Thursday, February 12, 2009

Too big to fail?

เมื่อหลายวันก่อนได้ยินอาจารย์พูดในห้องเรียนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ กรณีการนำเงินของรัฐบาลไปอุ้มสถาบันการเงินที่กำลังจะล้มละลาย และก็มีนักเรียนคนหนึ่งถามมาว่าที่ต้องช่วยสถาบันการเิงินเหล่านี้เพราะว่ามันใหญ่เกินที่จะปล่อยให้ล้มละลายหรือเปล่า (Too big to fail) อาจารย์ก็ตอบประมาณว่า นั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งเพราะว่าถ้าสถาบันการเิงินเหล่านี้ล้มละลายไปหมดก็จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อระบบการเงินทั้งระบบ

ถ้าถามผม ผมก็มีประเด็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยรัฐบาล โดยถ้าจะอิงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง Agency Problem หรือเรียกอีกแบบนึงว่า Moral Hazard มีอาจารย์ท่่านหนึ่งบอกผมว่าระยะหลังในแวดวงวิชาการเรียกว่า Agency Problem ก็เพราะว่ามันไ่ม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม (Moral) เพราะว่าถ้าเป็นใครที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ต้องทำ

ปัญหา Agency เกิดขึ้นก็เมื่อแรงจูงใจของผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกัน (Not Incentive Compatible) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเกี่ยวกับการจ้างงาน ถ้าหากเงินเดือนของลูกจ้างไม่ผูกติดกับผลสัมฤทธิ์ของงาน ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท ลูกจ้างก็นั่งทำงานเช้าชามเย็นชามไปวันๆ (เพราะนั่นมันดีที่สุดต่อตัวเขาเอง ทำงานหนักมันลำบากทั้งเหนื่อยทั้งเครียด) ถ้าอู้งานแล้วได้เงินเดือนเท่าเดิมใครจะไปขยันทำงาน

การผูกผลงานกับผลตอบแทนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ว่าก็ไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบและติดตาม (Monitoring) ซึ่งในส่วนนี้ก็มีต้นทุน และำก็ทำได้ลำบาก ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเห็นพนักงานพิมพ์คอมอยู่อย่างขมักเขม้น แต่ว่าเขาอาจคุย MSN กับเพื่อนอยู่ก็ได้ เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบก็คือ ผมเป็นผู้ช่วยสอนของอาจารย์ท่านหนึ่ง และเขาก็พูดในห้องเรียนว่า ทำไมเราต้องมีการสอบ ซึ่งมันก็ไม่ได้ดีต่อทั้งอาจารย์และนักเรียนเลย อาจารย์ต้องออกข้อสอบและก็ตรวจ นักเรียนก็ต้องเครียดกับการสอบ

สมมุติว่าในวันเปิดเทอมอาจารย์บอกกับนักเรียนว่าวิชานี้ไม่มีการสอบ และจะให้ A กับทุกคน เพียงแค่นักเรียนสัญญากับผมว่าคุณจะตั้งใจเรียน เข้าเรียนทุกครั้ง และทบทวนบทเรียนเป็นประจำ นักเรียนทุกคนก็คงบอกว่า “รับรองว่าเราจะทำตามที่สัญญากับอาจารย์ทุกอย่าง” ซึ่งในความเป็นจริงจะมีนักเรียนสักกี่คนที่ทำตามสัญญา การตรวจสอบก็ทำได้ลำบาก ดั้งนั้นจึงต้องมีการสอบ และการสอบก็เป็นต้นทุนของข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน (Cost of Asymmetric Information)

ย้อนมาถึงปัญหาการอุ้มบริษัทที่ (จะ) ล้มละลาย ถ้าสมมุติว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้รับการรับรองว่าจะไม่มีวันล้มละลาย รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มเสมอถ้ามีปัญหา เราจะเลือกลงทุนอย่างไร ระหว่างทางเลือกที่กำไรสูงและความเสี่ยงสูง กับทางเลือกที่ำกำไรต่ำและความเสี่ยงต่ำ แน่นอนเราต้องเลือกทางที่ได้กำไรสูงอยู่แล้ว เพราะยังไงถ้าพลาดก็มีคนมาช่วย ซึ่งมันก็เหมือนกับการโยนความเสี่ยงไปสู่เงินภาษีประชาชน ในขณะที่บริษัทได้ผลประโยชน์ถ้าการเก็งกำไรนั้นสำเร็จ

ดั้งนั้นหากมีกา่รช่วยเหลือดังกล่าวก็ต้องมีการติดตามผลที่เข้มงวดเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของสังคม รวมถึงต้องมีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดประกอบไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคของ Regulation แบบในอดีต

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับ Too big to fail ก็คือ มีนักเรียนเรียนถามว่าเศรษกิจอเมริกาจะล่มสลายได้หรือเปล่า อาจารย์ไม่ตอบอะไร แต่ได้ยกตัวอย่างว่ามันไม่จริงเสมอไปว่าถ้าใหญ่มากแล้วจะล้มไม่ได้ ถ้าลองมองย้อนดูไปในประวัติศาสตร์เราจะเห็นได้ว่ามีอาณาจักรโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพวกบาบิโลน หรืออารยธรรมเก่าแ่ก่ต่างๆ ที่อยู่มาเป็นหลายร้อยปี และยิ่งใหญ่มากๆ ในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็สามารถล่มสลายได้ไม่ว่าจะใหญ่และมีอำนาจมากขนาดไหน

ดังนั้นไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ไม่ควรประมาทเพราะความ “เสื่อม” จากพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็นำไปสู่ความล่มสลายที่มีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว

(เขียนเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

No comments:

Post a Comment