Tuesday, February 23, 2010

น้ำเอยน้ำใจ 2

หมายเหตุ: เนื้อหาคราวนี้ต่อเนื่องจาก บทความที่แล้ว เรื่อง น้ำเอยน้ำใจ จริงๆ แล้วอยากเขียนให้ต่อจากคราวที่แล้วเป็นบทความเดียวไปเลยแต่ว่ามีบางประเด็นที่น่าจะแยกมาเขียนต่างหาก โดยบทความที่แล้วได้พูดถึงการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมนุษย์ ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเท่าไร รวมถึงการทดลองพฤติกรรมของคนในห้องแลปที่ไม่อาจสะท้อนพฤติกรรมที่ผู้คนในสังคมทั่วไปแสดงออกเมื่อประสบกับสถานการณ์ต่างๆ

อีกประเด็นที่สามารถหยิบยกได้จากกรณีฆาตกรรม Kitty Genovese ที่มีการนำเสนอว่าผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายวางเฉยกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเหตุการณ์สาธารณะ ประเด็นของเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือ An Introduction to Game Theory ของ Martin J. Osborne ในบทที่เกี่ยวกับ Mixed Strategy

กล่าวคร่าวๆ Mixed Strategy Equilibrium ในทฤษฎีเกม หมายความถึงการกำหนดกลยุทธ์ของบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับการคาดหมายถึงความน่าจะเป็นในการที่บุคคลอื่นจะใช้กลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ยิงลูกโทษ กับผู้รักษาประตู แต่ละคนกำหนดความน่าจะเป็นว่าอีกฝ่ายจะเลือกทางซ้ายหรือขวา แล้วนำมาใช้ตัดสินใจในการเลือกกลยุทธ์ของตน ซึ่งอยู่ในลักษณะความน่าจะเป็นอีกเช่นกัน

ในบทความจากหนังสือได้เสนอการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ในกรณีที่มีผู้พบเห็นเหตุการณ์หลายคน พบว่าความน่าจะเป็นหรืออัตราในการแจ้งเหตุมีน้อยลง ซึ่งทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า อาจเกิดจากการกระจายของความรับผิดชอบหรือความรู้สึกผิด เช่น ถ้าเราเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว เท่ากับว่าเราแบกรับความรับผิดชอบ หรือความเป็นความตายของผู้อื่นไว้แต่ผู้เดียว ซึ่งความรู้สึกผิดหากว่าเราไม่รับผิดชอบมันเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ถ้ามีคนอื่นเห็นด้วยเราก็สามารถบรรเทาความรู้สึกผิดได้ว่า คนอื่นไม่ยอมทำด้วย ไม่ใช่เราต้องรับผิดชอบคนเดียว

ทฤษฏีเกม Mixed Strategy สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวได้ดีเช่นกัน โดยหากสมมุติว่า การแจ้งเหตุก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตัวเรา อย่างไรก็ตามก็มีต้นทุนด้วย เช่น ค่าโทรศัพท์ หรืออาจต้องเสียเวลาเป็นพยานอีกหลายครั้ง ซึ่งเราสมมุติว่าผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน และหากว่ามีคนเพียงคนเดียวแจ้งเหตุ ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ก็จะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด

หากว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการแจ้งเหตุ เพราะผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก อย่างไรก็ตามเมื่อมีหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ ทำให้แต่ละคนคาดการณ์ว่าคนอื่นๆ ตัดสินใจแจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง และยิ่งการที่มีหลายคนทำให้ความน่าจะเป็นในการแจ้งเหตุของแต่ละคนลดลงไปเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าอีกคนหนึ่งจะแจ้งเหตุแล้ว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของเราคือการไม่แจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นที่สูง ซึ่งทำให้เราไม่เสียเวลาแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ซึ่งเหตุการณ์ที่ผมพบเจอทุกวันและน่าจะใช้คำอธิบายแบบเดียวกันได้ก็คือ ปัญหาการกดปุ่มสัญญาณคนข้ามถนนตอนไปโรงเรียน หากว่าต้องการข้ามถนนต้องกดปุ่มนี้สัญญาณไฟคนข้ามจึงจะติด ซึ่งกดเพียงครั้งเดียวมันก็จะติดหลังจากไฟแดงวนมาครบรอบ มีหลายที่ผมเห็นคนยืนรอข้ามถนนหลายสิบคน แต่ปรากฎว่าสัญญาไฟคนเดินไม่ขึ้น เพราะว่าไม่มีคนกดปุ่ม ซึ่งก็ทำให้ต้องรอไฟแดงกันอีกรอบหนึ่ง

จริงๆ แล้วการกดสัญญาณไฟไม่มีต้นทุนอะไรเลยต่อผู้กด อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มาถึงสัญญาณไฟเป็นคนแรก ไม่กดปุ่มดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ตามมาเข้าใจว่า มีการกดปุ่มไปแล้ว (ด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง) ทำให้เขาไม่ตัดสินใจกดปุ่มนั้น และเมื่อมีคนอื่นตามมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำคนที่ตามมาคาดการณ์ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงว่าต้องมีคนกดไปแล้วแน่ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครกดปุ่มนั้นเลย และต้นทุนที่เกิดจากการรอไฟแดงอีกรอบหนึ่งนั้น มากกว่าต้นทุนการกดปุ่มอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมจะข้ามถนนหากไม่เห็นว่ามีใครกดปุ่มนั้นแล้ว ผมจะกดปุ่มสัญญาณไฟเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ต้องรอไฟแดงอีกรอบ

สถานการณ์จากแบบจำลองทฤษฏีเกมที่ยกมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลักทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องของ Externality ซึ่งก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนๆ หนึ่งซึ่งนอกจากจะกระทบต่อตัวผู้ทำเองแล้วยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เช่น โรงงานก่อมลพิษ ข้างบ้านเปิดวิทยุเสียงดัง หรือถ้ามองเป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจก็เช่น ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนข้อสรุปในเรื่องของคดีของ Kitty Genovese นั้นในท้ายบทของ Super Freakonomics ได้เปิดเผยว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์นั้นเสนอข่าวเกินความจริง โดยการเปิดเผยจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ชี้ให้เห็นว่า การฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นในเวลาประมาณตีสาม ซึ่งมีไม่กี่คนที่เห็นเหตุการณ์ และก็ได้มีการแจ้งตำรวจไปแล้ว แต่ใช้เวลานานกว่าจะติดต่อกับตำรวจได้ ทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตของเธอไว้ได้ทัน

2 comments:

  1. อืมม อย่างนี้นี่เอง วิเคราะห์กินจริงจังมาก
    ผมไม่เคยกดเลยอะ เพราะรู้สึกว่าไม่กดยังไงมันก็ให้ข้ามอะ...

    ReplyDelete
  2. ผมก็ไม่เคยกดเลยเหมือนกัน เพราะขับรถตลอด....
    -March

    ReplyDelete