหนึ่งที่ประทับใจก็คือ นายเขียว ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องเป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้านให้กับนางเอก คือ คุณจ๋อม หลังจากออกแบบบ้านจนจะเสร็จแล้ว แม่ของนางเอกซึ่งได้ปรึกษากับหมอดูฮวงจุ้ยมีความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแบบบ้านเพราะหมอดูทัก นายเขียวก็ไม่ยอมและโกรธเพราะว่าเขาไม่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ถ้าจะให้เปลี่ยนแบบด้วยเหตุผลอื่นเขาก็ยอมทำ แต่ถ้าด้วยเหตุผลเรื่องฮวงจุ้ยแล้ว หัวเด็ดตีนขาดยังไงเขาก็ไม่ทำ ซึ่งทำให้นายเขียว กับคุณจ๋อมและแม่ ก็ผิดใจกันไป จนนางเอกของเราพูดให้นายเขียวฟังว่า บางทีการยอมทำตามในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เพื่อรักษาความรู้สึกของคนที่เรารักนั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความรู้สึกดีๆ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ

แม้ว่าตัวอย่างในละครอาจไม่สามารถนำมาใช้กับเรื่องที่กล่าวมาขั้นต้นได้ทั้งหมด และก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องสูญเสียตัวตนหรือจุดยืนของเราไปเพื่อรักษาความรู้สึกคนที่เรารัก แต่หมายความว่าควรมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว ซึ่งผมว่าเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ทำได้ยากอย่างหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องมี

บางทีการรักษาความรู้สึกดีๆ ของคนที่เรารักมันสำคัญกว่าการยึดติดกับความคิดความเชื่อ เพราะคนเรามีโอกาสที่จะฉลาดหรือโง่หรือถูกหลอกได้พอๆ กัน บางทีในอนาคตสิ่งที่เชื่อสิ่งที่ยึดถือมาเกือบตลอดชีวิตอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ความคิดความเชื่อมันพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ความรู้สึกดีๆ บางอย่างเสียแล้วอาจเสียไปเลย แม้ว่าเราอาจมีกะลาที่ครอบความคิดบางเรื่องกันอยู่คนละใบ แต่ว่าเราก็สามารถมีความรู้สึกดีๆ เป็นเพื่อนกันได้ในมิติอื่นๆ ของชีวิต