Friday, October 23, 2009

ค่า (คร่า) ชีวิต

ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจในประเทศไทย ซึ่งหลายๆ คนมีความเชื่อว่ากินเจแล้วจะได้บุญ สำหรับผมก็เฉยๆ สำหรับเรื่องนี้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อะไรอร่อยก็กินได้หมด ช่วงกินเจก็ดีอย่างนึงคือได้กินผักมากขึ้น ส่วนเรื่องหนึ่งที่หงุดหงิดใจในช่วงเทศกาลกินเจเวลาที่อยู่ที่เมืองไทยก็คือว่า อาหารเจแพง (มาก) ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องกลไกตลาดมีคนโหมกินกันมากๆ ราคาก็สูงขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนอีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การขายของที่เกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อของคนนั้นมันได้กำไรงามนักแล (ดิน + มวลสารอะไรซักอย่าง ยังขายได้ราคามากกว่าต้นทุนเป็นพันเป็นหมื่นเท่า)

ได้อ่านประเด็นเรื่องการกินเจตามเวบบอร์ดก็ได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่าง ประเด็นที่อ่านเจอก็เช่น กินเจได้บุญจริงหรือเปล่า ลดการฆ่าสัตว์ได้จริงๆ หรือไม่ ทำไมทานหอยนางรมได้ ในโค๊กมีส่วนผสมจากสัตว์หรือเปล่า (อันนี้น่าสนใจนะเพราะส่วนผสมของโค๊กเป็นความลับระดับโลก อาจมีส่วนผสมที่มาจากสัตว์ก็ได้) ถ้าพืชส่งเสียงร้องได้เราจะกินมันหรือเปล่า อะไรเทือกๆ นี้

อ่านไปก็สนุกดี แต่ที่พอจะสรุปสั้นๆ ได้ ก็คือ หนึ่ง จะทำอะไรก็ทำไปเถิดถ้ามันทำแล้วสบายใจไม่เดือดร้อนใคร (มาตรฐานบุญหรือบาปบางทีมันก็ขึ้นกับความคิดของเราเอง) สอง อย่าผูกขาดความดีไว้กับตัวเอง อย่าเอาความดีไปข่มใคร และอย่าหลงความดี ความดีเก็บไว้เป็นศรีแ่ก่ตัว เหมือนกางเกงในจำเป็นต้องมีไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องโชว์ ไ่ม่ต้องอ้างความดีเพื่อกดให้คนอื่นต่ำลง และสิ่งสุดท้ายก็คือ ความเชื่อใครความเชื่อมัน เชื่อไม่เหมือนกันก็อย่ามาว่ากันและคนอื่นไม่ผิดถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา ไม่งั้นเถียงกันไปร้อยชาติก็ไม่จบ

ส่วนเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจก็คือ เรื่องคุณค่าของชีวิต สิ่งมีชิวิตแต่ละชนิดมีคุณค่าเท่ากันหรือไม่ ทำไมบางทีคนเราทำประหนึ่งว่า การคร่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดบาปน้อยกว่าการคร่าชีวิตของอีกชีวิต (คำว่าบาปความจริงก็ต้องนิยามนะว่ามันเป็นยังไง)

ยกตัวอย่างเช่น เคยคุยกับแฟนว่าอยากกินเนื้อเปื่อย แฟนก็บอกว่าใจร้าย กินสัตว์ใหญ่ ก็เลยโต้ตอบกันไปมา ผมก็บอกว่าตัวใหญ่ก็ดีนะ ชีวิตเดียวกินได้ตั้งหลายคน ลองกินกุ้งปลากว่าจะอิ่มก็หมดไปหลายตัว น้ำปลาขวดนึงเนี่ยใช้ปลาเป็นร้อยๆ ตัวได้มั้ง จำได้ว่าบทสนทนาเรื่องนี้จบลงด้วยการเปลี่ยนเรื่องพูด ไม่งั้นคงจะเถียงกันไปยาว

บางคนก็บอกว่ากินสัตว์ใหญ่บาปมาก เพราะมันรู้เรื่องและมีความคิด ถ้าใช้ตรรกะแบบกำปั้นทุบดินก็แปลว่า กินสัตว์รู้มาก มีความคิดมาก บาปมาก ซึ่งถ้าอย่างนั้นผมเผลอไปกินกุ้งแสนรู้ ปูแสนฉลาด ปลาผู้อารีย์ ผมก็คงบาปมากกว่ากินกุ้ง ปู ปลาทั่วไป (แต่่ก็ว่าเถอะตอนผมดูหนังเรื่อง Babe จบใหม่ๆ นี่กินหมูไม่ลงไปเป็นวันๆ หรือเวลาที่เห็นวัวถูกบรรทุกพาไปโรงฆ่ามันก็ทำให้จิตตกไปพักหนึ่งเหมือนกัน)การวัดระดับของบาปของคนเรามันคงอยู่ที่ว่าการคร่าชีวิตสิ่งไหนมันทำให้จิตใจเศร้าสร้อยไ้ด้มากกว่ากัน

ถ้าเอาเรื่องบุญบาปกับการกินสัตว์ใหญ่มาโน้มน้าวผมคงไม่ได้ผลเท่าไหร่ ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพอาจได้ผลมากกว่า อย่างเช่น (เขา)ว่ากินสัตว์ใหญ่เยอะๆ ไม่ดี จะทำให้ร่างกายมีสารพิษสะสมเยอะ อันนี้ก็อาจเป็นไปได้เพราะว่าสัตว์ใหญ่มีอายุยาวกว่า การสะสมสารพิษจากสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีมากกว่าสัตว์เล็กๆ

จริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีค่าเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหมีแพนด้า หนูนา หรือแมลงสาป ทุกตัวมีสิทธิ์อยู่บนโลกนี้เท่าๆ กัน อย่างไรก็ตามระดับบาปหรือความไม่สบายใจของคนเราคงต่างกัน อย่างเช่น เผลอไปเหยียบแมลงสาปตายกับเผลอไปขับรถชนสุนัข อย่างหลังคงทำให้ไม่สบายใจไปหลายเดือน

นานมาแล้วเคยอ่านการ์ตูนสั้นๆ เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพระญี่ปุ่นที่ไปเจอผีเสื้อติดอยู่ที่ใยแมงมุม พระรูปนี้สงสารก็เลยช่วยผีเสื้อให้บินหนีไปได้ ขณะนั้นเองในมโนจิตของพระรูปนั้นก็ได้ยินเสียงจากแมงมุมพูดขึ้นว่า ทำไมท่านไปช่วยผีเสื้อตัวนั้นล่ะ นั่นคืออาหารของข้า และข้าจะเอาอะไรกิน ก็มีการพูดจาโต้ตอบไปมาระหว่างพระกับแมงมุม

ขณะนั้นเองก็มีนกตัวหนึ่งบินมา และก็จับแมงมุมไปกิน พระก็ตะลึงแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร แมงมุมก็ถูกนกกินไป หลังจากนั้นพระก็เกิดมโนภาพเห็นแมงมุมตัวยักษ์กล่าวกับพระอย่างโกรธแค้นว่า เพราะรูปลักษณ์ของแมงมุมน่าเกลียดใช่ไหม ทำให้พระไม่สนใจที่จะช่วยเหลือ ดังนั้นข้าก็จะล้างแค้นโดยการกินพระรูปนั้นเป็นอาหาร ขณะที่แมงมุมใช้ใยจับพระอยู่นั้น พระก็อยู่ในความกลัวสุดขีดออกจากภวังค์ เห็นผีเสื้ออยู่ติดอยู่ที่ใยแมงมุม กลับไปยังจุดเริ่มต้น แต่ว่าคราวนี้พระรูปนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ปล่อยให้ผีเสื้อถูกกินไป

ซึ่งเรื่องนี้ก็พอจะบอกถึงจิตสำนึกลึกๆ ของมนุษย์บางส่วนที่ประเมินชีวิตอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก เลือกที่จะชอบสิ่งทีน่ารักและเกลียดสิ่งที่ดูน่าเกลียด ซึ่งมันก็ปกติ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราควรจะทำคือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายสิ่งที่เราเกลียด เลือกรักษาไว้แต่สิ่งมีชีวิตที่เราชอบ หรือให้ประโยชน์กับเราได้ เพราะในธรรมชาติแล้วทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มีวงจรชีวิตอย่างเดียวกัน เกิด แก่ เจ็บ และตาย

ก็มีแง่คิดจากการ์ตูนอีกเรื่อง คือ Mushishi เป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่คล้ายๆ แมลง ดำรงชีวิตด้วยการเป็นปรสิตในร่างกายมนุษย์ และก่อให้เกิดอาการแปลกๆ ต่างๆ นานา ซึ่งตัวเอกของเรื่องเป็นคนที่สามารถกำจัดปรสิตเหล่านี้ได้ มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากที่ตัวเอกของเรื่องพูดว่า “การที่ปรสิตเบียดเบียนชีวิตเรา ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันทำไปก็เพราะความอยู่รอด ส่วนเรื่องที่เราจะกำจัดมันจากร่างกายเราก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราก็ทำเพื่อความอยู่รอดของเราเช่นกัน”

ก็คงพอสรุปได้ว่า ถ้าต้องคร่าชีวิตเพื่อเป็นอาหารก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และควรกินด้วยความเคารพคุณค่าของเพื่อร่วมโลกในห่วงโซ่อาหาร ไม่กินทิ้งขว้าง วิธีการคร่าชีวิตก็ควรทำโดยไม่ให้ทรมานมาก และไม่ควรเลยที่จะคร่าชีวิตอื่นเพื่อความสนุก

Tuesday, October 13, 2009

ก้นกล่องจดหมาย

ผมจำได้ว่าตอนยังเรียนประถมจะมีวิชาที่ต้องหัดเขียนจดหมาย เช่น จดหมายถึงเพื่อน จดหมายถึงอาจารย์ จดหมายลากิจ ลาป่วย ฯลฯ และในวิชาเรียนก็ได้เขียนจดหมายส่งจริงๆ ส่งทางไปรษณีย์ถึงเพื่อนในห้อง ความรู้สึกในการรอคอยจดหมายที่จะได้รับจากบุรุษไปรษณีย์มันก็น่าสนุกและตื่นเต้นดี แม้ว่ามันจะเป็นจดหมายที่ส่งมาจากเพื่อนที่นั่งอยู่โต๊ะติดกันก็ตาม

จนมาถึงตอนที่ได้เขียนจดหมายจริงๆ จังๆ ก็คือตอนไปเรียนโทที่อังกฤษเมื่อเก้าปีก่อน ซึ่งสมัยนั้นค่าโทรศัพทางไกลต่างประเทศมันก็ยังแพงอยู่พอสมควร พวกโปรแกรมสำหรับแชทก็มีแค่พวก ICQ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ จดหมายจึงเป็นช่องทางการสื่อสารทางนึงที่ผมชอบใช้ อย่างแรกคือมันจับต้องได้ และสองมันใช้เวลา ซึ่งทำให้เราต้องลุ้นว่าจดหมายไปถึงหรือยัง ถึงเมื่อไหร่ และก็มีลุ้นอีกว่าเมื่อไหร่จะได้รับจดหมายตอบกลับมา

แต่ว่าก้นกล่องจดหมายที่ผมจะพูดถึงมันคือกล่องจดหมายอีเลคทรอนิคส์หรืออีเมล์ นั่นเอง อีเมล์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผมในช่วงหลายปีมานี้ เช้าขึ้นมาอาจลืมแปรงฟันได้ แต่ลืมเช็คอีเมล์ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องมีภารกิจอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมจากอีเมล์ที่ส่งมา ซึ่งทำจนเป็นกิจวัตร

พอดีเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาเปิด hotmail เพื่อหาเมล์บางฉบับแล้วบังเอิญเลื่อนแถบ scroll มาจนถึงเมล์ที่เก่าสุดในกล่องจดหมาย (จริงๆ เมล์นี้ใช้มาเป็นสิบปีแล้วแต่ว่าเมื่อหลายปีก่อน hotmail เป็นอะไรไม่รู้ลบเมล์เก่าๆ ออกหมดเลย น่าเสียดายเหมือนกัน) เมล์ที่เก่าที่สุดตอนนี้ก็คือเมล์จากเพื่อนที่ส่งมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2002 หัวข้อ How to love wisely

ลองเลื่อนไปอ่านเมล์ที่เก่ารองลงมาก็ได้ระลึกถึงเรื่องอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยมานาน เรื่องราวชีวิตตัวเอง และคนรอบข้างที่บางทีก็หลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง เช่น เรื่องของเพื่อนที่ตอนนั้นพึ่งจะไปเรียนเอกที่อเมริกา ตอนนี้มันก็จบไปปีกว่าแล้ว และก็เรื่องของผมที่กำลังจะไปเรียนเอกเมื่อสี่ปี (กว่าๆ) ที่แล้ว

มีเมล์ที่ตลกๆ อ่านแล้วขำก็ เช่น ตอนที่จะมาอเมริกาเมื่อตอน 2005 ต้องต่อเครื่องที่แอลเอ ก็เลยเมล์ไปหาเพื่อนที่อยู่ซานดิเอโกว่ามาเจอกันที่สนามบินสิไม่ได้เจอกันนาน มันก็ตอบกลับมาว่า “กูต้องขับรถไปสองชั่วโมงนะ (โว้ย) ถ้ามึงจะมาทรานสิทจะให้กูไปหาทำ (เหี้ย) อะไร ถ้าจะเจอกันก็มาเที่ยวสิ (ท้ายสุดก็ยังไม่ได้ไปหามัน จนตอนนี้มันก็กลับเมืองไทยไปแล้ว)” อ่านแล้วก็ขำดี
มีอีกเมล์ที่ส่งไปบ่นกับเพื่อนตอนมาถึงพิตสเบอร์กใหม่ๆ ว่า รู้สึกลำบากมากในการปรับตัว ต้องเช่าห้องอยู่นอกแคมปัส ทั้งห้องมีแค่ตู้เย็นตัวเดียว ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าจะเป็นเหมือนที่อังกฤษที่ทั้งห้องมีเฟอร์นิเจอร์ครบทุกอย่างแล้ว ก็เลยเครียดไปเหมือนกันช่วงนั้น ในการหาซื้อของมาเติมห้องให้เต็ม

แม้ว่าอีเมลล์จะจับต้องไม่ได้เหมือนจดหมาย แต่ว่าเมื่อผ่านไปนานๆ ลองย้อนกลับมาดูมันก็เติมเต็มความทรงจำที่ขาดหายไปตามกาลเวลาได้พอสมควร ก็รู้สึกมีความสุขดี ถ้ามีเวลาหากคุณลองเช็คเมล์เก่าๆ ก้นกล่องจดหมายดูบ้างก็น่าจะทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามตื่นเช้ามาพรุ่งนี้ผมก็คงไม่ได้มานั่งอ่านเมล์พวกนี้ ก็คงต้องเช็คเมล์ที่เข้ามาใหม่แล้วก็ทำภารกิจประจำวันต่อไป
ขอลงท้ายด้วยประโยคที่ผมเขียนลงท้ายในอีเมล์เก่าๆ ถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า
Life is not easy but it is not too hard…

Monday, August 24, 2009

กรรมและแรงจูงใจ (Karma and Incentive)

สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์และธรรมะเป็นสองเรื่องที่มีความเหมือนกันอยู่ คือ ผมต้องการศึกษาทั้งสองอย่างให้ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่มีโอกาส ความพยายาม และความอดทนมากเพียงพอ และเหตุผลที่เป็นข้ออ้างก็คล้ายๆ กันก็คือ รู้มากไปก็ไม่ได้มีโอกาสเอาไปใช้มากเท่าไหร่

สำหรับผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์และต้องการพัฒนาทฤษฏีใหม่ๆ คณิตศาสตร์ชั้นสูงมีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยลักษณะงานของผมในอนาคตที่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษา ทำให้ผมเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์ในด้านของการนำทฤษฎีที่มีอยู่ไปใช้มากกว่าการพัฒนาทฤษฎี คณิตศาสตร์ขั้นสูงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสเน่ห์และน่าค้นหาแต่ว่ามันก็เหมือนเป็นส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไรต่อการศึกษาของผม

เรื่องธรรมะก็เช่นกัน ที่ผ่านผมก็พยายามที่จะศึกษาให้มันมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการสร้างสมาธิ ใช้ชีวิตให้มีสติ (ซึ่งบางครั้งผมก็คิดว่ามันก็น่าจะพอสำหรับชีวิตคนเดินดินโดยปกติทั่วๆ ไป)
ผมคิดว่าศึกษาธรรมะนี้ยากกว่าที่คิด ด้วยความสัตย์จริงถ้าจะให้ผมว่าชาร์ตแสดงโครงสร้างของเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ผมยังพอทำให้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจะให้วาดชาร์ตแสดงโครงสร้าง/ความเชื่อมโยงของหลักธรรมะต่างๆ ผมคิดว่าผมทำไม่ได้ ด้วยความรู้ ณ ปัจจุบัน

อารัมภบทมาจนยืดยาวซึ่งมันก็เกี่ยวกับแนวคิดที่ผมจะพูดหลักๆ ในบทความนี้ คือ เรื่องของกรรม และประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง แรงจูงใจ (Incentive)

ไอ้เจ้าแรงจูงใจนี่มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐาสตร์ทุกๆ อย่าง (คล้ายๆกับสัญชาติญาณ) เช่น เมื่อเราหิวก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการหาอะไรมากิน (ล่าสัตว์ เพาะปลูก หรือทำงานหาเงินมาซื้ออาหาร)

หลายคนก็คงเคยได้ยินคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผมเชื่อว่ามันจริง แต่ว่ามีประเด็นที่ติดใจคือ มีคำสอนที่ว่าทำไม่ดีในชาตินี้ ชาติหน้าจะต้องใช้กรรม ฟังดูแล้วก็น่ากลัวที่ว่าถ้าทำไม่ดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีจะตาม “เรา” ไปถึงชาติหน้า

ถ้านับว่าชาตินี้คือปัจจุบัน และชาติหน้าคืออนาคต ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีหลายช่วงเวลา ตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ต้องมีก็คือ Discount rate หรือ Rate of time preference หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยสภาพปกติแล้วเจ้าอัตราตัวนี้จะมากกว่าศูนย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าในอนาคต

ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือ Utility Function หรือความพึงพอใจ/อรรถประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งแรงจูงใจ ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปชอบมีเงิน ยิ่งเงินมากอรรถประโยชน์ตัวนี้ก็จะยิ่งสูง สร้างแรงจูงใจให้หาเงินมาได้มากที่สุด

ถ้าผมสมมุติว่าการเวียนว่ายตายเกิดมีจริงและกรรมชั่วที่ผมทำในช่วงเวลาปัจจุบันทำให้อรรถประโยชน์ในปัจจุบันสูงขึ้น แต่จะส่งผลลบต่อผมในชาติหน้า เช่นโกงเงินประชาชน ชาตินี้รวยล้นฟ้า ชาติหน้าเป็นยาจก

ถามว่า คนนี้ชาตินี้ กับคนนี้ในชาติหน้า เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ตัวของวิญญาณ (ตามความเชื่อ) อาจเป็นคนๆ เดียวกัน แต่ว่าความรู้สึกมันคือคนละคนแน่นอน หากลองถามตัวเราในวันนี้ ว่าชาติที่แล้วเป็นใคร ประมาณร้อยละร้อยก็คงไม่รู้ เหลือเศษอีกนิดหน่อยที่คิดไปเอง

ถ้าผมเชื่อว่ากรรมชั่วที่ผมทำในชาตินี้ส่งผลต่อผมในชาติหน้า สิ่งที่จะสร้างความพอใจให้กับผมมากที่สุดก็คือ ทำชั่วให้มากที่สุด แสวงหาความสุขให้มากที่สุดในชาตินี้ เพราะผมก็คงไม่ต้องมารับผิดชอบของเจ้าตัวผมที่จะเกิดในชาติหน้า (เหมือนกับการ Maximize Utility แค่เพียงช่วงเวลาเดียว ให้ผลใกล้เคียงกับการตั้งข้อสมมุติว่า Discount rate สูงมากๆ จนผลที่จะเกิดในชาติหน้า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในภพชาติปัจจุบัน)

ถ้าสมมุติว่าผลของกรรม “อาจ” ส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า การตัดสินใจก็จะอยู่ในรูปของค่าเฉลี่ยจากความน่าจะเป็นที่กรรมจะส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า ผลก็คืออยู่ตรงกลางๆ คือ ทำชั่วน้อยกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาติหน้า แต่มากกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาตินี้

ถ้ายึดตามแบบจำลองแปลกๆ ที่ผมยกมา การสอนธรรมะ (ซึ่งผมคงไม่อาจหาญไปแนะนำครูบาอาจารย์/พระสงฆ์) เรื่อง กรรม ควรเน้นไปที่การให้สังเกตสภาพจิตใจที่รุ่มร้อน มากกว่าการสร้างรูปลักษณ์ของกรรมให้เป็นเหมือนก้อนพลังงาน/วิญญาณอาฆาตที่คอยจ้องทำร้ายผู้กระทำกรรมไม่ดี และที่สำคัญควรเน้นว่าผลของกรรมทุกอย่างจะส่งผลในชีวิตในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คงจะมีประเด็นคล้ายกับเรื่องกรรมที่กล่าวมาข้างต้น คือ ถ้าหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรต่อผมในปัจจุบัน ถึงไม่สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าสิ้นชีวิตไปมันก็เหมือนจบ เกิดใหม่ก็เป็นคนใหม่อยู่ดี (ไม่รับรู้ถึงเรื่องที่ผ่านมาในชาติภพก่อน)

ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธ การหยุดเวียนว่ายตายเกิดถือเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ว่าคนเรียนธรรมน้อยๆ อย่างผม ขอแค่มีชีวิตสงบๆ มีสุขพอประมาณ เวลามีทุกข์ก็เข้าใจมันและผ่านมันและแก้ปัญหาไปได้อย่างมีสติก็พอ

ขอยอมรับว่าบทความนี้เป็นบทความที่เพี้ยนๆ ซักนิดนึง ซึ่งถ้าผู้ใดที่มีความรู้ทางด้านธรรมะ โปรดให้คำชี้แนะในประเด็นที่ไม่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างสูง

ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเยอะเหลือเกิน คงต้องหาโอกาสศึกษาอย่างจริงจังเสียที เพราะมันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้เฉพาะตน ต้องปฏิบัติเองไม่มีใครมาบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร (เขียนไปเขียนมารู้สึกว่าตัวเองเป็นบัวใต้ตมอย่างไรก็ไม่รู้ 555)

Saturday, August 15, 2009

CO2 ราคาแพง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการรถยนต์ในสหรัฐฯมีความคึกคักเป็นพิเศษจากโครงการของรัฐบาล คือ Cash for Clunker (CfC) ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเก่าซึ่งรถมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงมาแลกเป็นรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

พอผมได้ยินโครงการนี้ก็รู้สึกได้ว่าคงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อช่วยด้านการประหยัดพลังงานเท่าไรนัก แต่คงเพื่อช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ซบเซามาตั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาเสียมากกว่า

พอดีได้อ่าน Working Paper ของ Christopher Knittel จาก University of California, Davis โดยในงานเขียนนี้มีการประมาณค่ากว้างๆ ของต้นทุนในการลดการปลดปล่อย CO2 จากโครงการ CfC ซึ่งในตอนต้นผู้เขียนก็ได้กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการดังกล่าว คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้เขียนได้ประมาณการต้นทุนของการลด CO2 แบบคร่าวๆ จากค่าเฉลี่ยของอัตราการกินน้ำมันของรถเก่าและรถใหม่ และระยะทางที่รถทั้งสองกลุ่มจะถูกใช้งาน ส่วนตัวแปรที่จะใช้กำหนดขอบเขตของต้นทุนก็คือ ระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลาย (ถ้าไม่มีโครงการนี้)

โดยหากว่าระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลายยาว หมายความว่าโครงการนี้ลดปริมาณ CO2 ไปได้มาก ต้นทุนการลด CO2 ก็จะถูกลง แต่หากว่ารถจะถูกนำไปทำลายในอีกไม่กี่ปี ต้นทุนการลด CO2 ก็จะสูง เพราะว่าถึงไม่มีโครงการนี้อีกไม่นานรถคันนี้ก็ไม่อยู่ในท้องถนนในอีกไม่กี่ปีอยู่ดี (การลดใช้น้ำมันก็ทำได้ไม่มาก)

ต้นทุนต่ำสุดที่คำนวณได้ก็คือ 237 $/ตันของ CO2 โดยตัวเลขนี้ได้รวมผลประโยชน์ที่ได้รับจากมลพิษที่ลดลง (รถใหม่ปล่อยของเสียลดลง เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์) เทียบกับค่าเฉลี่ยของ CO2 ที่ซื้อขายในตลาดยุโรปในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ราวๆ 25 ปอนด์ต่อตัน ซึ่งถ้าแปลงเป็นดอลลาร์ก็ประมาณ 35 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นทางเศรษฐศาสตร์ เช่น เรื่องของ Rebound effect* ซึ่งก็คล้ายๆ กับ Price Effect ที่ใช้โดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ (Rebound effect หรือ take-back effect เป็นคำที่มักใช้กับด้านการใช้พลังงาน) ซึ่งประเด็นก็คือ เมื่อคนมีรถใหม่ใช้ซึ่งประหยัดน้ำมันมากขึ้นเท่ากับว่าต้นทุนในการเดินทางรถลง ก็จะทำให้คนเดินทางมากขึ้น และประเด็นของ Adverse Selection ซึ่งก็คือว่าคนนำรถที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้มาเปลี่ยน (ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของการลดใช้น้ำมัน)

สำหรับผมคิดว่านโยบายนี้ดีแน่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์เพราะสามารถระบายสต๊อกไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่อ่านเจอพบว่าขายรถใหม่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ถึงเกือบ 3 แสนคันในไม่กี่สัปดาห์ แต่ว่าประเด็นอื่นด้านทรัพยากรนอกเหนือจากการใช้น้ำมัน ผมไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือเปล่า ซึ่งน่าจะมีการศึกษาโดยใช้ Life Cycle Analysis ว่าความสูญเสียจากรถเก่าบางคันที่ยังไม่ได้ใช้จนคุ้มค่าแต่ว่าถูกนำไปทำลาย (ซึ่งคำว่า “ใช้จนคุ้มค่า” ในมุมมองของบุคคลและสังคมโดยรวมอาจไม่เหมือนกัน) เพราะว่าการผลิตรถคันใหม่ย่อมใช้ทรัพยากรหลายอย่างรวมไปถึงพลังงานด้วยเช่นกัน

* Rebound effect หรือ take-back effect หมายความว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ต้นทุนหรือปริมาณการใช้ต่อหน่วยลดลง ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนการใช้ต่ำลงทำให้ใช้มากขึ้น เช่น รถใหม่ๆ ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ก็สร้างแรงจูงใจให้คนขับก็ขับมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้ก็มีมาหลายร้อยปีแล้ว จาก Jevons Paradox จากหนังสือ The Coal Question ในปี ค.ศ. 1865 โดย William Stanley Jevons ซึ่งกล่าวถึงประเด็นเครื่องจักรไอน้ำของ James Watt ที่มีประสิทธิภาพการใช้ถ่านหินสูงขึ้น ซึ่งแทนที่จะทำให้การใช้ถ่านหินลดลงกลับเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนต่ำลง

อ้างอิง Christopher R. Knittel, "The Implied Cost of Carbon Dioxide under the Cash for Clunkers Program" (August 2009) http://www.ucei.berkeley.edu/PDF/csemwp189.pdf

Wednesday, July 15, 2009

สั่งสอนด้วยความกลัว

ในช่วงสองสามปีมานี้บทสนทนาส่วนใหญ่ของผมเวลาโทรศัพท์คุยกับแม่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับหลานสาว ชื่อ ใจใส ซึ่งใจใสเป็นหลานคนแรกของครอบครัว ทุกคนก็เป็นมือใหม่กันหมด พ่อกับแม่ของผมก็เป็นปู่กับย่ามือใหม่ พี่ชายกับพี่สะใภ้ก็เป็นพ่อแม่มือใหม่ ผมกับพี่สาวก็เป็นอามือใหม่ ตอนนี้ใจใสอายุเกือบสามขวบแล้ว และก็เริ่มไปโรงเรียนแล้ว ก็นับว่าเร็วเหมือนกันเพราะก็ยังไม่สามขวบเต็มดี

ยิ่งหลานโตขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเรื่องให้คุยมากขึ้นเท่านั้น เพราะรู้เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่ผมกลับเมืองไทยไปเยี่ยมบ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้อยู่กับหลานหลายวัน ทำให้รู้สึกได้ว่าเด็กเดี๋ยวนี้รู้มากขึ้นจริงๆ ไม่เฉพาะหลานของผม แต่เด็กคนอื่นๆ ที่ได้เจอก็เป็นลักษณะเดียวกัน

มีคราวหนึ่งแม่ก็บอกว่าตอนนี้ใจใสเริ่มดื้อแล้ว ต้องเริ่มตีแล้ว เพราะคนอื่นๆ ที่เลี้ยงไม่มีใครตี มีคุณย่าที่ดุที่สุดแล้ว แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่แม่เล่าว่าใจใสบอกว่า “คุณย่าตีมาเลย ตีให้เจ็บๆ นะ” คาดว่าใจใสคงรู้ว่าไม่มีใครอยากตีใจใส ก็เลยท้าให้ตี ผมคิดว่าทางพี่ชายก็คงไม่สนับสนุนเรื่องการตีเท่าไหร่ แต่ทว่าการสั่งสอนด้วยการใช้เหตุผลสำหรับเด็กอายุน้อยขนาดนี้ก็คงต้องใช้ความพยายามสูงอยู่เหมือนกัน

ผมก็เลยลองคิดย้อนกลับไปในวัยเด็กๆ คิดว่าผมเป็นลูกที่ถูกตีบ่อยที่สุด เพราะซนมากๆ เป็นลูกคนเล็กที่ทำของในบ้านเสียได้แทบจะทุกวัน ถ้ามีอะไรแตกหักชำรุดส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือผมนี่แหละ คือโดนตีแต่ก็ยังดื้อได้ทุกวัน เป็นพวกดื้อเงียบ ไม่โต้ไม่เถียง แต่ไม่ทำตาม และเป็นคนที่ไม่ค่อยขยันถ้าไม่ใช่เรื่องที่ชอบทำหรืออยากทำจริงๆ ก็ต้องให้แม่จ้ำจี้จำไชอยู่ตลอดเวลา (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นนะ แต่ก็พยายามหาแรงบันดาลใจปลอมๆ มาหลอกจิตใต้สำนึกในเรื่องที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่อยากทำ) แต่ว่าพอโตขึ้นและฟังเหตุผลรู้เรื่องก็ไม่โดนตีแล้ว

คิดย้อนไปตอนนั้นถ้าตอนเด็กๆ ไม่โดนตีนี่คงจะเหลวไหลมากๆ อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า การลงโทษด้วยการตี มันดีหรือไม่ดี จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถคิดในเชิงของเหตุผลได้อย่างชัดเจน และถ้าตอนเด็กๆ พ่อแม่สอนด้วยเหตุผล ผมจะฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่าๆ (จริงๆ ตอนถูกตีก็รู้เหตุผลที่โดนตี ว่าสิ่งที่ทำมันไม่ดีอย่างไร แต่การควบคุมตัวเองในตอนเด็กๆ ทำได้ลำบากมาก)

จากเรื่องระดับครอบครัวมาสู่ระดับสังคม สิ่งที่ผมพอจะเทียบเคียงได้กับการสั่งสอนด้วยการตี ก็คือการสังสอนให้กลัว “บาป” จำได้ว่าตอนเด็กๆ ทำอะไรหลายอย่างก็ถือว่าเป็นบาปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบหนังสือ พูดคำหยาบ ไม่ล้างเท้า เจอพระแล้วไม่ไหว้ ไม่ตั้งใจเรียน เหยียบมด หรือบางทีทิ้งขยะก็บาป เพราะตอนเด็กไม่ค่อยมีใครที่จะพยายามอธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่ทำผิดมีผลกระทบต่อเนื่องไปอย่างไร

“บาป” กลายเป็นเหมือนบทลงโทษที่สามารถนำไปใช้ได้เกือบทุกกรณีที่ทำผิด ความไม่สบายใจจากการที่ทำผิดก็มีเพียงความเกรงกลัวบาป กลัวตกนรก แต่อาจไม่ได้มีจิตใจคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่แท้จริงจากการทำผิด เพราะจริงๆ แล้วผมคิดว่าเวลาเราทำสิ่งใดที่ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่ดี ผลกระทบที่ลงโทษเราก็คือการขาดสันติในจิตใจ มิใช่บาปหรือนรก อย่างไรก็ตามการใช้บาปเป็นเครื่องมือในการลงโทษนั้นทำได้ง่ายและสะดวก เรียกว่าเข้าถึงใจคนง่ายกว่าเหตุผลที่ซับซ้อนอื่น

อย่างไรก็ตามพอมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่คนบางคนพอจะรู้ได้ว่า ผลจากบาปมันไม่ส่งผลเสียที ก็ทำให้ความกลัวที่ว่าทำ “ผิด” แล้ว “บาป” และบทลงโทษทางใจจาก “บาป” จึงไม่ส่งผลต่อคนๆ นั้นอีกต่อไป และเมื่อในอดีตบทลงโทษทางจิตใจที่ผ่านมามีเพียงอย่างเดียว คือ ความกลัวบาป ก็ทำให้การทำผิดไม่มีผลต่อจิตใจของคนๆ นั้นอีกต่อไป

เคยอ่านการ์ตูนเรื่อง “ครอบครัวตัว ฮ.” มีตอนหนึ่งกล่าวถึงโคเทซึซึ่งเป็นตัวนำในเรื่อง (ไม่ใช่เคอิโงะที่ตามหาพ่อนะ ได้ข่าวว่าจะออกเทปด้วย -*- ) โดยแม่ของโคเทซึพยายามที่จะหาทางสอนคณิตศาสตร์ให้กับลูก ที่ไม่สนใจเรียนและไม่เข้าใจการบวกลบคูณหาร ก็เลยสอนโดยใช้เปลือกส้มมาฉีกเป็นชิ้นๆ เพื่อสาธิตการบวกลบเลข ซึ่งโคเทซึก็ชอบเพราะมันเข้าใจง่าย อีกวันหนึ่งจะมีการสอบคณิตศาสตร์ โคเทซึก็เลยแบกส้มไปลังหนึ่งเพื่อใช้ประกอบการสอบ ข้อแรกๆ ก็ยังพอทำได้เพราะเลขมันไม่เยอะ ก็พอนับเปลือกส้มได้ แต่พอข้อหลังๆ ประมาณว่า สองพันกว่าบวกหนึ่งพันกว่า คราวนี้ส้มไม่พอ ก็เลยต้องเอายางลบ กระเป๋านักเรียน มาหั่นเป็นชิ้นเพื่อจะนับให้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมอ่านแล้วก็ฮามาก

ตัวอย่างนี้ก็คงเหมือนกับการสั่งสอนด้วยความกลัว มันใช้แก้ปัญหาในบางประเด็นได้ แต่ก็คงไปได้ไม่ไกล เมื่อความซับซ้อนของปัญหามันเพิ่มมากขึ้น และหากบุคคลหรือสังคมได้รับการฝึกฝนในด้านความรับผิดชอบและการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อนที่จะทำอะไรลงไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะพัฒนาได้สูงขึ้นได้มากว่าผลของความกลัวเพียงอย่างเดียว

Wednesday, May 13, 2009

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอน ทำไมพวกนี้ไม่สูญพันธุ์

หัวข้อเรื่องนี้เหมือนชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาที่เคยอ่านสมัยมัธยม ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและทำให้รู้ถึงวิถึีชีวิตของคนไทยสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อน แต่ว่าบทความนี้ไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือที่กล่าวมาข้างต้นเลย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเวบไซด์ “หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีหนังสือเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่หลายเล่ม สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ pdf ไฟล์

ลองดาวน์โหลดมาอ่านดูแบบเร็วๆ สองสามเล่มก็รู้สึกว่าน่าสนใจดี และคิดว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราน่าจะรักษาไว้ ถ้ารัฐบาลใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งทางด้านนี้ก็น่าจะดี โดยจ้างคนมาแสกนหนังสือเก่าๆ ตามหอสมุดแห่งชาติเพื่อเก็บในรูปไฟล์ภาพ หรือ pdf เพื่อรักษาเนื้อหาในหนังสือไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา จากสภาพทางกายภาพของหนังสือที่จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

หนังสือเล่มแรกที่ผมลองดาวน์โหลดมาอ่านดูก็คือ “วัฒนธรรมแห่งชาติและระเบียบการแต่งกาย” โดย คณะกรมการจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งพิมพ์แจกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นช่วงรัฐนิยม สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในบทนำของหนังสือเล่มนี้ มีบทหนึ่งที่ขอความร่วมมือให้คนไทย ละเว้นการกระทำต่างๆ ดังนี้

1.ไม่ช่วยเหลือหรือให้เกียรติยศแก่สตรีเพศ หรือคนป่วย คนชรา ตามสมควร
2.สูบบุหรี่ในที่ซึ่งรู้แล้วว่าอาจจะเกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น
3.แย่งกันซื้อบัตรเข้าดูมหรสพ โดยไ่ม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง
4.เขียนชื่อตนลงในสภานที่สำคัญของชาติ เช่น โบราณสถาน เพื่อหวังเพียงให้ชื่อของตนปรากฎในที่นั้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะึพึงมีแก่สิ่งสำคัญของชาติ
5.ทำลายสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ลอบลักถอดหลอดไฟฟ้าที่ใช้จุดให้แสงสว่างแก่ประชาชน
6.เห็นแก่ความสนุกในการทำลายสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น ทำอันตรายแก่ป้ายบอกชื่อถนน
7.เห็นแก่ความสนุกส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เช่น ลอบเจาะยางรถยนตร์
8.เห็นความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นความเพลิดเพลินเบิกบานของตัว เช่น เวลาเิกิดอัคคีภัย มักไปยืนดู หรือเอารถยนตร์ไปจอดดูเล่นอย่างสนุกสนาน จนเป็นที่กีดขวางแก่เจ้าหน้าที่่ที่จะทำการดับเพลิง

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาเมื่อเกือบ “เจ็ดสิบปี” ก่อน แต่จากความรู้สึกของผมแล้ว คนบางคนในปัจจุบันก็ยังมีนิสัยเสียอย่างที่กล่าวมาไว้ขั้นต้น อีกทั้งมีพฤติกรรมแย่ๆ ที่เลวร้ายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีระบบระเบียบซับซ้อนขึ้น

แม้ว่าช่องทางการสื่อสารหรือเผยแพร่ในสมัยก่อนจะไม่กว้างขวางและครอบคลุมดังเช่นปัจจุบัน แต่ว่าการสั่งสอน บอกกล่าวต่อกันมาเป็นหลายสิบปีก็น่าจะทำให้คนพวกนี้สูญพันธุ์ไปบ้าง แต่ว่าในปัจจุบันเราก็ยังเห็นอยู่แม้อาจจะไม่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้เราได้ไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การไร้มารยาทในการขับขี่ การแซงคิว

ผมไม่รู้ว่าคำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ถูกเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ว่าก็อยากให้มันหมดไปในรุ่นของเราในปัจจุบัน (30+ :P ) หวังว่าถ้าครอบครัวและโรงเรียนช่วยกันกวดขันอย่างจริงจัง และผู้ใหญ่ช่วยสร้างบรรทัดฐานที่ดีแก่สังคม พวกที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ ไร้ความเกรงใจ มักง่าย และเห็นแก่ตัวจะได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยมากๆ และน่าจะสูญพันธุ์ไปเสียที

อ้างอิง: http://library.tu.ac.th/newlib2/newweb/rarebook/rarebook.html

Sunday, April 26, 2009

ความหมายในรูปถ่าย

ผมเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “รูปหนึ่งรูปความหมายเทียบเท่ากับคำเป็นพันๆ คำ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้เกินความเป็นจริงไปเลย และรูปหนึ่งรูปกับคนหนึ่งคน ก็อาจมีความหมายต่างจากพันๆ คำของคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ได้ดูรูปเดียวกัน

.........

สองวันก่อน และวันนี้ (๒๖ เมษายน ๒๕๕๒) ได้มีโอกาสไปถ่ายรูปกับเพื่อน และพี่ๆ ที่จบการศึกษา ซึ่งวันนี้ก็นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในชีวิต หลังจากที่ลำบากตรากตรำกันมานาน วันนี้เป็นวันที่แสดงให้ทั้งผู้จบการศึกษาเองและคนอื่นๆ ได้เห็นถึงผลของความพยายามที่ผลิดอกออกผลให้ชื่นชม

นอกจากนั้นการถ่ายรูปเพื่อแสดงความยินดีกับเพื่อนฝูงหรือคนสำคัญของเรา ยังแสดงถึงความรู้สึกร่วมต่อความสำเร็จ และจุดเริ่มต้นสำคัญอีกจุดหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานจบการศึกษา งานแต่งงาน หรือแม้แต่งานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ

วันนี้ในขณะที่ผมถ่ายรูปกับเพื่อนๆ อยู่ ก็เห็นบัณฑิตชาวต่างชาติ คาดคะเนด้วยสายตาแล้วก็น่าจะอายุประมาณสี่สิบกว่าปี ที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป ก็คือเธอคนนี้จูงสุนัขมาด้วย เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีดำ ซึ่งเธอคนนี้ตาบอด และสุนัขตัวนั้นก็คือสุนัขนำทางของเธอนั่นเอง

เธอก็มาถ่ายรูปเหมือนบัณฑิตคนอื่นๆ ทั่วไป มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาร่วมยินดีด้วย ซึ่งความรู้สึกหลายอย่างก็เกิดขึ้นในจิตใจผมเมื่อได้เห็นเธอคนนี้ อย่างแรกก็คือรู้สึกยินดีกับเธอด้วย ที่แม้ว่าเธอจะมีความพิการทางสายตา แต่ก็สามารถฟันฝ่าจนจบการศึกษามาได้

ความรู้สึกที่ได้เห็นเธอตอนถ่ายรูปนั้น รูปแรกเธอถ่ายคู่กับสุนัขนำทางของเธอ ซึ่งสีหน้าเธอมีความสุข และเจ้าสุนัขตัวนั้นก็นั่งอยู่ข้างๆ เธออย่างเรียบร้อย ในความรู้สึกของผมต่อภาพที่เห็นนั้นเหมือนกับรูปที่เธอถ่ายกับเพื่อนคู่ทุกข์คู่สุข ซึ่งมีส่วนร่วมของความสำเร็จของเธอเช่นกัน ส่วนรูปอื่นๆ เธอก็ถ่ายกับคนที่มาร่วมแสดงความยินดีกับเธอ หน้าตาของทุกคนในรูปถ่ายมีความสุข

ผมคิดว่าเธอคงไม่มีโอกาสที่จะได้มองเห็นรูปถ่ายเหล่านั้น ที่เธอถ่ายกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และเจ้าสุนัขเพื่อนยาก ผมก็มีความรู้สึกสุขระคนเศร้าบ้างที่คนในรูปถ่ายเองไม่มีโอกาสได้เห็นว่าภาพที่ถ่ายออกมาเป็นอย่างไร รูปของเธอในชุดครุยสวยแค่ไหน แต่ว่าผมรู้สึกได้ว่าเธอมีความสุขกับการถ่ายรูป จากรอยยิ้มของเธอที่จะปรากฎในรูปเหล่านั้น...

สิ่งที่เห็นเหล่านั้นทำให้ผมได้คิดว่าความหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งในรูปถ่ายนั้นคือ ความระลึกถึง ... ไม่ใช่การระลึกถึงตัวเราเองอย่างเดียว แต่เป็นความระลึกถึงสถานที่ และระลึกถึงคนสำคัญที่มีความรู้สึกร่วมกันในเหตุการณ์ต่าง ไม่ว่าจะใหญ่ หรือเล็ก สุขหรือเศร้า

บางทีความหมายของภาพถ่ายนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าภาพนั้นมีลักษณะอย่างไร สวย คมชัดแค่ไหน แต่ว่าความหมายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ความตั้งใจ และความรู้สึกที่ก่อให้เกิดภาพนั้นขึ้นมา

รูปถ่ายบางรูปถ้ามองด้วยตาแต่ไม่ได้สัมผัสด้วยใจ ไม่มีความระลึกถึง เรื่องราว บุคคล รูปถ่ายนั้นมันก็คงไม่มีความหมาย เหมือนคำว่า “บอดที่ใจมองไปเท่าไรไม่เห็นความงาม” จากเพลง “ต้นชบากับคนตาบอด” ของวงเฉลียงนั่นเอง

ขอแสดงความยินดีกับเพื่อน และพี่ๆ ที่จบการศึกษาครับ

Wednesday, April 8, 2009

จำ

ประมาณสองอาทิตย์ก่อนได้ดูรายการ Nightline ของสถานี ABC ซึ่งได้นำเสนอเรื่องของคนที่มีความจำพิเศษต่อเรื่องราวในอดีต (Super autobiographic memory) ซึ่งมีความสามารถในการจดจำเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำเหมือนถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ เพียงแค่บอกวันที่ เขาก็จะบอกได้ว่าวันนี้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งในประเทศสหรัฐฯ พบบุคคลที่มีความสามารถนี้นับถึงขณะนี้มีจำนวน 4 คน

น่าสนใจว่าคนเหล่านี้ 3 ใน 4 ถนัดซ้าย อีกหนึ่งคนก็มีแนวโน้มที่จะถนัดซ้ายแต่ใช้มือขวาเขียนหนังสือ และคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คนเหล่านี้เป็นคนที่ชอบเก็บสิ่งของ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยคนเหล่านี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องลึกลับที่คนจะมีความสามารถในการจดจำได้ขนาดนี้ ราวกับว่าความทรงจำนั้นมีความจุที่ไม่จำกัดก็ว่าได้

.................................................

จริงๆ แล้วผมว่าเราทุกคนก็มีความทรงจำประเภทนี้ เพียงแต่ว่าเราจะจำเรื่องที่มีความสำคัญต่อเราเท่านั้น แต่บุคคลพิเศษที่กล่าวถึงนั้น เขาจดจำทุกเรื่องราว เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับคนรอบข้าง

สำหรับคนเหล่านี้ผมคิดว่ามันคงเหมือนกับกล้องวีดีโอที่ถ่ายภาพเก็บไว้โดยอัตโตมัติ ในสมองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ต่างจากการท่องจำที่เราเคยชินมาตั้งแต่เด็ก ที่บังคับให้จำลงในสมองให้ได้ ซึ่งก็มีคนที่มีความสามารถพิเศษด้านนี้ที่เราเคยได้พบตามข่าวเช่นกัน อย่างเช่น จำเบอร์โทรศัพท์ได้หลายร้อยเลขหมาย

การที่มีความสามารถจำรายละเอียดของทุกเหตุการณ์ได้ ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์หรือสุขให้กับชีวิตกันแน่ ก็คงขึ้นอยู่กับว่า “จำ” ได้ในเรื่องใด

เมื่อลองเปิดพจณานุกรมดู คำว่า “จำ” นั้นมีหลายความหมาย ความหมายแรกก็คือ การระลึกได้ แต่อีกความหมายถัดมาก็คือ การลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ล่ามเอาไว้ เช่น การจำคุก เมื่อกล่าวถึงความทรงจำแล้ว ผมว่ามันก็มีความหมายทั้งสองแบบ อย่างแรกก็คือ ความทรงจำทำให้เราระลึกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และอย่างที่สองก็คือ เราก็ถูกจองจำไว้กับเหตุการณ์นั้น ผูกติดความคิดไว้กับเรื่องราวนั้นๆ

.............................................

จำได้ว่าตอนนัดพบกับเพื่อนตอนมัธยมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทุกคนซึ่งไม่ได้เจอกันนานต่างยกแต่เรื่องเก่าๆ ขึ้นมาคุยกัน จนเพื่อนคนนึงก็บอกว่า “พวกเราคงแก่แล้ว เพราะคุยกันแต่เรื่องเก่าๆ แต่ถ้าถึงขนาดจำกันไม่ได้ว่าจะคุยกันเรื่องอะไรเนี่ย แสดงว่าแก่มากๆ แล้ว”

เคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง คือ Mushishi ในตอนหนึ่งที่มีบทสนทนาที่ประทับใจผม ซึ่งมีเนื้อหาประมาณว่า “การลืมเรื่องบางเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่เจ็บปวด แต่ที่เจ็บปวดก็คือการที่เราจำไม่ได้ว่าเราได้ลืมอะไรไปบ้าง”

อ้างอิง http://abcnews.go.com/Nightline/story?id=7075443&page=1

ปล. ได้อ่านข่าวเมื่อหลายปีก่อนเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษในการจำหมายเลขโทรศัพท์ได้หลายร้อยเลขหมาย ซึ่งหน้าข่าวนี้มีช่องที่ให้พิมพ์แสดงความคิดเห็น ก็มีรายหนึ่งพิมพ์ว่า “วันเกิดเมีย กูยังจำไม่ได้เลย....ลงชื่อ ผัวเลว”

Wednesday, April 1, 2009

พลาด พลาด พลาด

วันนี้ตั้งใจว่าจะตัดผม โดยใช้แบตตาเลี่ยนที่เคยใช้ตัดประจำ ซึ่งจะมีคลิปที่กำหนดความยาวผมมาด้วย ตัดไปตอนแรกๆ ก็โอเคอยู่ แต่รู้สึกว่ามันจะฝืดๆ ก็เลยถอดคลิปออก แล้วหยอดน้ำมัน
ปรากฎว่าลืมใส่คลิปเข้าไป ก็เลยโกนด้วยแบตตาเลี่ยนเปล่าๆ ไปครึ่งหัว ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยเพราะว่ากลางหัวพอดี เลยต้องจำใจโกนหมดทั้งหัวไปเลย เป็นข้อเตือนใจอย่างดีว่าทำอะไรควรจะมีสติ

Tuesday, March 31, 2009

ท้องอืด

สองสามวันที่ผ่านมามีอาการท้องอืด ทรมานและรำคาญมากเพราะว่ารู้สึกอึดอัด วันทั้งวันกินอาหารไปนิดเดียวแต่ก็ไม่รู้สึกหิวข้าวเลย คาดว่าสาเหตุคงมาจากวันหนึ่งที่กินข้าวเย็นเสร็จแล้วไปนอนเล่นเกิดเผลอหลับไปสองสามชั่วโมง ตื่นมาก็รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย

ก็กินยาไปหลายขนานไม่ว่าจะเป็นยาไทย เช่น ยาธาตุ หรือยาฝรั่ง เช่น อีโน และยาที่ซื้อที่นี่ที่คล้ายยาธาตุน้ำขาว ที่ฉลากมีเขียนไว้ว่าแก้ได้สารพัดทั้งลดกรด ท้องอืด และท้องเสีย แต่ผมชอบที่เขียนไว้ว่าแก้อาการ “upset stomach” คือ อ่านแล้วมันเห็นภาพเลยว่ามัน น่าผิดหวังจริงๆ

ท้องอืดก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยหิว ก็ไม่ค่อยได้กินอะไรเท่าไหร่ กินแต่พวกย่อยง่ายๆ เหมือนว่าต่อมส่งความหิวมันหายไปซะงั้น คุยกับอาจารย์ที่อยู่ห้องติดกัน แกก็แนะนำให้ซื้อพวกยาลดกรดมากิน แกบอกว่าถึงวัยแล้วล่ะ ที่จะเกิดกรดไหลย้อน เพราะหูรูดกระเพาะมันปิดไม่สนิท

ลองหาข้อมูลในเนทก็พบว่าก็พบว่าเป็นอาการปกติของคนอายุมาก ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเราก็อายุมากพอสมควรแล้ว แต่เนื่องจากใจยังเด็ก (โม้นิดหน่อย) จึงไม่ค่อยคิดว่าตัวเองอายุมากขึ้นทุกวัน ต้องรอสังขารมาเตือน อย่างเช่นอาการท้องอืดเป็นต้น

ตอนเด็กๆ ก็เป็นไม่ค่อยบ่อยเท่าไหร ที่จำได้แม่นๆ ก็คือช่วงตรุษจีน ตอนนั้นท้องอืดเนื่องจากกินขนมเทียนมากเกินไป ซึ่งมูลเหตุมาจากการที่ผมต้องการกินขนมเทียนไส้หวาน แต่ว่าเปิดใบตองมาทีไรก็เจอแต่ไส้เค็ม ในเมื่อแกะออกมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ กินไส้เค็มไปเกือบสิบอัน ก็ยังไม่เจอไส้หวานเสียที มารู้ตอนหลังว่าในถาดนั้นมีแต่ใส้เค็ม เมื่อกินเข้าไปเยอะขนาดนั้น ก็ท้องอืดตามคาด เป็นข้อเตือนใจว่าการจะเลือกซื้อเลือกกินอะไรที่มองไม่เห็นและไม่สามารถชิมได้ เช่น ขนมเทียน และแตงโม มีความเสี่ยงเสมอที่จะได้ไส้เค็ม และไส้ล้ม (ในกรณีของแตงโม)

ทุกทีเวลาที่ผมป่วยนั้น ผมจะรู้สึกว่าการมีอาการที่เป็นปกติธรรมดานั้นเป็นความสุขที่สุดและเป็นความโชคดีที่สุดแล้ว ซึ่งในที่สุดแล้วสุภาษิตที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นเป็นเรื่องจริงอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่พอหายป่วยแล้วก็มักจะลืมความคิดเหล่านี้ไปหมดสิ้นและใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังทุกที

Saturday, March 28, 2009

เล็บยาว

ผมไม่รู้ว่าเล็บของเรานับเป็นหนึ่งในอวัยวะหรือเปล่า แต่ที่รู้มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมี่มีความสำคัญมากทีเดียวเลย เวลาที่ไม่มีเล็บจะรู้สึกแปลกๆ การไม่มีเล็บที่ได้ประสบมาก็คือเล็บหักไปครึ่งนึง อันเนื่องมาจากเท้าโดนของทับจนห้อเลือดแล้วเล็บมันก็ค่อยๆ เปื่อยแล้วหักหลุดออกไปครึ่งนึง

นอกจากนี้เล็บยังทำให้เกิดความเสียวได้ โดยเฉพาะเวลาที่เอาไปขูดกับกระดานดำ เพียงแค่นึกก็เสียวแล้ว ไม่รู้กลไกที่ทำให้เกิดความเสียวได้นี้มันเกิดจากอะไร ผมว่ามันคงเป็นที่รวมเส้นประสาทที่สำคัญส่วนหนึ่งเลยทีเดียว แค่นึกถึงวิธีการทรมานนักโทษสมัยโบราณที่เอาเหล็กมาตอกเล็บ คิดว่าคงเจ็บปวดสุดๆ เลยทีเดียว

สำหรับผมนั้นไม่ชอบไว้เล็บยาวเท่าไหร่ วันเสาร์จะเป็นวันประจำสัปดาห์สำหรับการตัดเล็บซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว ตัดเล็บสัปดาห์ละครั้งผมว่ากำลังดี เล็บจะยาวประมาณ ๑ – ๒ มิลลิเมตร ซึ่งผมว่ามันยาวได้ที่พอดี ส่วนเล็บเท้าก็ประมาณสองสามอาทิตย์ครั้ง ซึ่งจะยาวเพียงพอให้ตัดอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (๒๕๕๑) ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย พบว่าหลายๆ อย่างทั้งคน และสิ่งของก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไป รวมถึงหมาบางแก้วทั้งสามตัวที่เลี้ยงไว้ด้วย ก็แก่และโทรมลงไปเยอะ ตัวที่แก่สุดสองตัว คือ โจกับดี้ ก็อายุ ได้ ๑๔ ปีแล้ว ส่วนเจ้าจอห์นก็อายุได้ ๙ ปี

โจซึ่งเป็นหมาตอนที่อ้วนตั้งแต่ก่อนโดนตอนก็โทรมไปเยอะ ขนร่วงทั้งตัว ส่วนจอห์นก็โทรมไปเยอะเช่นกันและก็เฉื่อยไปมาก นอนทั้งวัน ส่วนเจ้าดี้ก็ยังดูปกติดีแต่ว่าสายตาค่อนข้างแย่แล้ว มองอะไรไม่ค่อยเห็น สำหรับเจ้าหมาเฉื่อยสองตัวนั้น ลักษณะร่วมที่เห็นก็คือ เล็บยาวมาก ยาวออกมาประมาณสองสามเซนติเมตรได้
แม่ก็บอกว่ามันไม่ค่อยเดิน นอนทั้งวัน เล็บมันเลยยาว และเวลาจะตัดเล็บมันก็ไม่ค่อยยอม ทั้งสองตัวเลย โดยธรรมชาติแล้วบางแก้วจะขี้ระแวง แต่สองตัวนี้อาการหนักทำอะไรกับมันไม่ค่อยได้เลย จริงๆ ก็เคยตัดเล็บให้มันแต่ก่อน บางทีก็พลาดไปเลือดสาดเลย ไม่รู้จะเป็นสาเหตุที่มันระแวงหรือเปล่า เวลาพาไปฉีดยาทีนึงก็ต้องให้หมอช่วยตัดเล็บให้ แปลกดีเหมือนกันเวลาพาหมาพวกนี้ไปหาหมอมันจะกลัวหมอโดยอัตโนมัติ ไม่รู้เพราะอะไร

ตอนเด็กหมาพวกนี้มันวิ่งกันทั้งวัน ขุดโน่นขุดนี่จนสนามเละไปหมด เล็บมันก็เลยไม่มีโอกาสได้ยาว พอมันเริ่มนอนทั้งวัน ก็เลยไม่ค่อยได้ใช้เล็บ มันก็เลยยาว ซึ่งทำให้ผมนึกถึงสำนวนไทยที่เรียกว่า “สันหลังยาว” ที่ใช้เรียกคนขี้เกียจ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าสำนวนนี้มีที่มาอย่างไร รวมถึง “ขี้เกียจตัวเป็นขน” ด้วย

Tuesday, March 17, 2009

ไข่แฝด

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาทำกับข้าวทาน โดยวันก่อนทำผัดหมี่ใส่ใข่ และเช้าวันนี้ทอดไข่ดาว โดยในสองมื้อดังกล่าวที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ มีเรื่องบังเอิญก็คือทั้งสองมื้อนั้นไข่ที่นำมาใช้เป็นไข่แฝดทั้งสองวัน ซึ่งไข่โหลนั้นที่ผมซื้อมามีไข่แฝดอยู่ถึงสองใบ ซึ่งนานๆ จะเจอไข่แฝดซักที แต่ไข่แดงของไข่แฝดมีขนาดเล็กกว่าไข่แดงของไข่ปกติอยู่พอสมควร

ขนาดของไข่โหลนั้นที่ซื้อมาเป็นขนาดใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า jumbo แต่จริงๆ ขนาดของไข่เท่าที่เห็นก็มีแต่ large, extra large แต่เท่าที่ดูชั้นวางของร้านที่ซื้อประจำไม่ยักกะเห็นไข่ที่เรียกว่า small ซักที คิดว่าการเรียกไข่ว่าเป็น “ขนาดเล็ก” คงไม่จูงใจผู้ซื้อเท่าไหร่ หรือไม่ไข่ขนาดเล็กก็คงไม่มีคนซื้อเท่าไหร่เลยไม่ได้เอามาขาย

Host unlimited photos at slide.com for FREE!

ในสหรัฐมีการกำหนดขนาดไข่ไก่ที่ขายไว้ 6 ขนาด โดย jumbo เป็นขนาดใหญ่ที่สุด และ peewee เป็นขนาดเล็กที่สุด* ซึ่งเท่าที่ค้นดูจาก google ก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในไทยเช่นกัน แต่ในไทยจะใช้เป็นเบอร์ 0 – 5 โดยเบอร์ 0 เป็นขนาดใหญ่ที่สุด

ไข่แฝดจะมีขนาดใหญ่กว่าไข่ปกติ การซื้อไข่ขนาดใหญ่จะทำให้มีโอกาสเจอไข่แฝดได้มากกว่า ฟองที่ผมเจอดูต่างจากไข่ปกติตรงที่ลักษณะฟองดูยาวรีกว่าไข่ทั่วไป การเกิดไข่แฝดเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก โดยในกระบวนการสร้างไข่ของแม่ไก่ ได้สร้างไข่แดงขึ้นมาพร้อมกันสองใบ แต่ว่าสิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือ ไข่ที่เป็นไข่แฝดสามารถถูกฟักออกมาเป็นตัวได้ เนื่องจากขนาดของไข่ไม่เพียงพอสำหรับลูกไก่สองตัวจะใช้ชีวิตอยู่ได้ **

พอดีไปเจอเรื่องไข่แฝดจากเว็บ newscientist.com ซึ่งกรณีนี้แปลกมากก็คือ มีไข่ทั้งใบอยู่ในไข่อีกใบหนึ่ง ซึ่งกรณีเกิดขึ้นยากกว่าไข่แฝดปกติ โดยเกิดเมื่อไข่ฟองแรกที่ได้ถูกหุ้มด้วยแคลเซียมแล้ว ไหลย้อนกลับไปติดกับอีกฟองซึ่งอยู่ในกระบวนการสร้างเปลือกขึ้นมาหุ้มไข่ ทำให้เปลือกนั้นหุ้มไข่ฟองแรกเข้าไปด้วย ***

Host unlimited photos at slide.com for FREE!


ปล.
- ผมก็พึ่งรู้มาไม่นานนี้ว่าส่วนของไข่ที่เติบโตเป็นลูกไก่นั้น ไม่ใช่ไข่แดง แต่เป็นไข่ขาว ไข่แดงเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนเท่านั้น ถ้าสังเกตดีๆ เวลาตอกไข่เราจะเห็นจุดขาวๆ บนไข่แดง นั่นคือส่วนที่จะโตเป็นลูกไก่ต่อไป
- รูปไข่แฝดมาจากเว็บ (4) และ (3) ตามลำดับ

อ้างอิง
(1) http://en.wikipedia.org/wiki/Egg_(food) *
(2) http://pods.dasnr.okstate.edu/docushare/dsweb/Get/Document-2098/ANSI-8402web.pdf **
(3) http://www.newscientist.com/blog/lastword/2007/03/twin-chicks.html ***
(4) http://farm4.static.flickr.com/3260/2602063070_74af2256b6.jpg

Monday, March 2, 2009

นายศุลกากรชื่อ Adam Smith

เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านหนังสือเกี่ยวกับ History of Economics Thought เล่มที่ซื้อมาก็แบ่งเป็น 3 แนวคิดของ 3 บุคคลหลักๆ ก็คือ Adam Smith, Carl Marx และ John Maynard Keynes ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาก็เพราะอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ไอ้เราเรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรี ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์อย่างจริงๆ จังๆ เลย ตอนเรียนตรีวิชานี้ก็ได้ C อีกต่างหาก ตอนที่เรียนนั้นก็คงเรียนอย่างไม่เต็มใจเท่าไหร่ อ่านเพื่อทำข้อสอบเท่านั้น แต่ตอนนี้มันอยากเรียนรู้จริงๆ ก็นึกเสียดายขึ้นมา เลยต้องหามาอ่านเพื่อชดเชย

ภาคแรกของหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Adam Smith ซึ่งเป็นผู้นำปรัชญาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มาสู่โลกใบนี้ ภายใต้งานเขียนที่ชื่อว่า The Wealth of Nations ซึ่งเนื้อหาหลักโดยย่อก็คือ การใช้กลไกตลาดในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ

ก่อนหน้านี้แนวคิดของประเทศตะวันตกในการสร้างความมั่งคั่งก็คือ ลัทธิ Mercantilism ซึ่งมีความคิดว่าทรัพย์สินของแต่ละประเทศมีปริมาณคงที่ การที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ ก็โดยการแย่งชิงจากประเทศอื่น แบบพวกจักรวรรดินิยม รวมถึงการทำให้ดุลการค้าของประเทศเกินดุลมากๆ และต่อต้านการนำเข้าโดยใช้มาตรการต่างๆ

แนวคิดของสมิธคือการให้กลไกตลาดทำงาน หากสินค้าใดที่ชาติอื่นผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือมีความชำนาญมากว่า เราก็ควรจะนำเข้าจากเขา และทำสิ่งที่เราถนัด ซึ่งเป็นแนวคิดของการทำการค้าเสรี รวมถึงการแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความชำนาญในกระบวนการผลิต (ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดเดียวกับระบบสายพานที่เฮนรี ฟอร์ดได้นำมาใช้)

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตสมิธได้รับตำแหน่งเป็นนายศุลกากรระดับสูงของสก๊อตแลนด์ มีหน้าที่กวดขันการนำเข้า และจัดการสินค้าหนีภาษี ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับแนวคิดการค้าเสรีที่เป็นหลักการที่เขาสนับสนุนมาโดยตลอด เขาดำรงตำแหน่งนี้อยู่ 12 ปี และมีข่าวว่าเขาก็นำสินค้าหนีภาษี เช่น เสื้อผ้า มาใช้ส่วนตัวด้วย

ชีวิตของสมิธทำให้ผมแปลกใจไม่น้อย บุคคลผู้เรียกได้ว่าเป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ จะมีชีวิตบั้นปลายที่หักมุมไปมากจากแนวคิดที่เขาสนับสนุนมาทั้งชีวิต แต่ผมก็ไม่ได้ประหลาดใจมากเพราะสมิธก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เขาอาจจะเป็นฮีโร่หรือบุคคลสำคัญ แต่แท้จริงแล้วเขาก็คือคนธรรมดา ที่ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์อย่างในอุดมคติ

ฮีโร่ก็คือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นฮีโร่ในทุกมุม ทุกคนต่างก็มีด้านมืดด้านสว่าง บางทีคนที่เรายึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อาจทำในสิ่งที่ทำให้เราต้องผิดหวัง คนบางคนมีเบื้องหน้าที่ดีมาตลอดชีวิต แต่เบื้องหลังอาจทำสิ่งเลวร้ายที่เราคาไม่ถึง และไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง แต่เราก็ควรคิดได้ว่าเขาก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำผิดได้ ทำดีได้ ไม่ต่างจากเรา

ถึงตอนนี้เองภาพในความคิดของผม Adam Smith ก็ยังคงเป็นนักปรัชญาที่เฉียบแหลม ซึ่งนำเสนอแนวคิดทางเศรษศาสตร์ที่ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน มิใช่นายด่านศุลกากรแต่อย่างใด


อ้างอิง: The Big Three in Economics by Mark Skousen


Our heroes are people and people are flawed. Don't let that taint the thing you love.

Randy K. Milholland, Midnight Macabre, 09-27-07

Thursday, February 19, 2009

Playboy กำลังลำบาก

จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปัจจุบัน กิจการแทบทุกประเภทได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน รวมไปถึง Playboy ซึ่งเป็นกิจการด้านความบันเทิงชื่อดังของอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีผ่านมาขาดทุนไปถึง 146 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายได้หลักจากนิตยสาร รายการโทรทัศน์ และเสื้อผ้าเครื่องประดับ ได้ลดลงอย่างมาก ซึ่ง CEO คนปัจจุบันซึ่งเป็นลูกสาวของคุณลุง Hugh Hefner กำลังพิจารณาว่าจะขายกิจการซึ่งมีอายุยืนยาวมาถึง 55 ปี หรือไม่

ไม่รู้ว่าจากผลประกอบการที่ตกต่ำจะทำให้ลุง Hugh ลดปริมาณสาวๆ นับสิบในคฤหาสน์ของแกลงหรือเปล่า เพราะแค่คนสองคนก็ทำให้หนุ่มๆ ทั่วโลกตาร้อนกันแล้ว

(ที่มา The Wall Street Journal, February 19, 2009)

Tuesday, February 17, 2009

ประตูสำหรับคนพิการ

หากเราเคยสังเกตฟุตบาทในกรุงเทพฯ จะพบว่าจะมีแผ่นพื้นสำเร็จที่ปูพื้นที่มีลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ นูนขึ้นมา ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสีเหลือง ซึ่งพื้นปูแบบนี้ผมก็ไม่รู้มาก่อนเหมือนกันว่ามันใช้สำหรับคนตาบอดที่จะสัมผัสเวลาเหยียบเพื่อให้รู้ว่าเดินอยู่บนทางเท้า แต่ก็ลำบากสำหรับคนตาบอดเหมือนกันเพราะว่าทางเท้ามักจะมีพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาตั้งซะจนเต็ม ทางทีก็บังพื้นพิเศษนั้นจนมิด

เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ที่ผมได้พบเห็นมา ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการจะค่อนข้างมีพร้อม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีกำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทางลาดเพื่อขึ้นอาคารสำหรับผู้พิการซึ่งนั่งรถเข็น ที่จอดรถสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ห้องน้ำ และปุ่มกดเพื่อเปิดประตูอัตโนมัติ

ปุ่มนี้จะถูกติดตั้งไว้ก่อนถึงประตู เพื่อให้ผู้พิการกดเปิดประตู ซึ่งประตูก็จะเปิดค้างอยู่ประมาณห้าถึงสิบวินาที เพียงพอที่จะนั่งรถเข็นผ่านไป (ลักษณะเป็นเช่นในรูป)


Push-Button-on-Post-LD


สิ่งที้ผมค่อนข้างหงุดหงิดใจก็คือผมเห็นคนที่ไม่ได้พิการ ไม่ได้ถือข้าวของพะรุงพะรังจนมือไม่ว่างที่จะเปิดประตู และก็ดูแข็งแรงดี ใช้ปุ่มนั้นเปิดประตูอยู่หลายๆ ครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้มีกฎว่าคนธรรมดาห้ามใช้ แต่ว่าอุปกรณ์ทุกอย่างมีอายุการใช้งานของมัน การใช้ปุ่มนั้นเปิดบ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดการสึกหรอ รวมถึงต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนของการเปิดประตูด้วยปุ่มดังกล่าวย่อมสูงกว่าการเปิดประตูด้วยมือตามปกติ แม้ว่าจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ว่าความเสียหายดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อคนพิการโดยตรง

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเรียนมัธยม ตึกหนึ่งที่เรียนเป็นตึกห้าชั้น และทั้งตึกก็มีลิฟท์อยู่หนึ่งตัว ซึ่งเป็นลิฟท์สำหรับอาจารย์เท่านั้น นักเรียนห้ามใช้ แต่ว่าพวกเราก็มักจะแอบใช้เมื่อมีโอกาส เหตุผลก็คือความตื่นเต้นที่ได้ฝืนกฏสำเร็จและความสบายจากการไม่ต้องเดิน อย่างไรก็ตามก็จะมีอาจารย์คอยลงโทษถ้าจับได้ โดยท่านหนึ่งที่ลงโทษพวกเราจนเข็ดหลาบก็คือ อาจารย์จักกฤช สุทธิกลัด ซึ่งจะตีพวกเราด้วยไม้เรียวขนาดใหญ่ และสั่งสอนว่าการใช้ลิฟท์บ่อยๆ จะทำให้มันเสียเร็ว และคนที่เดือดร้อนก็คือ อาจารย์ที่สูงอายุซึ่งบางทีต้องเดินขึ้นบันไดสี่ห้าชั้นเพื่อขึ้นไปสอน ในช่วงระหว่างที่ลิฟท์ยังไม่ได้ซ่อม

เรื่องที่ผมยกขึ้นมาทั้งสองเรื่องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วความคิดของคนส่วนใหญ่แล้วมันจะนึกถึงความสบายของตนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวโดยยึดแนวคิดดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผิดกฎระเบียบแต่ว่าบางทีมันก็ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้โดยที่เราอาจคาดไม่ถึง


หมายเหตุ: อาจารย์จักกฤช ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งท่านก็เป็นอาจารย์ที่สอนวิชาฟิสิกส์ผมตอนอยู่ ม.๔ และยังเป็นบิดาของเพื่อนร่วมห้องและร่วมคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยของผมด้วย

รูปจาก: http://www.configure.ie/Accessible_Building_Equipment/upload/Image/Push-Button-on-Post-LD.jpg

Saturday, February 14, 2009

ความเหมือนระหว่างมอดและแมลงเม่าที่ผมเจอ

อากาศที่นี่ (พิตส์เบอร์ก) ค่อนข้างแห่งมากไม่ว่าจะฤดูกาลไหน ผมรู้สึกว่าความชื้นในอากาศน้อยมากโดยเฉพาะบางวันที่ตื่นขึ้นมาคอแห้งผาก ก็เลยต้องรองน้ำใส่ภาชนะมาตั้งไว้ในห้องเพื่อเพิ่มความชื้น และก็ลองซื้อเครื่องเพิ่มความชื้น (Humidifier) มาใช้ แต่ก็พบว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ตอนนี้ก็เลยใช้วิธีเดิมๆ ก็คือรองน้ำใส่กาละมังมาไว้นั่นแหละ

น้ำที่รองไว้จะระเหยไปเร็วมาก ประมาณสัปดาห์กว่าๆ ก็จะแห้งไปหมด เวลาไปเติมน้ำก็จะมีสองสิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ คราบขาวๆ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นพวกหินปูนหรือเกลือแร่ที่อยู่ในน้ำ แต่อีกสิ่งหนึ่งก็คือแมลงตัวเล็กๆ สีดำๆ ที่เรียกว่า “มอด” นั่นเอง

แรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เอากาละมังไปล้างแล้วก็รองน้ำใหม่ แต่มันก็เริ่มเจอบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนผมคิดว่าห้องคงโดนมอดบุกซะแล้ว ก็เลยต้องทำการดูดฝุ่นขนานใหญ่ ซึ่งที่มาของมันคาดว่าจะมาจากที่เก็บข้าวสารนี่แหละ ผมก็เลยนำชามมาใส่น้ำเพื่อดักมอด ปรากฎว่าได้ผลมีมอดหลายตัวมาติดกับ แรกๆ ก็มีมาก แต่หลังๆ ก็มีน้อยลงไปเยอะ

ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้ามอดพวกนี้มันรู้ได้ยังไงว่ามีน้ำอยู่ที่ตรงไหน แล้วทำไมมันไม่กินดีๆ ตกลงไปตายกันจนหมด หรือว่าที่ผมคิดว่ามันหิวน้ำจะไม่จริง มันอาจไม่หิวน้ำก็ได้ แต่มันอาจจะอยากฆ่าตัวตาย ... ว่าแต่แมลงมันกลุ้มใจอะไรมากจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ... ผมจึงคิดว่ามันคงจะหิวน้ำนั่นแหละ แต่คงจะกระหายมากไปหน่อยจึงโดดลงไปเล่นน้ำทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น (ดูจากในรูป นี่คือสภาพของมอดผู้โชคร้ายที่พลัดตกลงไปในน้ำ)
DSC01391
เคยได้ยินว่าวิธีไล่มอดจากถังข้าวสาร ก็คือให้นำใบมะกรูด หรือตะปูใหม่ๆ ลงไปใส่ในถังข้าวสาร ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมมอดมันถึงไม่ชอบสิ่งเหล่านี้ หรือว่ามันรู้สึกว่ามีคนไล่มันก็เลยเกรงใจและออกไปโดยดี ชีวิตมอดมันมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่ผมเคยคิดไว้ ทั้งเรื่องการสัมผัสถึงแหล่งน้ำ และการไม่ชอบใบมะกรูด คาดว่ามันคงไม่ชอบทานต้มยำกุ้งด้วย ส่วนหนูตกถังข้าวสารผมคิดว่า ถ้าจะไล่คงต้องใช้วิธีอื่นและน่าจะไล่ยากกว่ามอดหลายเท่าตัวนัก

เมื่อเจอมอดเล่นน้ำทำให้ผมคิดไปถึง แมลงเม่าที่ชอบมาเล่นไฟ และก็ชอบบินเข้ากองไฟ อ้างอิงจากวิชาการดอทคอม http://mail.vcharkarn.com/vcafe/43932 พบว่าแสงไฟเป็นสิ่งเร้าที่แมลงม่าสัมผัสได้ ทำให้ต้องบินไปหา โดยที่มิได้เกรงกลัวกลับความร้อน อ่านเจอในเวบพันทิป http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X7523676/X7523676.html มีคนนึงตอบได้ตลกดีก็คือมีแมลงเม่าอีกแบบที่ชอบเล่นไฟสีเขียว แต่พอบินเข้าไปก็จะเจอไฟสีแดง ซึ่งก็จะพบได้มากมายตามตลาดหุ้นทั่วโลก

จะว่าไปแล้วทั้งแมลงเม่าและมอดต่างก็พาตัวมันไปหาสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของมันตามสัญชาติญาณ แต่ว่าในที่สุดก็อาจต้องแลกด้วยชีวิต ส่วนสำหรับมนุษย์นั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สัญชาติญาณจากธรรมชาติมีหลงเหลืออยู่น้อยที่สุดเมื่อดำเนินชีวิตอยู่ตามปกติ แต่ว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบแมลงเม่าหรือมอดก็มีให้พบเห็นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะคนที่แสวงหาอำนาจและจมไปกับอำนาจนั้นๆ โดยไม่รู้ตัวว่าความเป็นคนของตนได้ตายไปแล้ว

The wise are instructed by reason; ordinary minds by experience; the stupid, by necessity; and brutes by instinct.
Cicero (106 BC - 43 BC)

(เขียนเมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)

Thursday, February 12, 2009

นักเศรษฐศาสตร์ไร้หัวใจ?

ถ้าพูดถึงคำว่า “เศรษฐศาสตร์” กับ “หัวใจ” ฟังดูไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่ เหมือนว่าเศรษฐศาสตร์จะเน้นไปทางวัตถุและเข้ากับคำว่า “ทรัพย์สินเงินทอง” มากกว่าหัวใจ แต่เมื่อเพิ่มเติมจนเป็นคำว่า “ไร้หัวใจ” มันก็ดูเหมือนจะเริ่มมีเค้าว่าสองคำนี้อาจไปด้วยกันได้ในความคิดของใครหลายๆ คน เพราะเหมือนว่านักเศรษฐศาสตร์จะสนใจแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ซะเป็นส่วนใหญ่

คำว่าเศรษฐศาสตร์ หรือ Economics ในภาษาอังกฤษก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า οἰκονομία (oikonomia) ซึ่งก็หมายความว่าการจัดการในครัวเรือน (อ้างจาก Wikipedia : Economics) ผมจำคำนิยามของเศรษฐาสตร์ที่ผมเรียนสมัยตอนปริญญาตรีได้ว่า “การจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด”

ผมก็คิดว่าเป็นนิยามหนึ่งที่แสดงความเป็นเศรษฐศาสตร์ได้อย่างชัดเจน เพราะหลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ในความคิดของผมก็คือ การสร้างอรรถประโยชน์สูงสุด (Utility Maximization) ภายในงบประมาณหรือทรัพยากรอันจำกัด ซึ่งทุกกลไกในระบบเศรษฐกิจก็จะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือรัฐบาล

กลไกทางเศรษฐศาสตร์มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ราคาสินค้า ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ที่บ่งบอกอะไรได้หลายอย่างในกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์นั้นๆ ราคากับกลไกหรือกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์เป็นสองส่วนที่มีการปรับตัวเนื่องจากกันและกันอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การผลิตและการบริโภค ก็มีส่วนในการกำหนดราคา และราคาก็มีส่วนกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการส่งต่อข้อมูลกลับไปกลับมาระหว่างสองส่วนนี้ จนในที่สุดเราสามารถหาสมดุลของทั้งสองปัจจัยนี้ได้
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ากลไกราคาหรือกลไกตลาดเป็นสิ่งที่สร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากทุกคนจะสามารถสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดให้กับตนเองภายใต้ระบบกลไกราคา และเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าสู่จุดสมดุลด้วยตัวของมันเอง

ตอนที่ผมเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ เรื่องที่เป็นบทเรียนพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ก็คือ เรื่องของกลไกระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เส้นสองเส้นที่เส้นหนึ่งลากเฉียงลงจากทางซ้ายมาทางขวาที่แสดงถึงอุปสงค์ และอีกเส้นที่ลากลงจากทางขวาไปทางซ้ายหมายถึงอุปทาน เส้นสองเส้นนี้เป็นแบบจำลองที่ซับซ้อนน้อยที่สุดที่แสดงถึงกลไกราคา แต่ก็มีความหมายหลายประการที่ซ่อนอยู่ในแผนภูมิง่ายๆ นี้

การปรับตัวของกลไกราคาง่ายๆ ก็คือ ณ จุดใดที่มีอุปสงค์มากว่าอุปทาน ซึ่งหมายถึงความต้องการสินค้ามากกว่าสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ราคาสินค้าก็จะปรับตัวสูงขึ้น และในที่สุดความต้องการสินค้าก็จะลดลงเนื่องจากราคาแพงขึ้น และขณะเดียวกันก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา ในที่สุดกลไกราคาก็จะปรับให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน

ฟังดูแล้วก็เป็นกลไกง่ายๆ และดูเหมือนเป็นเรื่องปกติทั่วๆไป แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วมันก็มีความจริงที่น่าสนใจอยู่ด้วย อุปสงค์ในส่วนนั้นหายไปไหน สมมุติว่าสินค้าที่เรากำลังพูดถึงคือ ข้าว อุปสงค์ที่หายไปอาจเพราะคนกินน้อยลง กินเท่าที่จำเป็น (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เท่าไหร่) หรืออาจมีบางคนต้องอดข้าว บางคนอาจเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึงเลย เพียงแต่ว่าจะมีคนสนใจมากเพียงไรเท่านั้น ที่เห็นชัดๆ ก็คือหลายประเทศในทวีปอาฟริกา หรือแม้แต่ในเมืองไทยก็มีคนที่ต้องอดมื้อกินมื้ออยู่จำนวนไม่น้อย

ในบางมุมมองกลไกตลาดก็เหมือนกับทฤษฎีการเลือกสรรค์ของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนที่ไม่สามารถต่อสู้ได้ในธรรมชาติก็ต้องสูญพันธุ์ล้มหายตายไป อย่างไรก็ตามหากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ใกล้ตัวเรา มันก็เหมือนว่ากลไกตลาดก็ทำงานไปของมันอย่างนั้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่เราคาดหวังไว้

เมื่อตอนที่ได้กลับเมืองไทยตอนเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ดูข่าวหลายๆ ช่องที่นำเสนอเรื่องคนที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากโรงงานที่ทำงานอยู่ปิดตัวลงหรือขาดทุน ซึ่งบางคนก็มีเงินออมอยู่ไม่เท่าไหร่ ไม่รู้จะอยู่ไปได้อีกกี่เดือน อีกทั้งมีภาระเรื่องบุตรหลาน ซึ่งหากพูดกันในฐานะมนุษย์ธรรมดาก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและน่าเห็นใจ แต่หากมองไปตามเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มันก็เป็นเหมือนแค่กลไกการปรับตัวหนึ่งเท่านั้น

การที่กิจการกิจการหนึ่งต้องปิดตัวลงไปนั้น เนื่องจากว่ากิจการนั้นไม่สามารถแข่งขันได้กับกิจการอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ ดังนั้นปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน (คน) หรือเงินทุน ก็ควรจะถูกโยกย้ายจากกิจการนั้นๆ ไปยังกิจการอื่นซึ่งประสิทธิภาพมากว่า อันจะส่งผลประโยชน์โดยรวมที่สูงขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจมากกว่า ทนประกอบกิจการทั้งๆ ที่ขาดทุน

อย่างไรก็ตามในโลกแห่งความจริงแล้ว แรงงานในตลาดไม่สามารถถูกโยกย้ายได้อย่างทันที และก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ในการที่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้นจะถูกว่าจ้างใช้งานในกิจการอื่น อาจเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ แรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพสูงพอก็อาจต้องออกจากตลาดแรงงานไปอย่างถาวร ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาเช่น อาชญากรรมต่างๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าถ้าหากว่าเราใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการบริการสังคมเราอย่างเดียวนั้นมันไม่สามารถที่จะสร้างความสุขให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมได้เลย เราจำเป็นต้องมีส่วนประกอบที่เสริมเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสังคมสงเคราะห์ และการแทรกแซงกลไกตลาดเข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้ “คน” ที่เป็นเพื่อนอยู่ด้วยกันในสังคมเดียวกับเราที่อาจไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมให้อยู่ในสังคมต่อไปได้ ไม่ถูกคัดออกไปเหมือนกับกลไกการคัดเลือกของธรรมชาติ

ผมได้อ่านหนังสือสารคดีฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเรื่องของหนังสือห้ามอ่าน โดยในสยามประเทศนั้นหนังสือฉบับแรกที่ห้ามเผยแพร่ก็คือ หนังสือกฎหมายซึ่งนายโหมด อมาตยกุล ได้ว่าจ้างให้หมอบลัดเรย์เป็นคนพิมพ์จำหน่าย ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายเป็นความรู้ที่สงวนไว้ให้เจ้านายชั้นสูงและขุนนางเท่านั้น ซึ่งพอจะเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้จากระบบสังคมและการปกครองในสมัยนั้น

แต่อีกเล่มที่ผมพบว่ามีการห้ามก็คือ หนังสือทรัพย์ศาสตร์ ซึ่งเขียนโดยพระยาสุริยานุวัตร อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ ซึ่งได้กล่าวถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวไร่ชาวนาจากพ่อค้า หนังสือดังกล่าวได้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่ในที่สุด และจนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๗ วิชาเศรษฐศาสตร์ก็ถือเป็นวิชาต้องห้าม จนมาถึงสมัยที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวิชาเศรษฐศาสตร์จึงถูกนำมาสอนได้อีกครั้ง ซึ่งจากข้อความในหนังสือสารคดีได้กล่าวไว้ว่า

“ทันทีที่ ทรัพย์ศาสตร์ ๒ เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (จากที่วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๓ เล่ม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติ การเขียน หลังจากนั้นทรงเขียนบทวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์ (เล่ม ๑) ตามความเห็นของเอกชนผู้ได้อ่านหนังสือเท่านั้น” ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสาร สมุทรสาร ทรงเห็นว่า ทรัพย์ศาสตร์ จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในสยามประเทศนั้น เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว “ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด” ทรงเห็นว่าผู้เขียน “ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกัน” เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้”

ในประเด็นดังกล่าวผมก็มีแนวคิดสองแนวคิดซึ่งขัดแย้งกันและก็มีน้ำหนักพอๆ กันก็คือ ข้อเสียของการห้ามศึกษาและเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้นก็คือ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้เท่าทันพ่อค้าและการมีน้ำใจทำให้ถูกเอาเปรียบได้โดยง่าย ดูจากชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนซึ่งเน้นการเก็บออมสะสมทุนและขยายกิจการ ซึ่งหลายคนประกอบกิจการจนร่ำรวย ต่างจากคนไทยซึ่งก็ยังใช้วิถีชีวิตเดิมๆ ไม่ได้ใส่ใจและสนใจในการสะสมทรัพย์สิน คนไทยที่มีฐานะดีก็จะเป็นพวกขุนนางศักดินาซึ่งมีทรัพย์สินตามยศถาบรรดาศักดิ์ของตน ถ้าจะมีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่าทำให้ประเทศพัฒนาไม่ทัดเทียมประเทศอื่นก็อาจเป็นเหตุผลที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

ส่วนข้อดีของการห้ามการศึกษาและเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ เมื่อพิจารณาสภาพสังคมในสมัยนั้น ซึ่งวิถีชีวิตของคนไทยเป็นไปอย่างเรียบง่ายสงบสุข และมีน้ำใจต่อกัน ถ้าหากมีแนวคิดเรื่องการสะสมทุนเข้าไปรบกวนจิตใจ คิดว่าสภาพสังคมก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเหมือนสังคมเมืองในปัจจุบันนี้ซึ่งความจริงใจและน้ำใจเป็นสิ่งที่หาได้ยากเหลือเกิน ซึ่งบางทีการแลกความสุขกับความเจริญร่ำรวยก็เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่ากันเท่าไหร่ ซึ่งหากสมัยเมื่อเจ็ดแปดสิบปีก่อนคนไทยมีลักษณะหัวหมอชิงไหวชิงพริบและเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน กันไปซะเป็นส่วนใหญ่แล้ว ผมก็ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าสังคมในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร คำหลายคำเช่น คำว่า “น้ำใจ” อาจจะหายไปจากพจนานุกรมก็เป็นได้

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างสมบูรณ์และสร้างความสุขให้กับทุกคนในสังคมได้ หากการใช้นโยบายทางเศรษฐศาสตร์สามารถประกอบไปกับการใช้หัวใจได้ก็คงดี เพราะก็มีคนหลายภาคส่วนในสังคมที่ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่มีความพร้อมต่อกลไกทางเศรษฐศาสตร์ แต่เขาก็เป็นเพื่อนที่อยู่ร่วมโลกกับเราในสังคมนี้

อ้างอิง หนังสือสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๙:
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=611

(เขียนเมื่อ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)

ไปดูฝนดาวตก

ได้ข่าวว่าอาจมีฝนดาวตกให้ดูประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ประมาณวันที่ 17-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ซึ่งไม่รู้ว่ามีตกบ้างหรือเปล่าhttp://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/meteors/2008meteors.html ซึ่งผมก็พึ่งจะรู้ว่ามันมีปรากฏการณ์แบบนี้เมื่อประมาณเกือบสิบปีก่อน เมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ตอนนั้นได้ข่าวว่าจะมีฝนดาวตก คาดว่าประมาณช่วงหน้าหนาวนี้เหมือนกัน และด้วยว่าการอยู่ปีสี่นั้นวิชาเรียนมันมีน้อยเต็มที เพื่อนๆ ในกลุ่มก็เลยจัดทริปเพื่อไปดูฝนดาวตกกัน

สถานที่ที่จะไปก็คือจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งที่จะไปก็ไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอะไร ไม่ใช่รีสอร์ต เป็นบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเพื่อนของผมบางคนได้เคยมาออกค่ายอาสาพัฒนาที่หมู่บ้านนั้น สมาชิกทริปที่ไปก็มีเพื่อนผู้ชายในกลุ่มประมาณสิบคนและผู้หญิงประมาณสี่ห้าคน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ค่อนข้างสนิทกัน
จำไม่ได้ว่าตอนนั้นที่ไปนั่งรถไฟหรือรถทัวร์ไป แต่จำได้ว่าไปถึงประมาณตีสี่กว่าๆ ยังไม่เช้าดี ก็เลยไปเช่าโรงแรมนอนประมาณสามสี่ชั่วโมง เพื่อหารถเข้าไปในหมู่บ้านตอนเช้า ซึ่งโรงแรมก็เป็นโรงแรมแบบห้องแถวแบบโบราณหน่อยๆ ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม ซึ่งถ้าไปคนเดียวคงไม่กล้าพักแน่ เพราะบรรยากาศค่อนข้างวังเวงมาก

พอตอนเช้าก็เข้าไปในตลาดเพื่อซื้อเสบียงเข้าไปกิน เพราะต้องอยู่ในนั้นหลายวัน และก็ซื้อของไปให้เด็กๆ ในหมู่บ้านด้วย หลังจากนั้นก็นั่งรถเข้าไป จำได้ว่าน่าจะเป็นประมาณรถสองแถว การเข้าไปไหนหมู่บ้านก็ค่อนข้างจะลำบากเหมือนกันถนนเข้าไปก็เป็นลูกรัง และก็มีเนินเป็นระยะๆ

บ้านพ่อผู้ใหญ่ที่ไปนอนก็กว้างมาก มีชานเรือนที่กว้างพอให้เราสิบกว่าคนนอน ตอนที่ไปอยู่ที่นั่นก็ทำกับข้าวกันกินเอง และทางพ่อผู้ใหญ่กับแม่ก็ทำกับข้าวบ้าง กินรวมๆ กัน ตกดึกก็มีทานเหล้าบ้าง ดีดกีตาร์ ร้องเพลง ก็เป็นชีวิตที่สนุกดี ตัดขาดกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง เพราะมันเหมือนอยู่ในหุบเขา สัญญาณมือถือและเพจเจอร์ก็ไม่มี มีโทรศัพท์สาธารณะที่ต้องเดินไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็มีออกไปโทรกลับบ้านและก็ส่งเพจเจอร์ (น้ำเน่าๆ) บ้าง แต่ไม่กี่วันโทรศัพท์ก็เสีย ก็เลยขาดการติดต่อโดยสิ้นเชิงกับภายนอก

คืนที่ไปดูฝนดาวตกก็ออกกันไปตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ก็เดินหาที่โล่งๆ เพื่อจะรอดูฝนดาวตก พอดีก็ไปเจอถนนที่อยู่ในหมู่บ้าน พวกเราก็คิดว่าคงจะไม่มีรถวิ่งผ่าน เพราะมันเงียบและมืดมากๆ ก็เลยนอนดูกันกลางถนนที่แหละ พอดีมีเพื่อนคนนึง (โอฬาริก) บอกว่าจะเปิดไฟฉายทิ้งไว้เวลารถวิ่งมาจะได้เห็น คนอื่นก็เฉยๆ ไม่ได้ทำตาม

ดาวตกก็มีมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน แต่ก็นานๆ มาที ดูกันไปเรื่อยๆ อากาศก็เย็นสบายๆ คุยกันไปเพลินๆ ก็หลับกันหมด แต่ว่ามาสะดุ้งตื่นอีกทีก็เห็นแสงจ้ามากๆ ไม่ใช่ยูเอฟโอหรืออะไร แต่เป็นรถกระบะที่วิ่งมาบนถนนแล้วก็มาหยุดตรงที่พวกเรานอนพอดี ซึ่งคิดว่าถ้าโอไม่เปิดไฟฉายทิ้งไว้ ป่านนี้คงโดนรถกระบะทับแบนแน่ๆ ที่พวกพวกเราปลอดภัยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความรอบคอบของโอนี่แหละ

ไปพักผ่อนครั้งนี้ก็ได้ความสนุกมากมาย ผมกับไอ้อ้วน (กุ๊กไก่ ชื่อปัจจุบันธงธง) ก็ออกไปตกปลากันทุกวัน เพราะในหมู่บ้านมีบึงขนาดใหญ่อยู่ ก็ยืมเบ็ดของพ่อผู้ใหญ่นี่และไปตก เหยื่อที่ใช้ก็คือกุ้งฝอย ซึ่งใช้สวิงไปช้อนมา นั่งตากแดดกันจนตัวดำไปตกหลายวันก็ไม่ได้ปลาอะไรใหญ่โต ได้ตัวเท่าปลาซิวปลาสร้อย พวกปลาที่ได้มาก็สงสารนะ แต่ว่าตกนานเหลือเกินก็เอามากินกันจนหมด พอเอาไปทอดก็เหลือนิดเดียว จนในที่สุดตอนหลังเราก็ตัดสินใจว่าไม่ตกปลาแล้ว เอากุ้งที่ช้อนได้นี่แหละมากิน ทางพ่อผู้ใหญ่ก็เลยเอาไปทำกุ้งเต้นให้กิน ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทานกุ้งเต้น เอาเข้าปากไปก็กระโดดกันในปาก เรียกว่าผมได้ทำบาปกันแบบครบวงจรทีเดียว

ไปทริปนี้ก็มีเรื่องน่าสนุกอีกหลายเรื่อง เช่น ชัชอั๋นที่ออกไปเดินเล่นตอนเช้าแล้วกลับมาตาลีตาเหลือกว่าเจอมนุษย์ต่างดาว (ปกติก็มีความเชื่อประมาณนี้อยู่แล้ว) แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากที่เกิดขึ้นในทริปนี้ก็คือ มนต์รักปลาทู ที่เกิดขึ้นระหว่างชิว หรือไอ้กำ กับเอ๋ โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นในมื้อหนึ่งซึ่งในวันนั้นเรามีปลาทูทอดและเอ๋ก็เป็นคนแกะปลาทูให้ชิวกิน ซึ่งก็นับว่าเป็นความประทับใจระหว่างสองคนนั้นที่เกิดขึ้นและเติบโตมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็น่าจะสิบปีได้แล้วมั้ง

ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาชิวกับเอ๋ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกัน ซึ่งผมก็เสียดายมากที่ไม่ได้มีโอกาศกลับไปร่วมงาน แต่ก็ขออวยพรให้ทั้งคู่มีความสุขมากๆ มีครอบครัวที่อบอุ่นต่อไปในอนาคต
บางทีช่วงเวลาสำคัญๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ในชีวิตมันก็อาจเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่แสดงน้ำใจเล็กๆ ที่มีให้กัน เช่น การแกะปลาทูให้กัน หรือการยิ้มให้กัน เป็นต้น
ซึ่งก็ทำให้ผมนึกถึงเพลง “เพราะอะไร” (อีกแล้ว) “... หรือเป็นเพียงรอยยิ้มรอยนั้นเมื่อวันแรกเจอ...”

ปล. หลังจากไปดูฝนดาวตกกลับมา ก็ได้คุยกับที่บ้าน ซึ่งทำให้รู้ว่าแถวบ้าน (พุทธมณฑลสายสอง) มีฝนดาวตกมากว่าที่ผมไปดูที่เพชรบูรณ์เสียอีก

(เขียนเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

Too big to fail?

เมื่อหลายวันก่อนได้ยินอาจารย์พูดในห้องเรียนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ กรณีการนำเงินของรัฐบาลไปอุ้มสถาบันการเงินที่กำลังจะล้มละลาย และก็มีนักเรียนคนหนึ่งถามมาว่าที่ต้องช่วยสถาบันการเิงินเหล่านี้เพราะว่ามันใหญ่เกินที่จะปล่อยให้ล้มละลายหรือเปล่า (Too big to fail) อาจารย์ก็ตอบประมาณว่า นั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งเพราะว่าถ้าสถาบันการเิงินเหล่านี้ล้มละลายไปหมดก็จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อระบบการเงินทั้งระบบ

ถ้าถามผม ผมก็มีประเด็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยรัฐบาล โดยถ้าจะอิงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง Agency Problem หรือเรียกอีกแบบนึงว่า Moral Hazard มีอาจารย์ท่่านหนึ่งบอกผมว่าระยะหลังในแวดวงวิชาการเรียกว่า Agency Problem ก็เพราะว่ามันไ่ม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม (Moral) เพราะว่าถ้าเป็นใครที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ต้องทำ

ปัญหา Agency เกิดขึ้นก็เมื่อแรงจูงใจของผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่ายไม่สอดคล้องกัน (Not Incentive Compatible) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเกี่ยวกับการจ้างงาน ถ้าหากเงินเดือนของลูกจ้างไม่ผูกติดกับผลสัมฤทธิ์ของงาน ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท ลูกจ้างก็นั่งทำงานเช้าชามเย็นชามไปวันๆ (เพราะนั่นมันดีที่สุดต่อตัวเขาเอง ทำงานหนักมันลำบากทั้งเหนื่อยทั้งเครียด) ถ้าอู้งานแล้วได้เงินเดือนเท่าเดิมใครจะไปขยันทำงาน

การผูกผลงานกับผลตอบแทนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ว่าก็ไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบและติดตาม (Monitoring) ซึ่งในส่วนนี้ก็มีต้นทุน และำก็ทำได้ลำบาก ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเห็นพนักงานพิมพ์คอมอยู่อย่างขมักเขม้น แต่ว่าเขาอาจคุย MSN กับเพื่อนอยู่ก็ได้ เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบก็คือ ผมเป็นผู้ช่วยสอนของอาจารย์ท่านหนึ่ง และเขาก็พูดในห้องเรียนว่า ทำไมเราต้องมีการสอบ ซึ่งมันก็ไม่ได้ดีต่อทั้งอาจารย์และนักเรียนเลย อาจารย์ต้องออกข้อสอบและก็ตรวจ นักเรียนก็ต้องเครียดกับการสอบ

สมมุติว่าในวันเปิดเทอมอาจารย์บอกกับนักเรียนว่าวิชานี้ไม่มีการสอบ และจะให้ A กับทุกคน เพียงแค่นักเรียนสัญญากับผมว่าคุณจะตั้งใจเรียน เข้าเรียนทุกครั้ง และทบทวนบทเรียนเป็นประจำ นักเรียนทุกคนก็คงบอกว่า “รับรองว่าเราจะทำตามที่สัญญากับอาจารย์ทุกอย่าง” ซึ่งในความเป็นจริงจะมีนักเรียนสักกี่คนที่ทำตามสัญญา การตรวจสอบก็ทำได้ลำบาก ดั้งนั้นจึงต้องมีการสอบ และการสอบก็เป็นต้นทุนของข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน (Cost of Asymmetric Information)

ย้อนมาถึงปัญหาการอุ้มบริษัทที่ (จะ) ล้มละลาย ถ้าสมมุติว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้รับการรับรองว่าจะไม่มีวันล้มละลาย รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มเสมอถ้ามีปัญหา เราจะเลือกลงทุนอย่างไร ระหว่างทางเลือกที่กำไรสูงและความเสี่ยงสูง กับทางเลือกที่ำกำไรต่ำและความเสี่ยงต่ำ แน่นอนเราต้องเลือกทางที่ได้กำไรสูงอยู่แล้ว เพราะยังไงถ้าพลาดก็มีคนมาช่วย ซึ่งมันก็เหมือนกับการโยนความเสี่ยงไปสู่เงินภาษีประชาชน ในขณะที่บริษัทได้ผลประโยชน์ถ้าการเก็งกำไรนั้นสำเร็จ

ดั้งนั้นหากมีกา่รช่วยเหลือดังกล่าวก็ต้องมีการติดตามผลที่เข้มงวดเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของสังคม รวมถึงต้องมีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดประกอบไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคของ Regulation แบบในอดีต

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับ Too big to fail ก็คือ มีนักเรียนเรียนถามว่าเศรษกิจอเมริกาจะล่มสลายได้หรือเปล่า อาจารย์ไม่ตอบอะไร แต่ได้ยกตัวอย่างว่ามันไม่จริงเสมอไปว่าถ้าใหญ่มากแล้วจะล้มไม่ได้ ถ้าลองมองย้อนดูไปในประวัติศาสตร์เราจะเห็นได้ว่ามีอาณาจักรโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพวกบาบิโลน หรืออารยธรรมเก่าแ่ก่ต่างๆ ที่อยู่มาเป็นหลายร้อยปี และยิ่งใหญ่มากๆ ในที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็สามารถล่มสลายได้ไม่ว่าจะใหญ่และมีอำนาจมากขนาดไหน

ดังนั้นไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ไม่ควรประมาทเพราะความ “เสื่อม” จากพฤติกรรมหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็นำไปสู่ความล่มสลายที่มีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว

(เขียนเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

Structural change, Greedy and Vegetarian

บล๊อกคราวนี้ก็เป็นเรื่องผสมปนเปกันไปสองสามเรื่อง ก็คงจะแยกได้เป็นสามภาค ที่เกี่ยวข้องกันบ้างไม่เกี่ยวข้องกันบ้าง

ภาคหนึ่ง: ว่าด้วย Structural Change
เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ในชั่วโมงเรียนวิชา Options ที่ผมเป็น grader อยู่ อาจารย์ก็ได้พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยเกริ่นเรื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และก็พูดถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเบื้องต้นยังอยู่ในรูปแบบที่ยังไม่ถึงขั้น Working paper เสียด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็ได้ copy มาจากอาจารย์แต่ลองหาดูในอินเตอร์เนทก็ยังไม่พบ คาดว่าคงยังไม่เผยแพร่ให้วิจารณ์กันในวงกว้างเท่าไหร่ ถ้ามีเวอร์ชั่นที่เผยแพร่เมื่อไหร่จะเอามาโพสต์ไว้อีกที
ประเด็นที่งานชิ้นนี้กล่าวถึงก็คือว่า ในปี 2005 ในประเทศสหรัฐฯ มีการผ่านกฏหมาย Bankruptcy Abuse Reform 2005 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนของบัตรเครดิตและการผ่อนรถยนต์ การแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ทำให้การ “เบี้ยว” (Default) หนี้บัตรเครดิตและรถยนต์ทำได้ยากขึ้น
แม้ว่าสาเหตุหลักของการเบี้ยวหนี้อสังหาฯ ในสหรัฐเกิดจากราคาบ้านที่ตกต่ำ (เมื่อคนผ่อนบ้านพบว่ากำลังจ่ายราคาบ้านที่สูงกว่ามูลค่าจริง ก็เลยเบี้ยวหนี้) ผู้วิจัยก็ได้ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลว่า หลังจากที่ได้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้แล้ว เกิดการเบี้ยวหนี้จากการผ่อนบ้าน (mortgage) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ก่อนการแก้กฎหมายคนส่วนใหญ่จะเบี้ยวหนี้เครดิตการ์ดและรถยนต์เป็นอย่างแรก เพราะมีกระบวนการประนอมหนี้ที่เบากว่าการเบี้ยวหนี้ผ่อนบ้าน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการแก้กฎหมายนี้ อาจเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายสถาบันการเงินคาดไม่ถึงเหมือนกัน และอาจารย์ก็ได้เล่าต่ออีกว่า เป็นเรื่องน่าขันเพราะสถาบันการเงินต่างๆ ที่ประสบปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะนี้เป็นฝ่ายที่วิ่งเต้นให้มีการแก้กฎหมายดังกล่าว
จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมีผลอย่างมีนัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือได้ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ซึ่งหากพวกสถาบันการเงินต่างๆ ไม่รู้หรือไม่ได้นำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ความน่าจะเป็นที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้อสังหาฯ ไปอัพเดทแบบจำลองทางการเงิน (Financial model) ที่ใช้อยู่ ผลที่ออกมาก็จะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ ซึ่งเกิดผลเสียชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำคัญของการพิจารณาเชิงโครงสร้างในทางเศรษฐศาสตร์อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วในบทความเรื่อง “Structural model สำคัญอย่างไรในการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์”
ทิ้งท้ายไว้ด้วย Quote ที่น่าสนใจก็คือ “All model are wrong but some models are useful. – George E. Box, a statistician” จริงๆ แล้วแบบจำลองทุกอย่างมันผิดหมด เพราะมันไม่ใช่ของจริง แต่ว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากแบบจำลองบางส่วนได้

ภาคสอง: ว่าด้วย Greedy
เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับภาคหนึ่งบ้าง เรื่องที่อาจารย์เล่าความเป็นมาของภาคการเงินในสหรัฐหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย The Glass-Steagall Act of 1933 ที่ห้ามสถาบันการเงินต่างๆ นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรหรือตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้น ธนาคารได้นำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และผลสืบเนื่องจากการล้มของตลาดหุ้นในปี 1929 ทำให้ธนาคารเหล่านี้ล้มละลาย และผู้ฝากเงินก็สูญเงินฝากไปด้วย ซึ่งกฎหมายที่ออกมานี้ก็รวมไปถึงการตั้ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) หรือบริษัทประกันเงินฝากในสหรัฐด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมาประมาณห้าสิบปีก็มีความพยายามที่จะวิ่งเต้นในการแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากว่าสถาบันการเงินทั้งหลายต้องการทำธุรกรรมที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่าการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อทั่วไป ซึ่งก็ใช้เวลานานหลายสิบปีในการวิ่งเต้นจนสามารถ ออกกฎหมายใหม่ในปี 1999 คือ The Gramm-Leach-Bliley Act ซึ่งอนุญาตให้ธนาคารทำธุรกรรมได้กว้างขวางขึ้นซึ่งรวมไปถึงการซื้อขาย mortgage-backed securities ที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น เดิมทีก็จะมีการคัดแต่ลูกค้าที่มีเครดิตดี แต่ว่าการเติบโตของตลาดในส่วนนั้นมันอยู่ในระดับที่ไม่สูง นักการเงินก็เริ่มหันมามองตลาดในส่วนของ sub-prime หรือกลุ่มที่มีเครดิตไม่ดี ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่มีใครเข้าไปลงทุน ในช่วงแรกก็ทำกำไรให้สถาบันการเงินต่างๆ มากมาย แต่หลังจากนั้นลูกค้าในกลุ่มนี้ก็เป็นปัญหาดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
จริงๆ แล้วในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ผมก็เชื่อในการสร้างประสิทธิภาพจากระบบตลาด ซึ่งเป็นข้อดีข้อหนึ่งของระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามทุนนิยมที่แฝงไว้ด้วยความโลภในที่สุดมันก็จะกัดกินตัวมันเองจนหมดในที่สุด (ที่สำคัญมันเดือดร้อนภาษีของคนทั้งประเทศด้วยน่ะสิ)
ที่ได้ยินนักการเมืองในสหรัฐฯ พูดถึงการเข้มงวดในการกำกับดูแล (Regulation) สถาบันการเงินให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน มันก็เหมือนเป็นวงจรที่กลับมาสู่ระบบเดิมเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว ใครว่าเมืองไทย “วัวหายแล้วล้อมคอก” ประเทศเดียวในโลก ตอนนี้วัวที่อเมริกาหายไปแล้วทีนึงหลายตัวเขาก็คิดจะล้อมคอกกันใหม่ หลังจากเปิดคอกไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ถ้าผมมีอายุยืนไปอีกหลายสิบปีไม่รู้จะมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อยืดหยุ่นการประกอบธุรกรรมอีกหรือเปล่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Glass-Steagall_Act http://en.wikipedia.org/wiki/Gramm-Leach-Bliley_Act

ภาคสาม: Vegetarian หรือ กินเจ
เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นยืดยาวอะไรมากมาย ช่วงนี้ก็พึ่งพ้นจากเทศกาลกินเจกันไปได้ไม่นาน ผมก็ไม่ได้กินเจอะไรกับเขาหรอก เพราะไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ก็มีประเด็นให้คิดในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่า เราพอจะกินเจกันในรูปแบบอื่นได้ไหม (ทั้งนี้ต้องออกตัวไว้ก่อนว่ามิได้มีเจตนาที่จะล่วงเกินความเชื่อส่วนบุคคลของท่านที่ศรัทธาในประเพณีนี้)
ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลกินเจที่หลายๆคนพากันหยุดการกินเนื้อสัตว์มันทำให้เกิด Shock ในตลาด ก็คือว่า ปริมาณการขายเนื้อสัตว์ลดลงฮวบฮาบ ปริมาณการขายผักเพิ่มขึ้นอย่างฮวบฮาบ และอาหารเจทั้งหลายก็ขึ้นราคาอย่างฮวบฮาบเช่นกัน แม้ว่าราคาที่จ่ายจะแสดงถึงความพึงพอใจหรือมูลค่าที่ผู้บริโภคประเมินต่อสินค้านั้น แต่ว่าการที่ต้องจ่ายราคาที่แพงกว่าปกติหลายเท่าจากช่วงเวลาปกติ มันก็ดูจะบั่นทอนกำลังจ่ายและกำลังใจของคนที่กินเจไปไม่มากก็น้อยเหมือนกัน
ถ้าเราอยากกินเจเพื่อลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลง เราจะลองกินเจกันแบบอื่นได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น หากทุกคนกินเจในเดือนที่ตัวเองเกิด หรือว่ากินเจทุกสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ตลอดทั้งปี หรือว่ากินเจหนึ่งหรือสองวันต่อหนึ่งสัปดาห์ มันจะทำให้ไม่เกิด shock ในระบบ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง และข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีสำคัญไม่น้อยกว่าการงดเนื้อสัตว์ในเทศกาลกินเจก็คือการทำใจให้บริสุทธิ์ หากว่าการกินเจเป็นการย้ำเตือนถึงการทำความดีข้อนี้ด้วย ก็ไม่จำเป็นที่ต้องทำแค่ปีละสิบวันในช่วงที่ประเพณีกำหนดไว้ ทำอาทิตย์ละวันทั้งปีก็น่าจะเป็นสิ่งที่เตือนใจให้เราเป็นคนดีได้อย่างยั่งยืนกว่า
แต่ผมก็เข้าใจครับการกินเจในช่วงเทศกาลนั้นทำให้เรามีตัวเลือกที่หลากหลาย มีคนรอบข้างที่ทำเหมือนๆ กัน และมีเรื่องของประเพณี เป็นแรงส่งให้มีกำลังศรัทธามากขึ้น แต่หากลองคิดดูว่า หากเราทุกคนลดการกินเนื้ออย่างต่อเนื่องมันจะส่งผลให้มีการลดการเลี้ยงสัตว์ในระยะยาว มากกว่าการลดการกินเนื้อแบบฮวบฮาบในช่วงสิบกว่าวัน แล้วก็กลับมาบริโภคเนื้อนในอัตราเดิม นอกจากนั้นสำหรับบางคนแล้วหลังออกเจก็กินเนื้อในอัตราที่เพิ่มขึ้นในมื้อแรกๆ ของการออกเจ เนื่องจากอดมานาน
หมายเหตุ – เรื่องศรัทธาความเชื่อนี้เป็นเรื่องที่ควรเก็บไว้ในใจ กล่าวถึงศรัทธาของตน แต่ไม่ควรกล่าวดูหมิ่นหรือลบหลู่แนวคิดของคนอื่น ได้อ่านเจอในหลายกรณีในอินเตอร์เนตที่คนเถียงทะเลาะกันเพราะเรื่องกินเนื้อวัว ไม่กินเนื้อวัว ไม่กินเนื้อวัวเป็นคนดี กินเนื้อวัวเป็นคนไม่ดี (ประเด็นการกินเจก็เช่นกัน) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่ตรงกับประโยคที่ผมคิดขึ้นเองว่า “อัตตาข้าใครอย่าแตะ”

(เขียนเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑)

ความทรงจำแช่แข็ง

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนพึ่งจะได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง “แฟนฉัน” จริงๆ ก็ตั้งใจว่าจะดูตั้งแต่หนังเข้าที่เมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสไปดู พอหนังออกเป็นแผ่นก็ว่าจะซื้อ แต่ก็ไม่ได้ซื้อซะที ก็ทิ้งไว้จนเ้นิ่นนานกว่าจะได้ดู แต่ก็ดันได้ดูหนังฮ่องกงเรื่อง “แฟนเฉิน” ซึ่งออกมาทีหลังก่อนแฟนฉัน

จะว่าไปแล้ว “แฟนฉัน” ก็เป็นหนังที่ดูเพลินดี ได้สะกิดความทรงจำเก่าๆ ที่ฝังในใจออกมาบ้าง ทั้งเรื่องการละเล่น หนัง หรือการ์ตูน แม้จะเก็บได้ไม่หมดในหลายๆ เรื่องที่ผมเคยพบเห็นในวัยเด็ก แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี ดูไปก็รู้สึกเบาๆ สบายๆ

โดยรวมแล้วผมชอบหนังเรื่องนี้ครับ แต่ที่ประทับใจที่สุดก็คงเป็นตอนจบ ที่ต้องการสื่อถึงความทรงจำที่ถูกหยุดไว้ตั้งแต่สมัยยังเด็ก ความรู้สึกเก่าๆ เป็นยังไง ปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น

ในชีวิตของคนเราตั้งแต่เด็กจนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ เราได้พบพานกับคนมากมาย และก็มีหลายๆ คนที่ห่างหายไปจากชีวิต และคงเหลืออยู่กับเราแค่ความทรงจำ ลองคิดดูว่าตั้งแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย จนถึงชีวิตการทำงาน เราได้รู้จักกับใครบ้าง เป็นเพื่อนกับใครบ้าง และตอนนี้มีใครบ้างที่ยังมีบทบาทอยู่ในชีวิตเรา
ยกตัวอย่างเช่นตัวผมเอง เมื่อลองคิดย้อนไปตอนอนุบาล ผมจำได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น อย่างเช่น ครูฉลวย ซึ่งเป็นครูประจำชั้นตอนอนุบาล 1/5 เป็นหญิงชราร่างเล็กผมขาวทั้งหัว ใจดี (แต่จำได้ว่าตีผมเหมือนกัน) ความทรงจำของผมต่อคุณครูก็ยังคงเป็นอย่างที่จำได้ในวัยอนุบาล ... มันถูกแช่แข็งไว้อย่างนั้น ณ เวลานั้น แม้ว่าจะผ่านมาแล้วยี่สิบกว่าปี ก็หวังว่าคุณครูจะยังคงสบายดี

พอลองคิดๆ ดูแล้วก็มีหลายๆ คน ที่ความทรงจำของผมเกี่ยวกับคนเหล่านั้นถูกแช่แข็งไว้ ณ อดีต ทั้งญาติ เพื่อน และคุณครู ถึงแม้ในปัจจุบันชีวิตอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ว่าความทรงจำเหล่านั้นก็ยังถูกเก็บไว้อย่างดี และพวกเขาก็ยังคงอยู่ในรูปแบบนั้น อย่างที่เขาเป็นในอดีต บางคนปัจจุบันคงจะอายุสามสิบแล้ว แต่ว่าในความทรงจำของผม เขาก็ยังเป็นเด็กอายุ 7-8 ขวบ ที่เคยชวนกันคุยในห้องเรียน เล่นทอยตุ๊กตุ่นหลังเลิกเรียน และความทรงจำทั้งหมดก็หยุดไว้แค่นั้น เมื่อต้องแยกย้ายไปตามหนทางของแต่ละคน (ถ้าสมัยก่อนมีพวก Social network เหมือนในปัจจุบันก็คงจะมีโอกาสอัพเดทชีวิตกันได้)

แต่ว่าที่สำคัญที่สุดคือ ความทรงจำอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง และก็ยังเิติบโตไปเรื่อยๆ เป็นความทรงจำที่เรากำลังสร้างอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าในที่สุดคนที่อยู่รอบข้างเรา ณ ปัจจุบันนี้อาจต้องแยกย้ายและต้องแช่แข็งความทรงจำไว้ ณ จุดนั้นๆ แต่ก็หวังว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ดี ถึงแม้จะมีทั้งเรื่องหวานขมระคนกันไป (อย่างเพลงพี่ป๊อด) และก็หวังไว้อีกว่าอยากจะมีบางคน และหลายคนที่จะร่วมเติบโตไปด้วยกันตลอดชีวิต ... ร่วมสร้างความทรงจำที่มีชีวิตไปจนสุดทาง

ปล. “แฟนเฉิน” เป็นมหากาพย์หนังฮ่องกงนำแสดงโดยพระเอกชื่อดัง ประกบกับดาราหญิงเจ้าบทบาทเกือบทั้งเกาะ - -“ แม้จะเป็นหนังต้นทุนต่ำ แต่ปรากฎการณ์ของหนังเรื่องนี้ก็สั่นคลอนวงการบันเทิงของฮ่องกงได้ทั้งเกาะ

(เขียนเมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๑)

หมอดู หมอดู และหมอดู

วันนี้ได้เห็นพาดหัวข่่าวหน้าหนึ่งของ The Wall Street Journal (15 ก.ย. 51 ) แล้วก็ค่อนข้างตกใจมากเพราะว่ายักษ์ใหญ่ทางการเงินของวอลล์สตรีททั้งสามแห่ง คือ, Merill Lynch และ AIG ต่างประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ราคาหุ้นโดยเฉพาะของ Lehman Brothers นับแต่ต้นปีนี้ตกลงมาถึง 94% ส่วนอีกสองบริษัทที่เหลือก็ไม่ได้ต่างกันมาก ลดลงมา 68 (ML) % และ 79% (AIG)

ปล. ไม่รู้ของ AIG นี่จะตกหนักว่านี้หรือเปล่านะครับ หลังจาก แมนยู แพ้ลิเวอร์พูลไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา :) นานๆ ได้เฮทีตามประสาแฟนหงส์ (AIG เป็นสปอนเซอร์ที่เสื้อแข่งของแมนยูฯ เป็นลางร้ายของบริษัทจริงๆ)
นับเป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจมาก ไม่รู้ว่าจะสถานะทางการเงินที่ง่อนแง่นจากปัญหา Subprime Mortgage ของยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะส่งผลต่อเนื่องไปเพียงใด ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ทั้งหน้าหนึ่งของ WSJ ก็มีแต่เรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเงินของสหรัฐ แต่พอผมลองอ่านมาเรื่อยๆ จนถึงด้านล่าง ก็พบเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย

อ่านพาดหัวบรรทัดแรก “Political Turmoil in Thailand” ก็รู้สึกว่าสื่อต่างชาติให้ความสำคัญกับการเมืองในประเทศเรา อืมม ก็ดี แต่พออ่านลงมาบรรทัดที่สอง “Boosts Business of Astrologers” โอละพ่อล่ะที่นี้ และรูปประกอบก็ไม่ใช่ใครอื่น ไม่ใช่นักการเมือง สารพัด ส. ที่เป็น Candidate นายกรัฐมนตรีของไทยแต่อย่างใด แต่เป็นรูปของหมอดูชื่อดัง “ลักษณ์ เลขานิเทศ”

เนื้อหาในข่าวก็กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจหมอดูในประเทศไทยที่เติบโตรุ่งเรืองสวนทางกับความสงบสุขของประเทศ นับตั้งแต่มีการปฏิวัติจนถึงล่าสุดที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะจัดรายการทำอาหารทางทีวี (ชิมไป บ่นไป) มีการกล่าวถึงประวัติหมอลักษณ์ว่าโด่งดังมาจากกรณีทำนายว่าดาราสาวชื่อดังท้อง (แหม่มเบนโล) ไปจนถึงการรวมตัวกันแต่งเสื้อสีเหลืองเพื่อต้านมนต์ดำเขมร (เอาเข้าไป และคิดว่าใครเป็นแหล่งข่าวเนี่ย) รวมถึงการที่บุคคลระดับสูงในประเทศเชื่อเรื่องหมอดูในการตัดสินใจต่างๆ จนถึงเรื่องที่หมอดูเก่งกาจ จงใจพระ เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากมันเกร่อขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งการทำนายดวงทางโทรศัพท์ และิอินเตอร์เนท

ผมเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีอคติต่ออาชีพหมอดู แม้ว่าหลายคนจะใช้หมอดูเป็นทีพึ่งทางใจ ยามที่ใจอ่อนแอ ซึ่งมันก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าหมอแก้ดวงได้ก็บอกว่าตัวเองเก่ง แก้ไม่ได้ก็อ้างว่ากรรมเก่าของลูกค้า เรื่องนี้ผมก็ถือว่าเป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเชื่อและทำตามที่ตัวเองเชื่อ

แต่ที่มันรำคาญใจทุกครั้งที่ผมอ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ที่หมอดูพวกนี้มักจะออกมาทำนายอะไรที่เกี่ยวกับประเทศชาติ และสาธารณะ ไอ้พวกที่ว่า จะเกิดภัยพิบัติเืดือนนั้นเืดือนนี้ บุคคลสำคัญจะเสียชีวิต จะมีการรัฐประหาร ไอ้พวกนี้เหมือนสักแต่ว่ามีปากก็พูดไป ไม่ได้ออกมารับผิดชอบเวลาที่ทายผิดพลาด แต่เวลาทายถูกขึ้นมาก็จะยกตนขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของชาติ แสร่ดดด (ขอใช้ภาษาเด็กวัยรุ่่นหน่อย)

ผมได้อ่านบทความของคุณแทนไท ประเสริฐกุลที่เขียนในนิตยสาร A Day ฉบับหน้าปกคุณประภาส ชลศรานนท์ แล้วก็ถูกใจและตรงใจกับที่คิด พวกนี้ทาย 10 ถูก 1 ก็จะเอาที่ทายถูกเนี่ยมาโฆษณาไม่รู้จบ แต่พอทายผิดก็ปล่อยให้เงียบไปตามสายลม บางทีอ่านหนังสือพิมพ์ก็คิดว่าประเทศไทยเนี่ย ไ่ม่ต้องมีนักวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์เลยก็ได้ หมอดูเนี่ย (แม่ม) ทายได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาวะทางการเมือง และสภาพเศรษฐกิจ

ส่วนตัวผมเองลึกๆ ก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน เรื่องของจิตวิญญาณ แต่ว่าชีวิตของเราที่ดำเนินไปทุกวัน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่กับสิ่งที่อธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ วัดได้ สัมผัส และรับรู้ได้ ควรหรือที่เราควรจะให้หมอดูเป็นผู้กำหนดชีวิตหรือความเป็นไปในสังคมของเรา

ไม่รู้เหมือนกันว่า WSJ เลือกบทความนี้มาลงในหน้าหนึ่ง เพื่ออะไร อาจต้องการช่วยลดความเครียดของผู้อ่านจากสภาพเศรษฐกิจของอเมริกาจากบทความเบาๆ (สมอง) หรือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขความเครียดของชาวอเมริกัน แต่รู้อย่างเดียวว่าหมอลักษณ์แก Go inter แล้วล่ะ

----------------

มีอาจารย์ Finance เอาเนื้อความใน Fortune Cookie ที่ร้านอาหารจีนในอเมริกามักจะให้ลูกค้าเวลาเช็คบิลมาแปะไว้ที่บอร์ด และพิมพ์ข้อความประกอบแปะไว้ด้วยว่า "Call for Paper for the Conference on Behavioral Finance Inspired by Fortune Cookies" ... ข้อความในคุกกี้ก็คือ "No harm of putting all your eggs in one basket- if you look them closely"

(เขียนเมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑)

อาหารยามยาก

ว่ากันด้วยอาหารยามยาก หลายๆ คนก็คงจะคิดถึง บะหมี่สำเร็จรูป หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “มาม่า” ทั้งที่บะหมี่สำเร็จรูปมีหลากหลายยี่ห้อ แต่ว่ามาม่าก็เป็นชื่อที่เรียกกันติดปากกันมานานแล้ว เหมือนกับที่เราเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ๊บ” ทั้งที่มันเป็นยี่ห้อหนึ่งของผงซักฟอกเช่นกัน

ในเมืองไทยหากยอดขายของมาม่าเพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจคงเริ่มจะมีปัญหาแล้ว เหมือนเป็น Leading Indicator ทางเศรษฐกิจที่บ่งบอกว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคคงเริ่มถดถอย มาม่า และปลากระป๋อง เรียกได้ว่า เป็นอาหารยามยากของคนไทยก็ว่าได้ เหมือนที่มีการพูดกันเล่นๆ ในหมู่นักพนันบอล ที่คืนไหนเสียบอล ก็จะบอกว่าคืนนี้กินมาม่าอีกแล้ว

วันก่อนได้อ่านกรอบเล็กๆ ในนิตยสารไทม์ เกี่ยวกับการบริโภค “Baked Beans” ในประเทศอังกฤษ ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 12% ทั้งนี้เนื่องจากราคาอาหารโดยรวมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งไอ้เจ้าถั่วนี่เป็นอาหารที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอาหารกระป๋องชนิดอื่นๆ จำได้ว่าตอนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ไปเห็นเจ้าถั่วกระป๋องยี่ห้อเทสโก้ ราคาตกแค่กระป๋องละ 7 เพนนี ซึ่งเรียกว่าถูกมากๆ ถูกกว่าข้าวเปล่าซะอีก (ในรูปนี่ยังดีไซน์พัฒนาขึ้นมาหน่อย ตอนนั้นที่เห็นเป็นแค่ฉลากขาวๆ ติดคำว่า Tesco Value) ว่ากันว่าถั่วนี้สามารถกินแก้หนาวได้ดีมากๆ แต่ผมก็ไม่ค่อยชอบทานเท่าไหร่
ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกันยอดขายของอาหารกระป๋องโดยเฉพาะ Spam ก็เพิ่มขึ้นถึงกว่า 10% ไอ้เจ้าสแปมนี่ผมก็ชอบทานนะ มันทำจากหมูบด อารมณ์คล้ายๆ ไส้กรอกผสมกับแฮม เอาไปทอดให้กรอบๆ หน่อยก็อร่อยดี หรือหั่นเป็นลูกเต๋าแล้วทอดให้กรอบ ผัดกับผักก็เข้ากันดี แต่สำหรับผมมันก็ไม่ได้ราคาถูกมากมายนะ ก็พอๆ กับราคาไส้กรอกนั่นแหละ
โดยส่วนตัวของผมแล้วบะหมี่สำเร็จรูป เป็นอาหารที่ผมชื่นชอบมาก ไม่ใช่เพราะมันง่าย เพราะมันราคาถูก แต่ผมชอบเพราะมันถูกปาก แต่แม่ก็ไม่ชอบให้กินมาก โดยบอกว่ามันใส่ผงชูรสเยอะและสารอาหารน้อย แต่แม่หารู้ไม่ว่า ก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยมันใส่ผงชูรสเยอะกว่าซะอีก ตอนแรกๆ เราก็นึกว่าน้ำตาลเห็นใส่เป็นช้อนๆ ปรากฎว่ามันคือผงชูรสนั่นเอง

จะว่าไปแล้วก๋วยเตี๋ยวนี่ใส่ผงชูรสเยอะมาก ตั้งแต่น้ำซุปในหม้อ เคยมีโอกาสเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวเตรียมน้ำซุป เขาใส่ผงชูรสซองเล็กทั้งถุง ตามด้วยเกลืออีกถุง นอกจากนั้นพวกอาหารตามสั่งก็ใส่ด้วยเช่นกัน มีครั้งนึงตักพริกน้ำปลา เห็นมีเกล็ดเล็กๆ ติดอยู่ที่ช้อน ปรากฎว่าไม่ใช่น้ำตาลทราย มันคือผงชูรสอีกแล้ว ไม่ทราบว่าจะกระตุ้นต่อมรับรสของคนกินไปถึงไหน จึงได้ใส่มันซะในทุกขั้นตอนของการทำอาหาร
กลับมาที่เรื่องบะหมี่สำเร็จรูป ยี่ห้อที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ ไวไว โดยเฉพาะรสต้นตำรับ ในรูปทางซ้ายมือ ข้างหลังซองจะมีรูปเด็กทานบะหมี่อยู่ ว่ากันว่าคือ ดาราชาย เพ็ญเพชร เพ็ญกุล ยามเป็นเด็ก ไวไวรสนี้จะมีเส้นที่เหนียวและเค็ม เหมาะกับการนำไปทำยำมาม่ามาก (ยำไวไวนั่นแหละ) อีกรูปก็คือรสต้มยำ (ทางขวามือ) เป็นที่น่าเสียดายมากที่รสต้มยำแบบทางขวามือนี้ไม่มีขายในประเทศไทยแล้ว แต่ว่าโชคดีมากผมได้มาเจอมันขายอีกครั้งในอเมริกา นับเป็นเรื่องดีๆ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมพบที่นี่เลยทีเดียว

รสต้มยำของไวไว ในปัจจุบันไม่ถูกปากผมอย่างแรง มันรสเผ็ดแบบจางๆ ไม่เข้มข้นเหมือนแบบดังเดิม ที่มีน้ำพริกเผาซองโตเพียงซองเดียว แต่เข้มข้นมาก นอกจากนั้นเส้นของไวไวควิกมันก็บางๆ ไม่มีความเหนียวเอาเสียเลย ถ้าเสียงเบาๆ ของผมส่งไปถึงบริษัทไวไวได้ ก็หวังว่าจะได้เห็นไวไวรสต้มยำแบบดั้งเดิมวางขายในไทยอีกครั้ง เรารู้ว่าคุณยังผลิตอยู่นะ แต่ไม่ขายเท่านั้นเอง :’(
บะหมี่สำเร็จรูปที่ผมชอบก็คือ เมียวโจ้ หลังจากที่เมียวโจ้ถูกเทคโอเวอร์โดยมาม่าก็หายไปจากตลาดเมืองไทย เมียวโจ้มีเส้นและรสที่อร่อยมาก โดยเฉพาะรสหมูย่าง และรสเป็ดพะโล้ แต่เหมือนฟ้าผ่าสองครั้งในที่เดียวกัน ผมก็ได้มาเจอเมียวโจ้รสเป็ดพะโล้ที่อเมริกาเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นมาม่าเท่านั้นเอง รสชาติยังคงเหมือนเดิม แต่หาได้แค่รสเป็ดพะโล้อย่างเดียว

เคยได้ยินโฆษณาบะหมี่สำเร็จรูปเก่าๆ ซึ่งมีประโยคที่ผมจำได้คือ “...ชีวิตมันไม่ได้สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่…” แต่ผมก็คิดว่าแม้ชีวิตมันจะสำเร็จรูป หรือดูจะถูกกำหนดเป็นสูตรสำเร็จไว้แล้ว เช่น เรียน สอบ แข่งกันหางานให้ได้เงินเยอะ พยายามมีครอบครัวที่มั่นคง แต่เราก็เติมสิ่งดีๆ หรือสีสันให้กับชีวิตได้ เช่นเดียวกับการเติมหมู ไก่ กุ้ง ไข่ หรือผักเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับบะหมีสำเร็จรูปได้เช่นกัน

ขณะจะจบบทความนี้ก็มีเสียงเพลงแว่วเข้ามาในหู ซึ่งเป็นเพลงโฆษณาบะหมี่สำเร็จรูปอีกเช่นกัน จำได้แค่ประโยคเดียวนี่แหละ
"...ก็แค่เส้นบางๆ ระหว่างทางของเรา..."
(เขียนเมื่อ ๗ กันยายน ๒๕๕๑)

ส่งเสียงดังทำไม

หมายเหตุ - เรื่องนี้ผมจำไม่ได้ว่าอ่านมาจากที่ไหนเหมือนกัน (ขออภัยเจ้าของเรื่องด้วย) ซึ่งเนื้อเรื่องมันอาจจะมีความผิดเพี้ยนไปบ้างจากการแต่งเติมของผม แต่ก็คิดว่าคงไม่มากจนทำให้เนื้อหาหลักของเรื่องนั้นเปลี่ยนแปลงไปจนผิดจุดมุ่งหมายของเรื่อง


ณ วัดเซนแห่งหนึ่ง ทุกๆ คืนพระในวัดจะต้องนั่งสมาธิรวมกันในอาราม พระทุกรูปไม่ว่าจะอาวุโสสูงหรือต่ำแค่ไหน ก็นั่งอยู่ในห้องเดียวกันทั้งหมด ความเงียบเป็นสิ่งที่ำสำคัญมากในการทำสมาธิ ดังนั้นการส่งเสียงดังและการพูดคุยจึงเป็นสิ่งต้องห้ามที่รุนแรงมาก และถือเป็นการผิดกฏของวัดขั้นรุนแรง ในคืนหนึ่งมีพระหนุ่มรูปใหม่เข้ามาที่วัดนี้ ซึ่งพระรูปดังกล่าวก็ต้องเข้าร่วมการนั่งสมาธิด้วย
ในคืนดังกล่าว ในห้องนั่งสมาธิ พระหนุ่มเมื่อนั่งสมาธิไปได้สองสามชั่วโมง ก็เกิดความเมื่อยตัวอย่างรุนแรง ด้วยความที่ยังใหม่และขาดความอดทนอดกลั่นต่อความเมื่อยขบที่รุมเร้า ทำให้พระหนุ่มส่งเสียงบ่นออกมา ซึ่งแทบจะทุกครึ่งชั่วโมงพระหนุ่มก็จะส่งเสียงครวญครางออกมา พระรูปอื่นก็ได้ยินเสียงดังกล่าว อย่างไรก็ตามพระบางรูปที่อยู่ในสภาวะที่จิตมั่นก็จะไม่ได้รับการรบกวนจากเสียงรบกวนนั้น
แต่เนื่องด้วยสภาพการตั้งจิตของพระแต่ละรูปไม่เหมือนกัน พระอาวุโสรูปหนึ่งจึงส่งเสียงออกมาตักเตือนให้พระหนุ่มหยุดการส่งเสียงรบกวนผู้อื่น โดยกล่าวว่า “เจ้าจะส่งเสียงดังทำไม ไม่รู้หรือว่าการส่งเสียงดังระหว่างการทำสมาธิเป็นการผิดกฎข้อห้ามอย่างรุนแรง” พระหนุ่มจึงกล่าวว่า “ข้าก็รู้ว่าทำผิดนะ แต่มันเกินจะทนจริงๆ ข้าไม่สามารถต้านทานกับความเมื่อยขบที่รุนแรงได้จึงต้อง ส่งเสียงออกมา”
บทสนทนาระหว่างพระสองรูปก็ดำเนินไปอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระอีกรูปก็ส่งเสียงดังออกมาว่า “ทำไมพวกเจ้าสองคนจึงส่งเสียงดังในเวลาทำสมาธิ หากจะตักเตือนกันทำไมไม่รอให้จบช่วงการนั่งสมาธิก่อน เจ้าทั้งสองควรรู้สึกละอายที่ทำเช่นนี้ เพราะรบกวนคนอื่นที่นั่งสมาธิอยู่”
เวลาผ่านไปไม่นานห้องทำสมาธิทั้งห้องก็กลายสภาพเป็นเหมือนตลาดสดที่ทุึกคนกล่าวโทษกันไปโทษกันมา และการนั่งสมาธิรวมในคืนนั้นก็ล้มเหลวในที่สุด โดยหารู้ไม่ว่าคนทุกคนที่กล่าวโทษผู้อื่น ก็เป็นคนที่ทำผิดกฎเหมือนกัน


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ......

(เขียนเมื่อ ๒ กันยายน ๒๕๕๑)

บางแก้วอาวุโส

จอห์นเป็นสุนัขพันธ์บางแก้วที่พี่สาวของผมซื้อมาเลี้ยงตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นบ้านของผมมีสุนัขอยู่สามตัว โดยมีพี่ใหญ่ชื่อเจ้าแย๊ปเป็นสุนัขพันธุ์ไทย (ตายไปแล้วเมื่อสามปีก่อน) และก็มีสุนัขบางแก้วอีกสองตัวชื่อโจและดี้ (ปัจจุบันทั้งสองอายุประมาณ 13 ปี) ตามลำดับ

ถ้านับตามลับอาวุโสในกลุ่มสุนัขด้วยกัน จอห์นก็นับเป็นน้องคนสุดท้อง อย่างไรก็ตามในสายตาของจอห์น มันนับถือเจ้าแย๊ปเพียงตัวเดียว โดยมันจะยอมเจ้าแย๊ปเป็นส่วนใหญ่ สำหรับอีกสองตัว จอห์นมันนับว่าอยู่ในระดับเดียวกับมัน โดยทั้งสองก็เป็นเหมือนลูกน้องเจ้าแย๊ปเหมือนกัน

สำหรับจอห์นกับโจซึ่งเป็นบางแก้วตัวผู้เหมือนกัน จะไม่ถูกกันมาก โดยส่วนใหญ่จะมีมูลเหตุจากการอิจฉาเรื่องของกิน และจอห์นเป็นหมาที่ได้นอนอยู่ในบ้าน ต่างกับตัวอื่นโดยจะนอนอยู่ในครัว โดยแม่จะล่ามโซ่ไว้เวลานอน ไม่งั้นมันก็จะไปค้นหาของกินจากถังขยะ (ทำตัวเหมือนสุนัขอดอยากมาก)

ปัญญาการนับอาวุโสของจอห์นกับสุนัขตัวอื่นภายในบ้าน ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่กับผมนี่ล่ะสิที่เป็นปัญหา ในตอนที่ซื้อจอห์นมานั้น ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ดูแลมันตั้งแต่ยังเด็กๆ มานอนเล่นอยู่ในครัวในตอนกลางคืนเป็นเพื่อนมันในบางครั้ง เพราะตอนมาใหม่ๆ คาดว่ามันจะคิดถึงแม่ของมัน ร้องตลอดเวลาตอนกลางคืน คงจะกลัวด้วยมั้ง ซึ่งการที่นำมันมานอนในครัวตั้งแต่เด็กทำให้มันเคยชินและไม่ยอมนอนข้างนอกบ้านอีกเลย
พอเลี้ยงจอห์นอยู่ได้ไม่กี่เดือนผมก็ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งตอนนั้นจอห์นก็ยังอายุไม่กี่เดือน ยังไม่ผลัดขนนุ่มๆ ของมันเป็นบางแก้วที่โตเต็มวัย ซึ่งการที่เป็นหมาเด็กตัวใหม่ในบ้าน คาดว่าจอห์นคงถูกตามใจอย่างมาก ได้กินอะไรมากกว่าคนอื่น (สุนัข) เนื่องจากเวลาอยู่ในครัวเวลาใครอยู่มันก็จะคอยขอของกิน โดยทำหน้าตาน่ารัก ยกมือเป็นระวิงเพื่อสะกิดเรียกร้องความสนใจ

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผมเรียนจบกลับมาอยู่บ้าน สำหรับเจ้าสามตัวนั้นก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะว่าอยู่กันมาหลายปี ไม่นานมันก็จำได้ สำหรับเจ้าจอห์นซึ่งมันจำไม่ได้ว่าผมเคยรู้จักกับมันมา เพราะไปตั้งแต่มันยังเด็ก ต้องใช้เวลาหลายวันกว่ามันจะยอมรับผมเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน (ในสายตาของมัน)

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจอห์นจะให้การยอมรับผมเป็นสมาชิกในบ้าน แต่ว่าความนับถือที่มีต่อผมมันน้อยกว่าเจ้าแย๊ปซึ่งเป็นสุนัขพี่ใหญ่ ผมอยู่ในระดับอาวุโสที่ต่ำที่สุดเพราะว่าเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน !!! สำหรับผมซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องในบ้าน ซึ่งมีอาวุโสต่ำสุดมาตลอด เรื่องนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย .... แต่มันคาดไม่ถึงเท่านั้นว่าผมจะมีอาวุโสต่ำกว่าสุนัข

ผมเป็นสมาชิก (มนุษย์) คนเดียวในบ้านที่จอห์นจะขู่ เวลาที่ทำอะไรให้ไม่พอใจ หรือแม้แต่เวลากลับบ้านดึกๆ แล้วเดินเข้าห้องครัว มันก็จะขู่ เพราะว่าเหมือนไปรบกวนที่พักผ่อนของมัน และเวลาเล่นกับมันแรงๆ มันก็จะแรงกลับ มีหลายครั้งที่ผมเป็นแผลเพราะเขี้ยวของมัน ซึ่งบางครั้งก็โกรธและทะเลาะกับมัน บางทีก็งอนไม่เล่น ไม่คุย กับมันหลายวัน ทำให้มันซึมไปเหมือนกัน จนแม่ต้องบอกว่า “ไปทะเลาะกับมันทำไม มันเป็นหมา มันไม่รู้เรื่อง” ... ไม่จริงครับ มันรู้เรื่อง รู้ดีเสียด้วย เจ้านี่มันร้าย

อย่างไรก็ตามมันก็เชื่อฟังผมในบางครั้ง เช่นเวลาเรียกให้ไปเข้ากรง มันก็เข้า ทำให้ผมพอมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่บ้าง

แต่ว่าในสายตาของจอห์น ผมก็เป็นเพื่อนที่ดีของมันคนหนึ่ง เพราะเป็นไม่กี่คนในบ้านที่สามารถเล่นแรงๆ กับมันได้ เช่น แย่งของกัน วิ่งไล่จับ มันก็ดีใจทุกครั้งที่ผมกลับบ้านเร็ว มีหลายครั้งที่มันดีใจมาก จนฉี่ราด เวลาที่ผมกลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตก แต่ว่าพอกลับเข้าไปในครัวที่เป็นที่มั่นของมัน มันก็จะขู่ผมเหมือนเดิม แม่ก็มักจะบอกว่า “มันขู่เพราะอยากเล่นด้วย” เพื่อไม่ให้เราทะเลาะกัน... แต่สำหรับผมคิดว่ามันขู่จริงๆ นะ

(เขียนเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๑)

ยังไม่ประคองถ้าเธอล้ม ถ้าเธอลุกขี้นยืนได้เองไหว

มีหลายครั้งเหลือเิกินที่ผมรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็มีเพลงบางเพลง ถ้อยคำของเพลง มันดังอยู่ในหัว แล้วมันก็ทำให้นึกถึงเรื่องราวอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่บางทีที่มีเหตุการณ์มาสะกิดใจก็จำทำใ้ห้นึกถึงเพลงบางเพลงเช่นกัน เช่น ตอนฝนตกก็จะนึกถึงเพลง “ฝน” ของเบิร์ดกับฮาร์ต ไม่ก็เพลง “เล่าสู่กันฟััง” ของพี่เบิร์ด

ขณะนี้อยู่ดีๆ เพลง “ไม่รักแต่คิดถึง” ของเฉลียงมันก็ดังอยู่ในหัว โดยเฉพาะท่อนสร้อยที่ว่า “ยังไม่ประคองถ้าเธอล้ม ถ้าเธอลุกขึ้นยืนได้เองไหว” ซึ่งเพลงท่อนนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวบางอย่างขึ้นมา ...

สมัยที่ยังเด็กมากๆ ประมาณชั้นประถม ผมเป็นคนที่ชอบหาสัตว์ต่างๆ มาเลี้ยง เช่น ปลา และแมลงต่างๆ และแมลงที่ผมชอบนำมาเลี้ยงก็คือหนอนแก้ว หนอนแก้วหาไม่ยากเพราะว่าที่บ้านปลูกต้นส้มจี๊ด ซึ่งก็จะมีผีเสื้อหนอนแก้วมาไข่ ผมก็จะเก็บหนอนพวกนั้นมาเลี้ยงไว้ในกล่องหรือขวด

ในช่วงระยะแรกหนอนแก้ว จะมีสีน้ำตาลออกไปทางดำๆ ดูไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่ หลังจากนั้นมันก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวทั้งตัว มีจุดใหญ่ๆ สองจุดอยู่ที่หัว ซึ่งดูคล้ายกับตาของมันมาก หนอนแก้วจะกินจุมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มันเป็นสีเขียวทั้งตัว ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นก็ต้องเตรียมหากิ่งไม้มาให้มันเกาะในช่วงที่เป็นดักแด้

ก่อนที่หนอนจะเป็นดักแด้มันจะเกาะที่กิ่งไม้นิ่งๆ ตัวของมันก็จะแข็งและตึงมาก ในที่สุดผิวภายนอกก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเปลือกแข็งๆ สีเขียว หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ จากเขียวเป็นน้ำตาล ผ่านไปหลายสัปดาห์มันก็จะออกมาเป็นผีเสื้อในที่สุด

หลายครั้งที่ผีเสื้อออกไปจากดักแด้โดยที่ผมไม่มีโอกาสเห็น ทิ้งไว้แค่เปลือกเปล่าๆ แต่ว่ามีีครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเห็นเจ้าผีเสื้อกำลังแทรกตัวออกจากดักแด้ มันพยายามใช้ขาและปีกดันเปลือกดักแด้ให้แตก

ด้วยความที่หวังดีอยากให้ผีเสื้อไ้ด้ออกมาโบยบินเร็วๆ ผมก็ได้ทำสิ่งผิดพลาดอย่างหนึ่ง โดยการช่วยแกะเปลือกดักแด้ออก แต่ทว่าเจ้าผีเสื้อตัวนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสกางปีกและบินไปสู่โลกกว้างอย่างที่ผมตั้งใจไว้ มันร่วงลงมา ปีกของมันอ่อนปวกเปียกและตายในที่สุด

ภายหลังผมถึงได้รู้ความจริงว่า การที่ผีเสื้อพยายามแทรกตัวออกจากดักแด้นั้น เป็นการกระตุ้นให้มันได้ออกแรง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากที่หลับไหลมานาน และทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงปีกของมัน และทำให้มันโบยบินได้ในที่สุด ...

เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เด็กยิ่งล้มยิ่งโตไว” มันก็คงจะจริงในกรณีที่เด็กสามารถพยายามลุกขึ้นเองได้ เขาก็จะเีรียนรู้ที่จะลุก และจะระวังที่จะไม่ล้มในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งผมก็ถือว่าคือการเติบโต แต่ก็มีหลายกรณีในปัจจุบันที่เด็กล้มไปแล้ว และก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาได้อีก หรือหมดความตั้งใจที่จะลุกขึ้น และหมดอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย

หลายครั้งที่ผมเห็นคนที่รักสะดุดล้มแต่ก็ไม่ยอมเข้าไปช่วย เพราะต้องการให้เขาเข้มแข็ง ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการทำให้เขารับรู้ว่าเราเป็นห่วง และจะเข้าไปช่วยแน่ๆ ถ้ามันเหลือบ่ากว่าแรงของเขาจริงๆ

ตอนนี้หลานของผมก็อายุจะ 2 ขวบแล้ว เนื่องจากเป็นหลานคนแรกของบ้าน รอบตัวของเขาก็เต็มไปด้วยคนที่พร้อม ที่จะพยายามไม่ให้เขาล้ม และอุ้มเขามาปลอบเมื่อล้มลงไปแล้ว ผมก็หวังว่าเขาจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งโดยล้มให้น้อยที่สุด และเมื่อเขาล้ม ก็หวังว่าเขาจะมีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาและเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง เป็นเด็กที่เข้มแข็งและมีจิตใจสดใส โดยรับรู้ว่ามีคนที่จะคอยอุ้มเขาขึ้นมา ถ้าเขาไม่ไหวจริงๆ


ไม่รักแต่คิดถึง
โดย เฉลียง
ชีวิตบางช่วงที่เกี่ยวกัน เราได้แลกเปลี่ยนซึ่งความฝันหลายครั้งหลายหน... หัวใจไม่ตรงกัน แต่รู้กันต่างคนมีน้ำใจ
เธอไม่ต้องนวลอย่างดวงจันทร์ และฉันไม่ใช่ดวงตะวันฉายเราเพียงเป็นคน คบกันตามสบาย เมื่อร้างไกลห่วงใยก็แล้วกัน
* ไม่สำคัญ...ว่าเธอมีใคร ไม่ใช่กงการอะไรของฉันไม่สนใจเมื่อเธอสุขสันต์ ขอรู้เพียงวันที่เธอไม่มีใครยังไม่ประคองถ้าเธอล้ม ถ้าเธอลุกขึ้นยืนได้เองไหวขอรู้....ขอเห็นว่าเธอเดินเองได้ จะขอมองดูไกลๆ อย่างชื่นชม
(ซ้ำ *)
ไม่สำคัญ....ว่าเธอมีใคร ไม่ใช่กงการอะไรของฉันต่างหนทางของต่างเรานั้น ถึงแม้ว่าเราจะไกลซักเพียงไหน
ไม่รักแต่คิดถึง ไม่รักแต่คิดถึงไม่รักแต่คิดถึง
ไม่รักแต่คิดถึงไม่รักแต่คิดถึง ไม่รักแต่คิดถึงไม่รักแต่คิดถึง ไม่รักแต่คิดถึง...
(เขียนเมื่อ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๑)

เรื่องของเฉียวฟง

เฉียวฟงเป็นตัวละครที่มีบทบาทเด่นคนหนึ่งในนิยายจีนเรื่อง “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” แต่งโดย “กิมย้ง” นักเขียนซึ่งมีผลงานที่มีชื่อเสียงคือ “มังกรหยก” ผมได้อ่านแปดเทพอสูรมังกรฟ้าเมื่อเกือบสิบปีก่อนโดยยืมมาจากเพื่อนคนหนึ่ง เป็นนิยายเรื่องยาวประมาณขนาดพ๊อกเกตบุ๊ค 6-8 เล่มได้ แต่ว่าผมก็อ่านจบภายในไม่กี่วัน เนื่องจากอ่านแบบหามรุ่งหามค่ำมาก เพราะมันเป็นนิยายที่ผมวางไม่ลงจริงๆ

แต่ว่าไม่นานมานี้ก็ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับแปดเทพอสูรมังกรฟ้าอีกจากหนังสือชื่อ “สามก๊กฉบับคนกันเอง เล่มสอง” ซึ่งพี่ชายส่งมาให้ หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่แล้วกล่าวถึงเนื้อหาในเรื่องสามก๊ก แต่ว่าก็มีบางบทกี่กล่าวโยงไปถึงนิยายจีนหลายๆ เรื่อง และเรื่องหนึ่งที่ได้มีการกล่าวถึงก็คือแปดเทพอสูรมังกรฟ้า

ผมคงไม่กล่าวถึงเนื้อหาโดยย่อของเรื่อง แต่จะกล่าวถึงชีวิตบางส่วนของเฉียวฟงซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญ เฉียวฟงเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจก ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสำหรับคนในวัยประมาณ 30 ย่าง 31 ปี (เมื่อเทียบกับผมในวัยเดียวกันก็เป็นได้แค่สมาชิกกลุ่มเหียก) เฉียวฟงมีวรยุทธ์สูง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสมาชิกพรรคและชาวยุทธ อย่างไรก็ตามโดยชาติกำเนิดแล้วเฉียวฟงไม่ใช่ชาวฮั่น แต่เป็นชาวซิตันซึ่งเป็นอีกเผ่าที่เป็นปรปักษ์กับชาวฮั่น เฉียวฟงเองก็ไม่ได้ทราบความจริงนี้มาก่อน

เมื่อความจริงนี้ถูกเปิดเผยออกไปทำให้ชาวยุทธในจงหยวน (แผ่นดินของชาวฮั่น) เกิดความไม่ไว้วางใจเฉียวฟงเนื่องจากมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากชาวฮั่น และเนื่องด้วยมีสมาชิกพรรคบางคนต้องการกำจัดเฉียวฟงเพื่อผลประโยชน์ ทำให้มีการกล่าวหาเฉียวฟงในคดีฆาตกรรมต่างๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับชาติกำเนิดของเฉียวฟง ทั้งที่เฉียวฟงไม่ได้เป็นคนทำ กล่าวง่ายๆ ก็คือ พอเกิดเรื่องชั่วร้ายในยุทธภพก็กล่าวหาเฉียวฟงไว้ก่อน

ในนิยายจีนหลายๆ เรื่อง มักมีการแบ่งจอมยุทธ์ออกเป็นสองข้างก็คือ ฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรมหรือพรรคมาร แต่เท่าที่ได้อ่านมาการกระทำของฝ่า่ยที่เรียกว่าธรรมะนั้นก็ไม่ต่างจากพรรคมารเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น พวกจอมยุทธ์ฝ่ายธรรมะมักกล่าวว่ากำจัดคนชั่วใช้วิธีที่ผิดคุณธรรมได้ การใช้ยาพิษ การใชุ้ตัวประกัน หรือการกลุ้มรุมโจมตี ก็สามารถทำได้ จริงๆแล้วการแบ่งเ็ป็นพรรคเทพพรรคมารก็เป็นแค่สัญญลักษณ์เท่านั้น ดีชั่วขึ้นอยู่กับการกระทำจริงๆ ต้องแยกแยะเป็นกรณีๆ ไป พรรคมารก็ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายเสมอไป และฝ่ายธรรมะก็ทำเรื่องผิดคุณธรรมได้

มีฉากหนึ่งในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้าที่ผมสะท้อนใจมากก็คือ ฉากที่เฉียวฟงพาคนรักไปให้หมอเทวดารักษา ซึ่งชาวยุทธ์ทั้งหลายก็มารวมตัวกันเพื่อกำจัดเฉียวฟง ไม่ว่าเฉียวฟงจะอ้อนวอนขอการรักษาอย่างไร ชาวยุทธ์เหล่านั้นก็ไม่ยอม เพราะว่าเห็นนางมากับเฉียวฟง ฉากต่อสู้ในการชุมนุมชาวยุทธ์นี้เป็นฉากที่สะใจคอซาดิสม์มาก หลังจากที่เฉียวฟงได้ดื่มเหล้าตัดสัมพันธ์กับชาวยุทธ์ทั้งหมด ก็ฆ่าเหล่าชาวยุทธ์ตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่พวกนั้นรุมแบบหมาหมู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเฉียวฟงมีฝีืมือสูง

ในที่สุดกว่าชาวยุทธ์ทั้งหลายจะรู้ว่าเฉียวฟงเป็นผู้บริสุทธ์ก็ทำให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งสองฝั่ง ถามว่าเฉียวฟงผิดไหม ผมก็ว่าไม่ผิดเพราะก็ต้องทำเพื่อปกป้องตัวเองกับคนที่เขารัก ส่วนชาวยุทธ์ทั้งหลายก็ไม่ผิด แต่ว่าขาดการไตร่ตรอง เนื่องจากชาติพันธุ์ของเฉียวฟงตางจากพวกเขา และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน สามารถปลุกระดมให้คนเข้าร่วมได้โดยง่าย (อย่างที่เราเคยเห็นมาในอดีต เช่น ลัทธิชาตินิยม การต่อต้านคอมมิวนิสต์)

สำหรับคนที่สร้างกระแสความเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อฝ่ายตรงข้าม ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมา เป็นประเด็นที่รวมกลุ่มคนให้เข้ามาร่วมได้โดยง่า่ย เป็นประเด็นที่ทำำให้เกิดการหน้ามืดตามัวขาดการไตร่ตรอง เมื่อสร้างกระแสได้แล้ว มันไม่ยากเลยที่จะเพิ่มประเด็นที่ “ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” หรือ “ข่าวลือ” เข้าไปในการปลุกระดมนั้นด้วย เมื่อกลุ่มคนกำลังไหลไปตามกระแสของผู้ปลุกระดมแล้วความสามารถในการแยกแยะก็จะลดลง อุปมาเหมือนคนที่ำกำลังลอยอยู่ในสายน้ำที่พัดเชี่ยว คนจะโยนดอกไม้หรือหมาเน่าลงมา ก็อาจแยกแยะไม่ได้ เพราะน้ำมันไหลเชียวเสียเหลือเกิน

จริงๆ แล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลที่เราเสพย์อยู่ทุกวันนี้มีส่วนที่เป็น “ข้อเท็จจริง” มากน้อยเพียงไร จึงต้องใช้สติไตร่ตรองให้หนัก จากประสบการณ์ตรงของผมเอง เมื่อประมาณสี่ห้าปีก่อนมีกลุ่มคนมาประท้วงที่สถานที่ำทำงาน ซึ่งผมกะประมาณดูก็ประมาณ 1-2 พันคนได้ เนื่องจากสถานที่ำทำงานมีเนื้อที่เล็กมาก พอวันรุ่งขึ้นอ่านหนังสือพิมพ์ก็มีการลงข่าวว่ามีผู้มาประท้วง 7-8 พันคน ซึ่งไม่มีทางที่มันจะเยอะขนาดนั้นเพราะมีเนื้อที่นิดเดียว เมื่อมันเป็นอย่างนี้ผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับข้อเท็จจริงโดยตรงไม่มีวันรู้ได้เลยว่าเรื่องราวจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

การมีชีวิตในสังคมปัจจุบันนี้ จึงต้องใช้สติตรึกตรองให้หนัก เมื่อต้องการตัดสินใจอย่างไรต้องหาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน อย่าให้ไหลไปตามกระแส อย่างเช่นในนิยายจีน วิญญูชนจอมปลอมหลายคนสามารถกล่าวความเท็จ ยกตนเป็นคนดีมีคุณธรรม และกล่าวหาใส่ร้ายคนอื่นว่าเป็นคนร้าย ตัวอันตรายสำหรับยุทธภพได้อย่างไม่กระดากปาก และที่น่าเศร้าคือ นอกจากในนิยายจีนแล้ว ในโลกแห่งความจริงก็มีวิญญูชนจอมปลอมเหล่านี้อยู่ด้วย

ในขณะที่อ่านเรื่องเกี่ยวกับเฉียวฟง ผมก็นึกถึงเรื่องของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งก็ ซึ่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากมาย แต่ก็ถูกขบวนการใส่ร้ายป้ายสีจนไม่สามารถกลับมาตายยังแ่ผ่นดินเกิดได้ ซึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ... (อ่านเพิ่มเติมประวัติของท่านปรีดี ได้ที่ http://www.sarakadee.com/feature/2000/04/index.htm)

เรื่องที่สะท้อนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ สภาพสังคมในขณะนี้เหมือนมีการบังคับให้เลือกข้างอย่างไรก็ไม่รู้ เหมือนว่าแม้จะเลือกข้าง “ข้อเท็จจริง” ก็ไม่ได้ ... เมื่อหลายวันก่อนได้อ่านข่าวในเวบไซด์แห่งหนึ่ง ซึ่งผมว่ามันลงข้อเท็จจริงไม่ครบ จึงไปโพสในส่วนของความเห็น โดยโพส “ข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่มีอยู่ชัดเจน พออีกวันหนึ่งไปอ่านดู ก็มีคนมาโพสเพิ่มเติมต่อว่า ว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งมาบ่อนทำลาย ด่าพ่อล่อแม่ตามระเบียบ ... อนิจจา

(เขียนเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑)

สามตัวร้อย

สามตัวร้อยนี่ถ้าได้ยินลอยๆ ก็คงเข้าใจว่าเป็นราคาของขายตามตลาด เช่น กางเกงใน ปลาทู (ไม่รู้ว่าแพงหรือถูกกว่านั้นนะ) หรืออาจเป็นลูกหมา (ก็คงจะถูำกไป) แต่ไอ้คำว่า “สามตัวร้อย” ที่ผมพึ่งได้อ่านเจอมา มันมาจากการที่เพื่อนคนหนึ่งเอาไปโพสท์ไว้ในเวบบอร์ดของกลุ่มเพื่อนใน hi5
เรื่องของเรื่องก็คือว่าก็มีการโพสท์อวยพรวันเกิดให้เพื่อนที่เกิดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา (พ.ค.) เนื่องจากว่าเพื่อนในกลุ่มของผมเกือบทุกคนก็อายุขึ้นต้นด้วยเลขสามกันแล้ว ก็เลยมีอีกคนมาโพสท์ว่า “ไอ้พวก 3 ตัว 100” แล้วก็มีอีกคนโพสท์ตามมาว่า “อย่าให้กูเจอที่ (ร้าน) นั่งเล่นตอนพวกเมิงเป็น 2 ตัว 100 ละกัน” จากนั้นก็มีอีกคนมาโพสท์ว่า “อีกซักสิบปีต่อจากนี้ อาจเจอ... (ขอสงวนนาม) ยืนย้วยคุยกะพวก 4 ตัว 100 อยู่ .. ก็เป็นไปได้”

ผมติดใจคำว่า “สามตัวร้อย” นี้มาก เพราะว่ามันจะว่าถูกก็ถูก สำหรับบางอย่าง จะว่าแพงก็ได้สำหรับของบางอย่าง (แต่เท่าทีรู้น้ำมันที่เมืองไทยเกิน 3 ลิตร 100 แล้ว) ซึ่งมันเข้ากันได้ดีสำหรับชีวิตในช่วงอายุนี้เหมือนกัน จะว่าดีก็ดีบางเรื่อง จะว่าแย่ก็มีหลายเรื่อง ทำให้รู้่ว่าการย่างเข้าอายุ 30 ปีนั้น ก็ไม่ได้ยากลำบากเลือดตากระเด็น แต่ก็ไม่ได้ง่ายราบรื่นไปซะทุกเรื่อง ก็เหมือนๆ กับช่วงชีวิตวัยอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้ว แต่่ว่า ณ หลักกิโลเมตรที่ 30 นั้น ก็ถือเป็นจุดที่มองกลับไปเห็นอะไรที่ผ่านมาได้หลายๆ อย่าง และมองไปข้างหน้าก็เิริ่มเห็นอะไรที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนในบางเรื่อง

ในวัย ณ ปัจจุบัน ก็นับว่าได้เรียนรู้อะไรในหลายๆ เรื่อง มีการสะสมข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น แต่บางทีการมีข้อมูลที่มากขึ้้นก็มีผลเสียคือ ทำให้ “คิดมาก” บางทีก็คิดมากไปซะจนไม่ได้ตัดสินใจ จนเมื่อถูกบีบด้วยเวลาจึงได้ตัดสินใจอย่างไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไหร่ นี่นับเป็นข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดระหว่างการตัดสินใจในช่วงวัยรุ่นถึงวัยรุ่นตอนปลาย (ช่วงที่ยังเป็น 5 ตัว 100 อยู่) ช่วงนั้นไม่ต้องคิดเยอะในการตัดสินใจ มองข้างหน้าและข้างหลังไปสั้นๆ แต่ ณ ปัจจุบัน มองข้างหลังไปเยอะ (ไม่รู้เพราะมีข้อมูล Historical data มากไปหรือเปล่า) และก็มองข้างหน้าไปไกลกว่าแต่ก่อนมาก

ถ้าจะบอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ว้าวุ่นและสับสน ผมก็รู้สึกได้ว่าตัวเอง ณ วัย 30 ก็ยังคงเหมือนวัยรุ่นที่ว้าวุ่นและสับสนอยู่เหมือนกัน แต่เหตุผลหลักคงไม่ใช่การขาดประสบการณ์ หรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ แต่เป็นเพราะการมองโลกที่มันซับซ้อนยุ่งเหยิงมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันไปทุกเรื่องจนประมวลผลแทบจะไม่ออก ประสบการณ์ที่สูงขึ้นมาพร้อมกับภาระที่มากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าจะตั้งเป็นชื่อหนังก็คงได้ประมาณว่า “หนุ่มใหญ่ หัวใจ (ยัง) ว้าวุ่น”

ส่วนทางด้านกายภาพก็นับว่ายังไม่แย่มาก ยังสามารถเล่นฟุตบอลและกีฬาชนิดอื่น กับพวก “5 ตัว 100” หรือ “4 ตัว 100” ได้ แต่ว่าความทนทานจะหายไปหน่อย เวลาเล่นฟุตบอลถ้าเร่ิงสปีดมากๆ ก็จะต้องยืนหอบประมาณสองสามนาที กว่าจะวิ่งได้ต่อ วัยขนาดนี้ถ้าเป็นนักฟุตบอลอาชีพก็ถือว่าเป็นช่วงปลายของอาชีพค้าแข้งแล้ว ต้องเตรียมผันตัวไปเป็นตัวสำรองอดทนหรือผู้จัดการต่อไป เพื่อนในกลุ่มที่รุ่นราวคราวเดียวกันก็หันไปเล่นกีฬาชนิดอื่นกันแล้ว เช่น กอล์ฟ เนื่องจากเล่นฟุตบอลกันไม่ไหว เนื่องจากต้องใช้คนมาก นัดกันลำบาก และเหนื่อยเกินไป

ส่วนเพื่อนในกลุ่มที่เมืองไทยซึ่งมีประมาณยี่สิบคน ก็มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา สี่ห้าคนก็แต่งงานไปแล้ว สองคนกำลังจะแต่ง สองคนมีลูกไปแล้ว ส่วนใหญ่ทำงานเอกชน สามคนรับราชการ บางคนติดเกมส์ออนไลน์ อีกหนึ่งคนยังคงเป็นนักเรียนโข่ง ก็หวังว่าชีวิตคงจะไม่แย่เกินไปเมื่อเรากลายเป็น พวก “2 ตัวครึ่ง 100” หรือ “2 ตัว 100” แต่ก็คงไม่หวังว่าชีวิตจะอยู่ยาวไปจนถึง “ตัวละ 100”

(เขียนเมื่อ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๑)