Saturday, May 1, 2010

คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า

คำถามที่ว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เป็นคำถามที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามกับผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องด้วยผมจะกลับเมืองไทยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งอาจารย์ก็เป็นห่วงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะมีภาพข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงจากการประท้วงทางการเมืองออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

อาจารย์ของผมท่านนี้เคยไปเมืองไทยเมื่อเกือบสามสิบกว่าปีก่อน ท่านยังเล่าให้ฟังเสมอถึงความประทับใจต่อเมืองไทย เช่น การบริการของโรงแรมโอเรียนเต็ลที่เอาใจใส่ในทุกรายละเอียดต่อแขกที่เข้าพัก เสื้อสูทที่ตัดไว้เมื่อไปเมืองไทยก็มียังอยู่ และอัธยาศัยที่เป็นมิตรของคนไทย

ท่านถามผมว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะภาพที่อยู่ในใจของท่านและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ คนไทยนั้นมีนิสัยอ่อนโยน และมีความเอื้ออาทร (จนเป็นที่เรียกติดปากว่า สยามเมืองยิ้ม) ท่านก็บอกว่าภาพข่าวที่เห็นดูจะตรงข้ามกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ท่านรู้จักอย่างสิ้นเชิง

คำตอบที่ผมตอบท่านไปก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีนิสัยอย่างที่ท่านบอกก็คือยังคงเป็นมิตรแม้แต่กับคนแปลกหน้า เช่น นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและมีการปลุกระดมเหมือนจิตวิทยามวลชน ทำให้เกิดการแสดงออกที่รุนแรง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้น ถ้าเราได้มานั่งคุยกันตัวต่อตัว ก็สามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนกับคนไทยคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้รู้สึกเหมือนกับการทำศึกสงคราม ทำให้อารมณ์ที่แสดงออกไปมีแต่ความก้าวร้าวรุนแรง จนเหมือนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและการควบคุมตนเองไป

ผมเชื่อว่าชาวต่างชาติหลายคนก็คงเริ่มตั้งคำถามแบบที่ผมได้รับเช่นนี้เหมือนกัน ภาพพจน์ของคนไทยในสายตาต่างชาติ คือ ชนชาติที่เป็นมิตร ยิ้มง่าย และมีน้ำใจ อย่างไรก็ตามหากภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นออกไปสู่โลกภายนอกอย่างต่อเนื่องเช่นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์โดยรวมของคนไทยอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้

คำตอบที่ผมตอบอาจารย์ไปเป็นคำตอบที่ผมมีความเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่าเราคนไทยยังคงมีไมตรีจิตให้แก่กันเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาช่างกลคู่อริที่ตีกันเป็นประจำ (โดยเฉพาะเวลาที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน) มาถอดเสื้อช๊อป ถอดเข็มขัด แล้วให้ใส่ชุดกีฬามาเล่นฟุตบอลกัน โดยให้ลืมเรื่องศักดิ์ศรีไร้สาระซึ่งถูกปลูกฝังจากรุ่นพี่นิสัยไม่ดี ผมว่าไม่นานคนกลุ่มนี้ก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่ต้องมีใครมากล่อมให้รักกัน

นิสัยอีกอย่างของคนไทยก็คือไม่ชอบการคุยกันดังๆ การใช้เสียงดังหรือตะโกนมักจะเกิดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น การทะเลาะกัน (บางชาตินี่คุยกันปกติแต่ส่งเสียงดังเหมือนทะเลาะกันก็มี) หรือมีการประกาศเพื่อเน้นให้ตั้งใจฟัง ซึ่งในแง่นี้อาจสามารถเปรียบได้กับเรื่องการชุมนุมที่เป็นทางออกทางหนึ่งเพื่อแสดงให้คนหมู่มากได้รับรู้และได้ยินในเรื่องที่ตนเองต้องการจะบอก ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่เคยสนใจหรือไม่เคยได้ยิน เช่นเดียวกับการพูดให้เสียงดังขึ้นกว่าปกติเพื่อกระตุ้นให้คนรับฟัง

หลักการเรื่องความพอดียังคงใช้ได้กับทุกเรื่อง หากผู้พูดส่งเสียงดังมากจนเกินไป จนเหมือนการตะโกนกรอกใส่หู ย่อมทำให้คนที่รับฟังเกิดอารมณ์ขุ่นมัว และ สาร ที่ต้องการจะ สื่อ อาจไม่ส่งผลได้ดังที่ตั้งใจไว้ และอาจส่งผลทางลบต่อผู้ส่งเสียงเรียกร้องเสียเอง

ส่วนตัวผมก็หวังว่าเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นจบลงโดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงบางเรื่องที่มีการตะโกนให้รับรู้ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาถูกนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และให้คนไทยสามารถกลับมาพูดถกเถียงเรื่องการเมืองได้โดยไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ เหมือนกับสมัยก่อนที่พูดกันยามเช้าในร้านกาแฟหน้าปากซอย คุยกันไปกินปาท๋องโก๋ไป สายๆ ก็แยกย้ายกลับบ้านโดยมีรอยยิ้มให้กัน

Wednesday, April 14, 2010

การเืมืองเรื่องความรู้สึก

ไม่ได้เขียนบล๊อกมานานพอสมควร ด้วยภารกิจทางการเรียนที่ค่อนข้างรัดตัว และที่สำคัญคือนิ้วก้อยซ้ายหัก ทำให้กิจกรรมที่ง่ายๆ หลายอย่างในชีวิต รวมถึงการพิมพ์ดีด กลายเป็นสิ่งที่ยากอย่างที่คิดไม่ถึง

ในช่วงหลายปีที่ผมอยู่ต่างประเทศสถานการณ์การเมืองในเมืองไทยอยู่ในภาวะวุ่นวายมาโดยตลอด และช่วงไม่กี่เดือนมานี้ก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องทั้งทางสื่อมวลชน และ Social network ทั้งหลาย

ที่พอสังเกตได้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ หลายๆ คนเหมือนจะอิน (ไม่รู้จะใช้ศัพท์ไทยว่าอะไรดี น่าจะคล้ายๆ กับหมกมุ่นแต่เบากว่าหน่อย) กับเรื่องการเมืองมาก เห็นได้จากการแสดงออกทาง Social network ซึ่งก็ถือเป็นการระบายหรือแสดงความคิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันรุนแรงเหลือเกิน ผมก็เข้าใจนะโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ และอยู่กับเรื่องราวนี้เกือบตลอดเวลา การที่คนจำนวนมากสนใจเรื่องการเมืองนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรหมกมุ่นจนใจหม่นหมอง จนเหมือนกลายเป็นคนไร้ความเมตตากรุณาไป

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าเรื่องการเมืองและศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกนำมาหยิบยกในวงสนทนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะหากคู่สนทนาต้องการเอาชนะคะคานทางด้านความคิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะในบางประเด็นที่พื้นฐานหรือข้อสมมุติ (Assumption) แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คืออัตตาของแต่ละคนที่ถูกเอาไปผูกไว้กับความคิดความเชื่อ และแม้จะมีข้อมูลที่หลั่งไหลออกมามากมายอย่างในยุคปัจจุบันก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดความเชื่อของแต่ละคนได้ เรามักเลือกที่จะเชื่อในแบบที่เราอยากให้เป็น

สำหรับผมก็หลีกเลี่ยงการถกเถียงเรื่องเหล่านี้ ประการแรกคือถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็เถียงกันไม่จบ สองถ้าเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันก็อาจเกิดการเสียความรู้สึกกันได้ เพราะคู่สนทนาอาจไม่สามารถแยกแยะความเชื่อ กับมิติด้านอื่นที่เป็นมนุษย์ของผมออกจากกันได้ กลายเป็น Stereotype เช่น เด็กแวนซ์ = ติดยา มั่วเซ็กซ์ งานการไม่ทำ (ซึ่งถ้าผมเป็นแวนซ์จริงก็อาจไม่มีลักษณะเช่นนี้ก็ได้ ปล.ไม่ขอยกตัวอย่างเรื่องการเมือง) สามการถกเถียงกับคู่สนทนาบางคนที่มีอคติรุนแรง เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะไม่ได้การต่อยอดทางความคิด ข้อสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ผมอาจเลือกที่ไม่แสดงความเห็นแค่รับฟังเฉยๆ โดยเฉพาะกับบุคคลที่ผมมีความรู้สึกดีๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าการถกเถียงกันทำให้เสียความรู้สึกดีๆ ในมิติอื่นๆ ของชีวิตไปเปล่าๆ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา

จำได้จากละครเรื่องเคหาสห์ดาวตอนหนึ่งที่ประทับใจก็คือ นายเขียว ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องเป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้านให้กับนางเอก คือ คุณจ๋อม หลังจากออกแบบบ้านจนจะเสร็จแล้ว แม่ของนางเอกซึ่งได้ปรึกษากับหมอดูฮวงจุ้ยมีความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแบบบ้านเพราะหมอดูทัก นายเขียวก็ไม่ยอมและโกรธเพราะว่าเขาไม่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ถ้าจะให้เปลี่ยนแบบด้วยเหตุผลอื่นเขาก็ยอมทำ แต่ถ้าด้วยเหตุผลเรื่องฮวงจุ้ยแล้ว หัวเด็ดตีนขาดยังไงเขาก็ไม่ทำ ซึ่งทำให้นายเขียว กับคุณจ๋อมและแม่ ก็ผิดใจกันไป จนนางเอกของเราพูดให้นายเขียวฟังว่า บางทีการยอมทำตามในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เพื่อรักษาความรู้สึกของคนที่เรารักนั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความรู้สึกดีๆ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ

แม้ว่าตัวอย่างในละครอาจไม่สามารถนำมาใช้กับเรื่องที่กล่าวมาขั้นต้นได้ทั้งหมด และก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องสูญเสียตัวตนหรือจุดยืนของเราไปเพื่อรักษาความรู้สึกคนที่เรารัก แต่หมายความว่าควรมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว ซึ่งผมว่าเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ทำได้ยากอย่างหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องมี

บางทีการรักษาความรู้สึกดีๆ ของคนที่เรารักมันสำคัญกว่าการยึดติดกับความคิดความเชื่อ เพราะคนเรามีโอกาสที่จะฉลาดหรือโง่หรือถูกหลอกได้พอๆ กัน บางทีในอนาคตสิ่งที่เชื่อสิ่งที่ยึดถือมาเกือบตลอดชีวิตอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ ความคิดความเชื่อมันพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ความรู้สึกดีๆ บางอย่างเสียแล้วอาจเสียไปเลย แม้ว่าเราอาจมีกะลาที่ครอบความคิดบางเรื่องกันอยู่คนละใบ แต่ว่าเราก็สามารถมีความรู้สึกดีๆ เป็นเพื่อนกันได้ในมิติอื่นๆ ของชีวิต

Tuesday, February 23, 2010

น้ำเอยน้ำใจ 2

หมายเหตุ: เนื้อหาคราวนี้ต่อเนื่องจาก บทความที่แล้ว เรื่อง น้ำเอยน้ำใจ จริงๆ แล้วอยากเขียนให้ต่อจากคราวที่แล้วเป็นบทความเดียวไปเลยแต่ว่ามีบางประเด็นที่น่าจะแยกมาเขียนต่างหาก โดยบทความที่แล้วได้พูดถึงการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมนุษย์ ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเท่าไร รวมถึงการทดลองพฤติกรรมของคนในห้องแลปที่ไม่อาจสะท้อนพฤติกรรมที่ผู้คนในสังคมทั่วไปแสดงออกเมื่อประสบกับสถานการณ์ต่างๆ

อีกประเด็นที่สามารถหยิบยกได้จากกรณีฆาตกรรม Kitty Genovese ที่มีการนำเสนอว่าผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายวางเฉยกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเหตุการณ์สาธารณะ ประเด็นของเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือ An Introduction to Game Theory ของ Martin J. Osborne ในบทที่เกี่ยวกับ Mixed Strategy

กล่าวคร่าวๆ Mixed Strategy Equilibrium ในทฤษฎีเกม หมายความถึงการกำหนดกลยุทธ์ของบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับการคาดหมายถึงความน่าจะเป็นในการที่บุคคลอื่นจะใช้กลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ยิงลูกโทษ กับผู้รักษาประตู แต่ละคนกำหนดความน่าจะเป็นว่าอีกฝ่ายจะเลือกทางซ้ายหรือขวา แล้วนำมาใช้ตัดสินใจในการเลือกกลยุทธ์ของตน ซึ่งอยู่ในลักษณะความน่าจะเป็นอีกเช่นกัน

ในบทความจากหนังสือได้เสนอการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ในกรณีที่มีผู้พบเห็นเหตุการณ์หลายคน พบว่าความน่าจะเป็นหรืออัตราในการแจ้งเหตุมีน้อยลง ซึ่งทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า อาจเกิดจากการกระจายของความรับผิดชอบหรือความรู้สึกผิด เช่น ถ้าเราเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว เท่ากับว่าเราแบกรับความรับผิดชอบ หรือความเป็นความตายของผู้อื่นไว้แต่ผู้เดียว ซึ่งความรู้สึกผิดหากว่าเราไม่รับผิดชอบมันเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ถ้ามีคนอื่นเห็นด้วยเราก็สามารถบรรเทาความรู้สึกผิดได้ว่า คนอื่นไม่ยอมทำด้วย ไม่ใช่เราต้องรับผิดชอบคนเดียว

ทฤษฏีเกม Mixed Strategy สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวได้ดีเช่นกัน โดยหากสมมุติว่า การแจ้งเหตุก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตัวเรา อย่างไรก็ตามก็มีต้นทุนด้วย เช่น ค่าโทรศัพท์ หรืออาจต้องเสียเวลาเป็นพยานอีกหลายครั้ง ซึ่งเราสมมุติว่าผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน และหากว่ามีคนเพียงคนเดียวแจ้งเหตุ ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ก็จะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด

หากว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการแจ้งเหตุ เพราะผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก อย่างไรก็ตามเมื่อมีหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ ทำให้แต่ละคนคาดการณ์ว่าคนอื่นๆ ตัดสินใจแจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง และยิ่งการที่มีหลายคนทำให้ความน่าจะเป็นในการแจ้งเหตุของแต่ละคนลดลงไปเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าอีกคนหนึ่งจะแจ้งเหตุแล้ว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของเราคือการไม่แจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นที่สูง ซึ่งทำให้เราไม่เสียเวลาแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ซึ่งเหตุการณ์ที่ผมพบเจอทุกวันและน่าจะใช้คำอธิบายแบบเดียวกันได้ก็คือ ปัญหาการกดปุ่มสัญญาณคนข้ามถนนตอนไปโรงเรียน หากว่าต้องการข้ามถนนต้องกดปุ่มนี้สัญญาณไฟคนข้ามจึงจะติด ซึ่งกดเพียงครั้งเดียวมันก็จะติดหลังจากไฟแดงวนมาครบรอบ มีหลายที่ผมเห็นคนยืนรอข้ามถนนหลายสิบคน แต่ปรากฎว่าสัญญาไฟคนเดินไม่ขึ้น เพราะว่าไม่มีคนกดปุ่ม ซึ่งก็ทำให้ต้องรอไฟแดงกันอีกรอบหนึ่ง

จริงๆ แล้วการกดสัญญาณไฟไม่มีต้นทุนอะไรเลยต่อผู้กด อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มาถึงสัญญาณไฟเป็นคนแรก ไม่กดปุ่มดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ตามมาเข้าใจว่า มีการกดปุ่มไปแล้ว (ด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง) ทำให้เขาไม่ตัดสินใจกดปุ่มนั้น และเมื่อมีคนอื่นตามมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำคนที่ตามมาคาดการณ์ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงว่าต้องมีคนกดไปแล้วแน่ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครกดปุ่มนั้นเลย และต้นทุนที่เกิดจากการรอไฟแดงอีกรอบหนึ่งนั้น มากกว่าต้นทุนการกดปุ่มอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมจะข้ามถนนหากไม่เห็นว่ามีใครกดปุ่มนั้นแล้ว ผมจะกดปุ่มสัญญาณไฟเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ต้องรอไฟแดงอีกรอบ

สถานการณ์จากแบบจำลองทฤษฏีเกมที่ยกมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลักทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องของ Externality ซึ่งก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนๆ หนึ่งซึ่งนอกจากจะกระทบต่อตัวผู้ทำเองแล้วยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เช่น โรงงานก่อมลพิษ ข้างบ้านเปิดวิทยุเสียงดัง หรือถ้ามองเป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจก็เช่น ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนข้อสรุปในเรื่องของคดีของ Kitty Genovese นั้นในท้ายบทของ Super Freakonomics ได้เปิดเผยว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์นั้นเสนอข่าวเกินความจริง โดยการเปิดเผยจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ชี้ให้เห็นว่า การฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นในเวลาประมาณตีสาม ซึ่งมีไม่กี่คนที่เห็นเหตุการณ์ และก็ได้มีการแจ้งตำรวจไปแล้ว แต่ใช้เวลานานกว่าจะติดต่อกับตำรวจได้ ทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตของเธอไว้ได้ทัน

Tuesday, February 16, 2010

น้ำเอยน้ำใจ

ผมพึ่งอ่านบทหนึ่งในหนังสือ Super Freaknomics จบลง (ซึ่งเป็นภาคต่อของ Freakonomics) ซึ่งเล่มสองนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างเงียบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม ไม่เหมือนภาคแรกที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงอีกมุมมองของปรากฎการณ์ที่แปลกไปเมื่อใช้หลักทางเศรษศาสตร์มาอธิบาย

บทที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ บทที่ 3 Unbelievable Stories about Apathy and Altruism (apathy มีความหมายประมาณว่าเมินเฉยไม่ใส่ใจ ส่วน altruism ก็มีความหมายประมาณว่ามีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว)

เริ่มบทมาก็กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อมี ค.ศ. 1964 ที่หญิงสาวผู้หนึ่ง (Kitty Genovese) ถูกฆาตกรรมโดยชายผู้หนึ่งขณะเดินกลับบ้านตอนกลางคืน โดยส่วนที่สำคัญคือข่าวได้ลงว่าฆาตกรผู้นั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายหญิงสาวผู้นี้ถึงสามครั้งจนถึงแก่ความตาย และได้มีการพาดหัวข่าวว่าผู้คนถึง 38 คนที่อาศัยอยู่ในตึกใกล้เคียงที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้แจ้งตำรวจหรือช่วยเหลือหญิงสาวผู้นี้แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงดังกล่าวในประเด็นเรื่องความใส่ใจในชีวิตผู้อื่นในสังคม

เหตการณ์ดังกล่าวก็ถูกโยงมาถึงประเด็นที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามีความมีน้ำใจหรือเปล่า ทำไมคนจึงทำบุญหรือช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่รู้จัก อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมดังกล่าว (จริงๆ ในบทมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาเหตุการเกิดอาชญากรรม เช่น การออกอากาศโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหรัฐ พบว่ารัฐที่มีการออกอากาศก่อนรัฐอื่นหลายเดือนมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจึงมีการพัฒนาการทดลองในห้องแลป เพื่อศึกษาพฤติกรรม (การใช้ข้อมูลจริงทำได้ลำบากในทางสังคมศาสตร์ เพราะหาปรากฎการณ์ที่เป็น Natural Experiment ได้ยาก)

ยกตัวอย่างเช่น เกมที่ชื่อว่า Ultimatum ซึ่งให้ผู้รับการทดลองสองคนที่ไม่รู้จักกัน โดยผู้เล่นคนแรกจะต้องแบ่งเงินที่ได้รับมาจำนวน $20 ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับตัวเองและส่วนหนึ่งสำหรับผู้เล่นคนที่สอง โดยกฎของเกมก็คือ หากว่าคนที่สองไม่ยอมรับจำนวนที่เสนอทั้งคู่ก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งจากทฤษฏีเกมผู้เล่นคนแรกสามารถเสนอจำนวนที่น้อยที่สุดให้ผู้เล่นคนที่สอง เช่น $0.01 เพราะถ้าปฏิเสธก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ว่าจากผลการทดลองพบว่าผู้เล่นคนที่หนึ่งเสนอให้โดยเฉลี่ย $6 ซึ่งก็ถือว่ามาก และผู้เล่นคนที่สองโดยเฉลี่ยจะปฏิเสธจำนวนเงินที่น้อยกว่า $3 ซึ่งผลดังกล่าวก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เล่นคนแรกเป็นคนมีน้ำใจจริงหรือเปล่า เพราะการเสนอตัวเลขที่สูงอาจทำเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธ

ต่อมาก็มีการปรับปรุงแนวทางของเกมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ผู้เล่นคนแรกเป็นคนตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว (Dictator) ก็ยังปรากฎว่าโดยเฉลี่ยยังมีการแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนที่สองอยู่ แต่ว่าพอเปลี่ยนกฎของเกมโดยแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนแรกและคนที่สองเท่าๆ กัน และผู้เล่นคนแรกสามารถตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินให้ หรือเอาเงินจากคนที่สองมาเป็นของตัวเอง ซึ่งผลออกมาว่ามากกว่า 40% ของผู้เล่นคนแรกเอาเงินทั้งหมดจากผู้เล่นคนที่สอง

จากการทดลองหลากหลายดังกล่าวก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และผู้เขียนก็ยังได้กล่าวถึงประเด็นของการทดลองในห้องแลป ที่อาจมีปัญหาเรื่องการสุ่มตัวอย่าง และพฤติกรรมของผู้เข้ารับการทดลองซึ่งอาจไม่เป็นธรรมชาติและไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงของคนในสังคมได้

ประเด็นเรื่องน้ำใจดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องที่เคยอ่านใน Predictably Irrational ที่กล่าวถึงเรื่อง Social Norm กับ Market Norm โดย Social Norm หมายถึง รูปแบบทางสังคมที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วน Market Norm เป็นรูปแบบของสังคมแบบผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายยึดถือคนละแบบแผน (Norm) มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น องค์กรหนึ่งต้องการหาทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เลยเข้าไปเสนองานให้กับทนายรายหนึ่งโดยให้ค่าชั่วโมงน้อยกว่าราคาตลาดเพื่อเป็นการกุศล ปรากฎว่าทนายได้ปฏิเสธ ทางองค์กรจึงได้เปลี่ยนแนวทางโดยบอกกับทนายว่าจะช่วยองค์กรฟรีๆ เพื่อการกุศลได้หรือเปล่า ปรากฏว่าทนายได้ตอบรับ โดยผู้เขียนได้อธิบายว่า ในกรณีแรกทนายได้ใช้ Market norm ในการตัดสินใจ เมื่อราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาตลาดเขาจึงไม่รับงาน ส่วนในกรณีหลังเขาตัดสินใจโดยใช้ Social norm ในการตัดสินใจช่วยเหลือทำให้รับงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นเรื่องการมีน้ำใจ หรือทำบุญกุศลนั้นผลที่เกิดขึ้นทางใจมันสามารถวัดได้ลำบาก แตกต่างกันไปตามแต่บุคคล อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นประเด็นที่ดูแปลกสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ก็เพราะใน Utility Function (http://en.wikipedia.org/wiki/Utility) ที่เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปนั้นถูกกำหนดโดยทรัพย์สินหรือวัตถุ ความพึงพอใจหรือความสุขใจ ไม่ได้รวมอยู่ในนั้น หากว่าความสุขใจจากการเสียทรัพย์สินบางส่วนเพื่อการกุศลนั้นถูกบรรจุเข้าไปอย่างเหมาะสม ก็น่าจะสามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าจะตีออกเป็นมูลค่าได้ลำบากก็ตาม

หลักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายหลายปรากฎการณ์ที่ไม่น่าจะอธิบายได้ แต่ว่าก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ทุกอย่าง

(สำหรับความเห็นส่วนตัวกับหนังสือ Super Freakonomics เล่มนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลิน ไม่น่าเบื่อ แต่สิ่งที่ต่างจากเล่มแรกก็คือในแต่ละบทมีความพยายามที่จะแทรกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปและเบนความสนใจจากคนอ่านไปจากประเด็นหลักได้)

อ้างอิง : http://www.amazon.com/SuperFreakonomics-Cooling-Patriotic-Prostitutes-Insurance/dp/0060889578/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371768&sr=8-1

http://www.amazon.com/Predictably-Irrational-Hidden-Forces-Decisions/dp/006135323X/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371802&sr=1-1

Tuesday, February 2, 2010

อารมณ์ขำและคิดถึงหนังโจวซิงฉือ


ผมคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นอารมณ์เฉพาะของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นสิ่งมีชีวิตอื่น แสดงอารมณ์ขันได้เลย ถ้าเป็นอารมณ์สนุกก็พอจะเห็นได้บ้าง อย่างเช่นเวลาเล่นกับสุนัข (ผมเดาว่ามันสนุกนะ แต่จริงๆ ไม่รู้ว่ามันสนุกหรือเปล่า เห็นมันกระดิกหางวิ่งไปมาก็เข้าใจว่ามันน่าจะสนุก)

อารมณ์ขันก็คล้ายๆ กับความพอใจในรสอาหารซึ่งมีความเฉพาะตามบุคคล แต่ว่าขอบเขตมันกว้างมาก อย่างในเรื่องอาหาร ถ้าอาหารรสดี คนส่วนใหญ่ที่กินก็จะรู้สึกไปในทางเดียวกัน แม้ว่าความชอบมากน้อยอาจต่างกันไปบ้าง แต่ว่าเรื่องตลกนี่มันกว้างไปกว่านั้น บางคนรับรู้เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจขำเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ว่ากับอีกคนอาจไม่ขำแถมไม่ชอบอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ผมดูพวกเดี่ยวฯ ของโน้ส อุดม ก็ไม่ขำ แค่หัวเราะหึๆ กับบางมุก แต่หลายๆ คนก็ดูจะชอบและขำกันมากมาย

เท่าที่สังเกตตัวเองมาระยะหลังมุกตลกหรือหนังตลกเรื่องตลกแบบก่อนๆ มันไม่ค่อยขำเท่าไหร่ ไม่รู้เพราะเส้นลึกไปตามวัยหรือรสนิยมเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เด็กเล็กๆ นี่ขำง่าย เล่นจ๊ะเอ๋ก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้ว (ในทางกลับกันก็ร้องไห้และเศร้าได้ง่ายเช่นกัน) เหมือนว่ายิ่งโตขึ้นการควบคุมอารมณ์มีมากขึ้นตามลำดับพออายุมากขึ้น

หนังสือการ์ตูนแต่ก่อนก็มีหลายเรื่องที่อ่านแล้วขำล่าสุดก็คือ ครอบครัวตัว ฮ. ที่พี่ชายซื้อไว้ ส่วนหนังการ์ตูนล่าสุดที่ได้ดูแล้วคิดว่าขำก็คือ คุโรมาตี้ (anime) แบบเป็นการ์ตูนไม่มีโอกาสได้อ่าน พวกเรื่องขำขันก็เช่นกัน หาแบบตลกๆ ได้ยากเต็มที

ส่วนถ้าจะพูดถึงหนังที่ชวนขำมากที่สุดสำหรับผม ก็คือหนังของ โจว ซิง ฉือ สมัยแรกๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยไม่เคยพลาดเลยที่จะดูหนังของโจวซิงฉือในโรงหนัง ซึ่งไปดูกันทีก็เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ทีมพากย์ก็ต้องทีมพากย์อินทรีไม่งั้นไม่สนุก

เรื่องแรกที่ได้ดูไม่ได้ดูในโรงหนัง แต่ว่าดูกับเพื่อนสามคน เนื่องด้วยว่ามีเพื่อนคนหนึ่งต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน มันจึงเช่าหนังมาดู ซึ่งก็คือเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” เป็นหนังที่ดูแล้วขำมากๆ เรียกว่าหัวเราะกันท้องแข็งแทบทุกฉาก

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าว่าในระยะหลังๆ หนังของเฮียโจวไม่ค่อยขำเท่าไหร่ (สำหรับผม) ไม่รู้ว่าต้องการทำให้อารมณ์ขันเป็นสากลขึ้นหรือไม่ แต่ว่าความเป็นตลก แบบงี่เง่าๆ มันหายไปอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเสียงเล็กๆ ของผมไปถึงเฮียโจวได้ อยากบอกเฮียว่าทำหนังแบบเดิมเหอะ ไม่ต้องเอาโกอินเตอร์ก็ได้

มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดผม (และอีกหลายคนคงเป็นเหมือนกัน) ที่มีอารมณ์ขำกับสิ่งต่างๆ ได้ยากขึ้น ไม่รู้ว่ามันจะเกิดจากการที่ในชีวิตที่ผ่านมาเราเจอเรื่องขำๆ มาเยอะ หรือว่าเจอเรื่องไม่ขำมาเยอะกันแน่

ปล. มีคนเอาเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” มาลงไว้ในเนตด้วย (ตอน 3 ซ้ำกับตอน 2 ข้ามไปตอน 4 ได้เลย) ใครยังไม่เคยดูต้องลองดูนะ ส่วนจะขำไม่ขำก็แล้วแต่ความลึกของเส้น http://video.mthai.com/player.php?id=23M1218434130M0

Friday, January 1, 2010

เลขเด็ด สิ่งลึกลับ และ Sample Selection Bias

เคยคิดกันบ้างไหมว่าทำไมคนไทยบ้าหวยกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ได้บ้าหวยก็ได้ แต่เหมือนกับว่าวัฒนธรรมหวยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไปแล้ว โดยเฉพาะข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหวยสามารถพบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีโดยทั่วไป

ข่าวที่คาดว่าจะพบเห็นได้ในช่วงใกล้วันที่สิบหก และวันที่หนึ่งของเดือนก็จะเป็นข่าวจำพวก กล้วยสองเครือ วัวสองหัว ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ (แต่ไม่ได้ผิดธรรมชาติเพราะว่ามันอยู่ในธรรมชาติ) หรือจะเป็นข่าววิญญาณมาเข้าฝันบอกเลขเด็ด ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักเสี่ยงโชคตีความเป็น “เลขเด็ด” ต่างๆ นานา หลังจากช่วงหวยออกก็จะมีข่าว follow up ประมาณว่า มีคนถูกเลขเด็ดทั้งหมู่บ้าน

ด้วยความที่หวยเป็นการลงทุนในจำนวนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง (ความน่าจะเป็นที่จะถูกก็น้อยเช่นกัน) ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการลงทุนได้เงินง่าย ที่กำไรงาม และเหมือนว่าใครๆ เขาก็ถูกกัน ซึ่งจูงใจให้คนเข้ามาเล่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโอกาสในการลงทุนด้านอื่น และก็เป็นโอกาสให้คนหลายๆ คนเข้ามาหากินเช่นกัน เช่น สื่อมวลชน คนใบ้หวย และพระสงฆ์ที่ให้หวย ซึ่งกรณีหลังผมถือว่ามันเป็นมารศาสนาชัดๆ

ส่วนเรื่องสิ่งลึกลับที่คนเชื่อกันว่าให้เลขเด็ดได้ เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ต่างๆ ถ้าสมมุติว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงและให้เลขเด็ดได้จริง หมายความว่าสิ่งลึกลับเหล่านี้อาจมีรูปแบบที่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนเป็นระบบ

ประการแรกก็คือ รางวัลหรือเลขที่ถูกรางวัลมีจำกัด แต่ว่าแหล่งให้เลขเด็ดต่างๆ กระจายไปนับพันนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ถ้าสิ่งลึกลับที่กล่าวอ้างสามารถให้เลขเด็ด ได้จริงก็จะเกิดการแข่งขันการให้เลขเด็ด เพราะยิ่งคนถูกรางวัลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะได้รับการ เซ่นไหว้ เทินทูน บูชา มากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่มีการจัดสรร จัดคิว จะมีการแข่งกันสร้างบารมี แล้วระบบการเล่นหวยก็จะพังทลายเพราะจะมีแต่คนถูกรางวัล (โดยเฉพาะหวยใต้ดิน) การคิดต่อจากนี้ก็จะเริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อย เช่น กฎเกณฑ์ในการจัดสรรเลข บอสใหญ่เป็นประธานคือใคร คัดเลือกอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีบางประเด็นที่ผมสงสัย เช่น ให้เลขเด็ดนอกประเทศได้ไหม หรือว่าจำกัดเฉพาะประเทศไทย (อยากได้เลขเด็ด Power Ball บ้าง ออกบ่อยด้วย สัปดาห์นึงตั้งสองครั้ง รางวัลถ้านับเป็นเงินไทยก็หลายร้อยล้านบาท)

ที่ผมกล่าวในประเด็นข้างต้นจัดได้ว่าเพ้อเจ้อเลยที่เดียว หรือถ้าจะลองคิดอีกมุมที่ไม่ซับซ้อนและไม่เพ้อเจ้อว่า จริงๆ แล้วสิ่งลึกลับอาจมีจริงหรือไม่มีจริงก็ได้ แต่ได้คนที่คิดว่าได้เลขเด็ด “คิดไปเอง” ว่ามีใครมาให้เลขเด็ด หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า “(คนเหล่านี้) ที่เห็นที่รู้สึกน่ะจริง แต่สิ่งที่ได้เห็นได้รู้สึกน่ะไม่มีจริง” หรือไม่ก็โดน “คน” ด้วยกันเองหลอกต้มตุ๋น

ส่วนในอีกประเด็นที่ว่าใครๆ ก็ถูกหวยกันจากแหล่งเลขเด็ดต่าง ถ้าจะลองคิดอีกอีกมุมหนึ่งว่าจริงๆ แล้วไอ้คนที่ถูกหวยจากเลขเด็ดที่ได้จากแหล่งทั้งหลายมันมีไม่เยอะหรอก แต่ว่าที่เราคิดว่ามันเยอะก็เพราะไอ้คนที่มันไม่ถูกไม่ได้แสดงตัวต่างหาก เป็นรูปแบบหนึ่งของ Sample Selection Bias

โดยธรรมชาติของคนเราแล้วเมื่อมีดีอะไรมักจะโชว์ คนที่ถูกหวยจากเลขเด็ดก็มักจะแสดงตัวให้เด่นเป็นธรรมดา ส่วนพวกที่ไม่ถูกก็สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่ออกหน้าออกตา ทำให้เรารู้แต่ว่ามีคนถูก ไม่รู้ว่ามีคนไม่ถูกเพราะพวกนี้ไม่แสดงตัว

คนที่ถูกหวยจากแหล่งเลขเด็ดอาจมีไม่ถึงหนึ่งในร้อยของคนที่ได้เลขเด็ดไปด้วยซ้ำ แต่ว่าคนทั่วไปก็จะรู้แต่เรื่องของคนที่ถูกรางวัล ข่าวประเภทนี้ก็ไปช่วยหล่อเลี้ยงความหวังให้กับคอหวยอีกหลายแสน (หรือล้าน?) ทั่วประเทศ

การถูกหวยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นเรื่องความความบังเอิญ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ตราบใดที่ความน่าจะเป็นไม่เป็นศูนย์ เช่น ซื้อรถใหม่เอาทะเบียนไปแทง เอาวันเกิด เอาอายุไปแทง ถ้ามันจะถูกรางวัลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือถ้ามันไม่ถูกก็ไม่แปลกเช่นกัน

การลงทุนในหวยไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรทำอย่างมีเหตุผล เนื่องด้วยความเสี่ยงสูง ก็ควรลงทุนในสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด จึงจะเป็นการจัด Portfolio การลงทุนที่เหมาะสม ไม่ควรที่จะทุ่มเทเงินทอง จิตใจ และอนาคตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันมีความเสี่ยงสูงมากๆ


ป.ล. มีข่าวที่ผ่านมานานแล้วข่าวหนึ่งหลังจากมรณกรรมของหลวงพ่อปัญญา ก็มีการออกข่าวว่าเลขเด็ดที่เป็นอายุของท่านขายดีทั่วประเทศ ข่าวนี้ทำให้ผมรู้สึกไม่พอใจอย่างมากเพราะว่าหลวงพ่อปัญญาท่านต่อต้านการเล่นหวย แทนที่ข่าวจะออกในเชิงส่งเสริมปัญญาจากคำสอนของท่าน กลับเพิ่มความงมงายให้คน แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของสื่อสารมวลชนในการสร้างปัญญาให้กับประชาชน และความมืดบอดงมงายไร้สาระของประชาชนบางส่วน