Tuesday, February 16, 2010

น้ำเอยน้ำใจ

ผมพึ่งอ่านบทหนึ่งในหนังสือ Super Freaknomics จบลง (ซึ่งเป็นภาคต่อของ Freakonomics) ซึ่งเล่มสองนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างเงียบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม ไม่เหมือนภาคแรกที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงอีกมุมมองของปรากฎการณ์ที่แปลกไปเมื่อใช้หลักทางเศรษศาสตร์มาอธิบาย

บทที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ บทที่ 3 Unbelievable Stories about Apathy and Altruism (apathy มีความหมายประมาณว่าเมินเฉยไม่ใส่ใจ ส่วน altruism ก็มีความหมายประมาณว่ามีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว)

เริ่มบทมาก็กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อมี ค.ศ. 1964 ที่หญิงสาวผู้หนึ่ง (Kitty Genovese) ถูกฆาตกรรมโดยชายผู้หนึ่งขณะเดินกลับบ้านตอนกลางคืน โดยส่วนที่สำคัญคือข่าวได้ลงว่าฆาตกรผู้นั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายหญิงสาวผู้นี้ถึงสามครั้งจนถึงแก่ความตาย และได้มีการพาดหัวข่าวว่าผู้คนถึง 38 คนที่อาศัยอยู่ในตึกใกล้เคียงที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้แจ้งตำรวจหรือช่วยเหลือหญิงสาวผู้นี้แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงดังกล่าวในประเด็นเรื่องความใส่ใจในชีวิตผู้อื่นในสังคม

เหตการณ์ดังกล่าวก็ถูกโยงมาถึงประเด็นที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามีความมีน้ำใจหรือเปล่า ทำไมคนจึงทำบุญหรือช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่รู้จัก อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมดังกล่าว (จริงๆ ในบทมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาเหตุการเกิดอาชญากรรม เช่น การออกอากาศโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหรัฐ พบว่ารัฐที่มีการออกอากาศก่อนรัฐอื่นหลายเดือนมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจึงมีการพัฒนาการทดลองในห้องแลป เพื่อศึกษาพฤติกรรม (การใช้ข้อมูลจริงทำได้ลำบากในทางสังคมศาสตร์ เพราะหาปรากฎการณ์ที่เป็น Natural Experiment ได้ยาก)

ยกตัวอย่างเช่น เกมที่ชื่อว่า Ultimatum ซึ่งให้ผู้รับการทดลองสองคนที่ไม่รู้จักกัน โดยผู้เล่นคนแรกจะต้องแบ่งเงินที่ได้รับมาจำนวน $20 ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับตัวเองและส่วนหนึ่งสำหรับผู้เล่นคนที่สอง โดยกฎของเกมก็คือ หากว่าคนที่สองไม่ยอมรับจำนวนที่เสนอทั้งคู่ก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งจากทฤษฏีเกมผู้เล่นคนแรกสามารถเสนอจำนวนที่น้อยที่สุดให้ผู้เล่นคนที่สอง เช่น $0.01 เพราะถ้าปฏิเสธก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ว่าจากผลการทดลองพบว่าผู้เล่นคนที่หนึ่งเสนอให้โดยเฉลี่ย $6 ซึ่งก็ถือว่ามาก และผู้เล่นคนที่สองโดยเฉลี่ยจะปฏิเสธจำนวนเงินที่น้อยกว่า $3 ซึ่งผลดังกล่าวก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เล่นคนแรกเป็นคนมีน้ำใจจริงหรือเปล่า เพราะการเสนอตัวเลขที่สูงอาจทำเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธ

ต่อมาก็มีการปรับปรุงแนวทางของเกมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ผู้เล่นคนแรกเป็นคนตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว (Dictator) ก็ยังปรากฎว่าโดยเฉลี่ยยังมีการแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนที่สองอยู่ แต่ว่าพอเปลี่ยนกฎของเกมโดยแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนแรกและคนที่สองเท่าๆ กัน และผู้เล่นคนแรกสามารถตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินให้ หรือเอาเงินจากคนที่สองมาเป็นของตัวเอง ซึ่งผลออกมาว่ามากกว่า 40% ของผู้เล่นคนแรกเอาเงินทั้งหมดจากผู้เล่นคนที่สอง

จากการทดลองหลากหลายดังกล่าวก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และผู้เขียนก็ยังได้กล่าวถึงประเด็นของการทดลองในห้องแลป ที่อาจมีปัญหาเรื่องการสุ่มตัวอย่าง และพฤติกรรมของผู้เข้ารับการทดลองซึ่งอาจไม่เป็นธรรมชาติและไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงของคนในสังคมได้

ประเด็นเรื่องน้ำใจดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องที่เคยอ่านใน Predictably Irrational ที่กล่าวถึงเรื่อง Social Norm กับ Market Norm โดย Social Norm หมายถึง รูปแบบทางสังคมที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วน Market Norm เป็นรูปแบบของสังคมแบบผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายยึดถือคนละแบบแผน (Norm) มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น องค์กรหนึ่งต้องการหาทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เลยเข้าไปเสนองานให้กับทนายรายหนึ่งโดยให้ค่าชั่วโมงน้อยกว่าราคาตลาดเพื่อเป็นการกุศล ปรากฎว่าทนายได้ปฏิเสธ ทางองค์กรจึงได้เปลี่ยนแนวทางโดยบอกกับทนายว่าจะช่วยองค์กรฟรีๆ เพื่อการกุศลได้หรือเปล่า ปรากฏว่าทนายได้ตอบรับ โดยผู้เขียนได้อธิบายว่า ในกรณีแรกทนายได้ใช้ Market norm ในการตัดสินใจ เมื่อราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาตลาดเขาจึงไม่รับงาน ส่วนในกรณีหลังเขาตัดสินใจโดยใช้ Social norm ในการตัดสินใจช่วยเหลือทำให้รับงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นเรื่องการมีน้ำใจ หรือทำบุญกุศลนั้นผลที่เกิดขึ้นทางใจมันสามารถวัดได้ลำบาก แตกต่างกันไปตามแต่บุคคล อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นประเด็นที่ดูแปลกสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ก็เพราะใน Utility Function (http://en.wikipedia.org/wiki/Utility) ที่เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปนั้นถูกกำหนดโดยทรัพย์สินหรือวัตถุ ความพึงพอใจหรือความสุขใจ ไม่ได้รวมอยู่ในนั้น หากว่าความสุขใจจากการเสียทรัพย์สินบางส่วนเพื่อการกุศลนั้นถูกบรรจุเข้าไปอย่างเหมาะสม ก็น่าจะสามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าจะตีออกเป็นมูลค่าได้ลำบากก็ตาม

หลักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายหลายปรากฎการณ์ที่ไม่น่าจะอธิบายได้ แต่ว่าก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ทุกอย่าง

(สำหรับความเห็นส่วนตัวกับหนังสือ Super Freakonomics เล่มนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลิน ไม่น่าเบื่อ แต่สิ่งที่ต่างจากเล่มแรกก็คือในแต่ละบทมีความพยายามที่จะแทรกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปและเบนความสนใจจากคนอ่านไปจากประเด็นหลักได้)

อ้างอิง : http://www.amazon.com/SuperFreakonomics-Cooling-Patriotic-Prostitutes-Insurance/dp/0060889578/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371768&sr=8-1

http://www.amazon.com/Predictably-Irrational-Hidden-Forces-Decisions/dp/006135323X/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371802&sr=1-1

No comments:

Post a Comment