Thursday, February 12, 2009

นักเศรษฐศาสตร์ไร้หัวใจ?

ถ้าพูดถึงคำว่า “เศรษฐศาสตร์” กับ “หัวใจ” ฟังดูไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่ เหมือนว่าเศรษฐศาสตร์จะเน้นไปทางวัตถุและเข้ากับคำว่า “ทรัพย์สินเงินทอง” มากกว่าหัวใจ แต่เมื่อเพิ่มเติมจนเป็นคำว่า “ไร้หัวใจ” มันก็ดูเหมือนจะเริ่มมีเค้าว่าสองคำนี้อาจไปด้วยกันได้ในความคิดของใครหลายๆ คน เพราะเหมือนว่านักเศรษฐศาสตร์จะสนใจแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ซะเป็นส่วนใหญ่

คำว่าเศรษฐศาสตร์ หรือ Economics ในภาษาอังกฤษก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า οἰκονομία (oikonomia) ซึ่งก็หมายความว่าการจัดการในครัวเรือน (อ้างจาก Wikipedia : Economics) ผมจำคำนิยามของเศรษฐาสตร์ที่ผมเรียนสมัยตอนปริญญาตรีได้ว่า “การจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด”

ผมก็คิดว่าเป็นนิยามหนึ่งที่แสดงความเป็นเศรษฐศาสตร์ได้อย่างชัดเจน เพราะหลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ในความคิดของผมก็คือ การสร้างอรรถประโยชน์สูงสุด (Utility Maximization) ภายในงบประมาณหรือทรัพยากรอันจำกัด ซึ่งทุกกลไกในระบบเศรษฐกิจก็จะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือรัฐบาล

กลไกทางเศรษฐศาสตร์มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ราคาสินค้า ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ที่บ่งบอกอะไรได้หลายอย่างในกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์นั้นๆ ราคากับกลไกหรือกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์เป็นสองส่วนที่มีการปรับตัวเนื่องจากกันและกันอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การผลิตและการบริโภค ก็มีส่วนในการกำหนดราคา และราคาก็มีส่วนกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการส่งต่อข้อมูลกลับไปกลับมาระหว่างสองส่วนนี้ จนในที่สุดเราสามารถหาสมดุลของทั้งสองปัจจัยนี้ได้
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ากลไกราคาหรือกลไกตลาดเป็นสิ่งที่สร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากทุกคนจะสามารถสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดให้กับตนเองภายใต้ระบบกลไกราคา และเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าสู่จุดสมดุลด้วยตัวของมันเอง

ตอนที่ผมเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ เรื่องที่เป็นบทเรียนพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ก็คือ เรื่องของกลไกระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เส้นสองเส้นที่เส้นหนึ่งลากเฉียงลงจากทางซ้ายมาทางขวาที่แสดงถึงอุปสงค์ และอีกเส้นที่ลากลงจากทางขวาไปทางซ้ายหมายถึงอุปทาน เส้นสองเส้นนี้เป็นแบบจำลองที่ซับซ้อนน้อยที่สุดที่แสดงถึงกลไกราคา แต่ก็มีความหมายหลายประการที่ซ่อนอยู่ในแผนภูมิง่ายๆ นี้

การปรับตัวของกลไกราคาง่ายๆ ก็คือ ณ จุดใดที่มีอุปสงค์มากว่าอุปทาน ซึ่งหมายถึงความต้องการสินค้ามากกว่าสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ราคาสินค้าก็จะปรับตัวสูงขึ้น และในที่สุดความต้องการสินค้าก็จะลดลงเนื่องจากราคาแพงขึ้น และขณะเดียวกันก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา ในที่สุดกลไกราคาก็จะปรับให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน

ฟังดูแล้วก็เป็นกลไกง่ายๆ และดูเหมือนเป็นเรื่องปกติทั่วๆไป แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วมันก็มีความจริงที่น่าสนใจอยู่ด้วย อุปสงค์ในส่วนนั้นหายไปไหน สมมุติว่าสินค้าที่เรากำลังพูดถึงคือ ข้าว อุปสงค์ที่หายไปอาจเพราะคนกินน้อยลง กินเท่าที่จำเป็น (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เท่าไหร่) หรืออาจมีบางคนต้องอดข้าว บางคนอาจเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึงเลย เพียงแต่ว่าจะมีคนสนใจมากเพียงไรเท่านั้น ที่เห็นชัดๆ ก็คือหลายประเทศในทวีปอาฟริกา หรือแม้แต่ในเมืองไทยก็มีคนที่ต้องอดมื้อกินมื้ออยู่จำนวนไม่น้อย

ในบางมุมมองกลไกตลาดก็เหมือนกับทฤษฎีการเลือกสรรค์ของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนที่ไม่สามารถต่อสู้ได้ในธรรมชาติก็ต้องสูญพันธุ์ล้มหายตายไป อย่างไรก็ตามหากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ใกล้ตัวเรา มันก็เหมือนว่ากลไกตลาดก็ทำงานไปของมันอย่างนั้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่เราคาดหวังไว้

เมื่อตอนที่ได้กลับเมืองไทยตอนเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ดูข่าวหลายๆ ช่องที่นำเสนอเรื่องคนที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากโรงงานที่ทำงานอยู่ปิดตัวลงหรือขาดทุน ซึ่งบางคนก็มีเงินออมอยู่ไม่เท่าไหร่ ไม่รู้จะอยู่ไปได้อีกกี่เดือน อีกทั้งมีภาระเรื่องบุตรหลาน ซึ่งหากพูดกันในฐานะมนุษย์ธรรมดาก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและน่าเห็นใจ แต่หากมองไปตามเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มันก็เป็นเหมือนแค่กลไกการปรับตัวหนึ่งเท่านั้น

การที่กิจการกิจการหนึ่งต้องปิดตัวลงไปนั้น เนื่องจากว่ากิจการนั้นไม่สามารถแข่งขันได้กับกิจการอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ ดังนั้นปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน (คน) หรือเงินทุน ก็ควรจะถูกโยกย้ายจากกิจการนั้นๆ ไปยังกิจการอื่นซึ่งประสิทธิภาพมากว่า อันจะส่งผลประโยชน์โดยรวมที่สูงขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจมากกว่า ทนประกอบกิจการทั้งๆ ที่ขาดทุน

อย่างไรก็ตามในโลกแห่งความจริงแล้ว แรงงานในตลาดไม่สามารถถูกโยกย้ายได้อย่างทันที และก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ในการที่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้นจะถูกว่าจ้างใช้งานในกิจการอื่น อาจเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ แรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพสูงพอก็อาจต้องออกจากตลาดแรงงานไปอย่างถาวร ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาเช่น อาชญากรรมต่างๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าถ้าหากว่าเราใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการบริการสังคมเราอย่างเดียวนั้นมันไม่สามารถที่จะสร้างความสุขให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมได้เลย เราจำเป็นต้องมีส่วนประกอบที่เสริมเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสังคมสงเคราะห์ และการแทรกแซงกลไกตลาดเข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้ “คน” ที่เป็นเพื่อนอยู่ด้วยกันในสังคมเดียวกับเราที่อาจไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมให้อยู่ในสังคมต่อไปได้ ไม่ถูกคัดออกไปเหมือนกับกลไกการคัดเลือกของธรรมชาติ

ผมได้อ่านหนังสือสารคดีฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเรื่องของหนังสือห้ามอ่าน โดยในสยามประเทศนั้นหนังสือฉบับแรกที่ห้ามเผยแพร่ก็คือ หนังสือกฎหมายซึ่งนายโหมด อมาตยกุล ได้ว่าจ้างให้หมอบลัดเรย์เป็นคนพิมพ์จำหน่าย ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายเป็นความรู้ที่สงวนไว้ให้เจ้านายชั้นสูงและขุนนางเท่านั้น ซึ่งพอจะเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้จากระบบสังคมและการปกครองในสมัยนั้น

แต่อีกเล่มที่ผมพบว่ามีการห้ามก็คือ หนังสือทรัพย์ศาสตร์ ซึ่งเขียนโดยพระยาสุริยานุวัตร อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ ซึ่งได้กล่าวถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวไร่ชาวนาจากพ่อค้า หนังสือดังกล่าวได้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่ในที่สุด และจนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๗ วิชาเศรษฐศาสตร์ก็ถือเป็นวิชาต้องห้าม จนมาถึงสมัยที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวิชาเศรษฐศาสตร์จึงถูกนำมาสอนได้อีกครั้ง ซึ่งจากข้อความในหนังสือสารคดีได้กล่าวไว้ว่า

“ทันทีที่ ทรัพย์ศาสตร์ ๒ เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (จากที่วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๓ เล่ม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติ การเขียน หลังจากนั้นทรงเขียนบทวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์ (เล่ม ๑) ตามความเห็นของเอกชนผู้ได้อ่านหนังสือเท่านั้น” ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสาร สมุทรสาร ทรงเห็นว่า ทรัพย์ศาสตร์ จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในสยามประเทศนั้น เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว “ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด” ทรงเห็นว่าผู้เขียน “ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกัน” เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้”

ในประเด็นดังกล่าวผมก็มีแนวคิดสองแนวคิดซึ่งขัดแย้งกันและก็มีน้ำหนักพอๆ กันก็คือ ข้อเสียของการห้ามศึกษาและเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยนั้นก็คือ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้เท่าทันพ่อค้าและการมีน้ำใจทำให้ถูกเอาเปรียบได้โดยง่าย ดูจากชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนซึ่งเน้นการเก็บออมสะสมทุนและขยายกิจการ ซึ่งหลายคนประกอบกิจการจนร่ำรวย ต่างจากคนไทยซึ่งก็ยังใช้วิถีชีวิตเดิมๆ ไม่ได้ใส่ใจและสนใจในการสะสมทรัพย์สิน คนไทยที่มีฐานะดีก็จะเป็นพวกขุนนางศักดินาซึ่งมีทรัพย์สินตามยศถาบรรดาศักดิ์ของตน ถ้าจะมีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่าทำให้ประเทศพัฒนาไม่ทัดเทียมประเทศอื่นก็อาจเป็นเหตุผลที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

ส่วนข้อดีของการห้ามการศึกษาและเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ เมื่อพิจารณาสภาพสังคมในสมัยนั้น ซึ่งวิถีชีวิตของคนไทยเป็นไปอย่างเรียบง่ายสงบสุข และมีน้ำใจต่อกัน ถ้าหากมีแนวคิดเรื่องการสะสมทุนเข้าไปรบกวนจิตใจ คิดว่าสภาพสังคมก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเหมือนสังคมเมืองในปัจจุบันนี้ซึ่งความจริงใจและน้ำใจเป็นสิ่งที่หาได้ยากเหลือเกิน ซึ่งบางทีการแลกความสุขกับความเจริญร่ำรวยก็เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่ากันเท่าไหร่ ซึ่งหากสมัยเมื่อเจ็ดแปดสิบปีก่อนคนไทยมีลักษณะหัวหมอชิงไหวชิงพริบและเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน กันไปซะเป็นส่วนใหญ่แล้ว ผมก็ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าสังคมในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร คำหลายคำเช่น คำว่า “น้ำใจ” อาจจะหายไปจากพจนานุกรมก็เป็นได้

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างสมบูรณ์และสร้างความสุขให้กับทุกคนในสังคมได้ หากการใช้นโยบายทางเศรษฐศาสตร์สามารถประกอบไปกับการใช้หัวใจได้ก็คงดี เพราะก็มีคนหลายภาคส่วนในสังคมที่ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่มีความพร้อมต่อกลไกทางเศรษฐศาสตร์ แต่เขาก็เป็นเพื่อนที่อยู่ร่วมโลกกับเราในสังคมนี้

อ้างอิง หนังสือสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๙:
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=611

(เขียนเมื่อ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)

No comments:

Post a Comment