Monday, August 24, 2009

กรรมและแรงจูงใจ (Karma and Incentive)

สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์และธรรมะเป็นสองเรื่องที่มีความเหมือนกันอยู่ คือ ผมต้องการศึกษาทั้งสองอย่างให้ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่มีโอกาส ความพยายาม และความอดทนมากเพียงพอ และเหตุผลที่เป็นข้ออ้างก็คล้ายๆ กันก็คือ รู้มากไปก็ไม่ได้มีโอกาสเอาไปใช้มากเท่าไหร่

สำหรับผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์และต้องการพัฒนาทฤษฏีใหม่ๆ คณิตศาสตร์ชั้นสูงมีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยลักษณะงานของผมในอนาคตที่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษา ทำให้ผมเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์ในด้านของการนำทฤษฎีที่มีอยู่ไปใช้มากกว่าการพัฒนาทฤษฎี คณิตศาสตร์ขั้นสูงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสเน่ห์และน่าค้นหาแต่ว่ามันก็เหมือนเป็นส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไรต่อการศึกษาของผม

เรื่องธรรมะก็เช่นกัน ที่ผ่านผมก็พยายามที่จะศึกษาให้มันมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการสร้างสมาธิ ใช้ชีวิตให้มีสติ (ซึ่งบางครั้งผมก็คิดว่ามันก็น่าจะพอสำหรับชีวิตคนเดินดินโดยปกติทั่วๆ ไป)
ผมคิดว่าศึกษาธรรมะนี้ยากกว่าที่คิด ด้วยความสัตย์จริงถ้าจะให้ผมว่าชาร์ตแสดงโครงสร้างของเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ผมยังพอทำให้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจะให้วาดชาร์ตแสดงโครงสร้าง/ความเชื่อมโยงของหลักธรรมะต่างๆ ผมคิดว่าผมทำไม่ได้ ด้วยความรู้ ณ ปัจจุบัน

อารัมภบทมาจนยืดยาวซึ่งมันก็เกี่ยวกับแนวคิดที่ผมจะพูดหลักๆ ในบทความนี้ คือ เรื่องของกรรม และประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง แรงจูงใจ (Incentive)

ไอ้เจ้าแรงจูงใจนี่มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐาสตร์ทุกๆ อย่าง (คล้ายๆกับสัญชาติญาณ) เช่น เมื่อเราหิวก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการหาอะไรมากิน (ล่าสัตว์ เพาะปลูก หรือทำงานหาเงินมาซื้ออาหาร)

หลายคนก็คงเคยได้ยินคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผมเชื่อว่ามันจริง แต่ว่ามีประเด็นที่ติดใจคือ มีคำสอนที่ว่าทำไม่ดีในชาตินี้ ชาติหน้าจะต้องใช้กรรม ฟังดูแล้วก็น่ากลัวที่ว่าถ้าทำไม่ดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีจะตาม “เรา” ไปถึงชาติหน้า

ถ้านับว่าชาตินี้คือปัจจุบัน และชาติหน้าคืออนาคต ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีหลายช่วงเวลา ตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ต้องมีก็คือ Discount rate หรือ Rate of time preference หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยสภาพปกติแล้วเจ้าอัตราตัวนี้จะมากกว่าศูนย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าในอนาคต

ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือ Utility Function หรือความพึงพอใจ/อรรถประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งแรงจูงใจ ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปชอบมีเงิน ยิ่งเงินมากอรรถประโยชน์ตัวนี้ก็จะยิ่งสูง สร้างแรงจูงใจให้หาเงินมาได้มากที่สุด

ถ้าผมสมมุติว่าการเวียนว่ายตายเกิดมีจริงและกรรมชั่วที่ผมทำในช่วงเวลาปัจจุบันทำให้อรรถประโยชน์ในปัจจุบันสูงขึ้น แต่จะส่งผลลบต่อผมในชาติหน้า เช่นโกงเงินประชาชน ชาตินี้รวยล้นฟ้า ชาติหน้าเป็นยาจก

ถามว่า คนนี้ชาตินี้ กับคนนี้ในชาติหน้า เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ตัวของวิญญาณ (ตามความเชื่อ) อาจเป็นคนๆ เดียวกัน แต่ว่าความรู้สึกมันคือคนละคนแน่นอน หากลองถามตัวเราในวันนี้ ว่าชาติที่แล้วเป็นใคร ประมาณร้อยละร้อยก็คงไม่รู้ เหลือเศษอีกนิดหน่อยที่คิดไปเอง

ถ้าผมเชื่อว่ากรรมชั่วที่ผมทำในชาตินี้ส่งผลต่อผมในชาติหน้า สิ่งที่จะสร้างความพอใจให้กับผมมากที่สุดก็คือ ทำชั่วให้มากที่สุด แสวงหาความสุขให้มากที่สุดในชาตินี้ เพราะผมก็คงไม่ต้องมารับผิดชอบของเจ้าตัวผมที่จะเกิดในชาติหน้า (เหมือนกับการ Maximize Utility แค่เพียงช่วงเวลาเดียว ให้ผลใกล้เคียงกับการตั้งข้อสมมุติว่า Discount rate สูงมากๆ จนผลที่จะเกิดในชาติหน้า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในภพชาติปัจจุบัน)

ถ้าสมมุติว่าผลของกรรม “อาจ” ส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า การตัดสินใจก็จะอยู่ในรูปของค่าเฉลี่ยจากความน่าจะเป็นที่กรรมจะส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า ผลก็คืออยู่ตรงกลางๆ คือ ทำชั่วน้อยกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาติหน้า แต่มากกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาตินี้

ถ้ายึดตามแบบจำลองแปลกๆ ที่ผมยกมา การสอนธรรมะ (ซึ่งผมคงไม่อาจหาญไปแนะนำครูบาอาจารย์/พระสงฆ์) เรื่อง กรรม ควรเน้นไปที่การให้สังเกตสภาพจิตใจที่รุ่มร้อน มากกว่าการสร้างรูปลักษณ์ของกรรมให้เป็นเหมือนก้อนพลังงาน/วิญญาณอาฆาตที่คอยจ้องทำร้ายผู้กระทำกรรมไม่ดี และที่สำคัญควรเน้นว่าผลของกรรมทุกอย่างจะส่งผลในชีวิตในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คงจะมีประเด็นคล้ายกับเรื่องกรรมที่กล่าวมาข้างต้น คือ ถ้าหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรต่อผมในปัจจุบัน ถึงไม่สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าสิ้นชีวิตไปมันก็เหมือนจบ เกิดใหม่ก็เป็นคนใหม่อยู่ดี (ไม่รับรู้ถึงเรื่องที่ผ่านมาในชาติภพก่อน)

ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธ การหยุดเวียนว่ายตายเกิดถือเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ว่าคนเรียนธรรมน้อยๆ อย่างผม ขอแค่มีชีวิตสงบๆ มีสุขพอประมาณ เวลามีทุกข์ก็เข้าใจมันและผ่านมันและแก้ปัญหาไปได้อย่างมีสติก็พอ

ขอยอมรับว่าบทความนี้เป็นบทความที่เพี้ยนๆ ซักนิดนึง ซึ่งถ้าผู้ใดที่มีความรู้ทางด้านธรรมะ โปรดให้คำชี้แนะในประเด็นที่ไม่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างสูง

ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเยอะเหลือเกิน คงต้องหาโอกาสศึกษาอย่างจริงจังเสียที เพราะมันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้เฉพาะตน ต้องปฏิบัติเองไม่มีใครมาบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร (เขียนไปเขียนมารู้สึกว่าตัวเองเป็นบัวใต้ตมอย่างไรก็ไม่รู้ 555)

2 comments:

  1. เปรียบเทียบได้น่าสนใจครับ ถ้าเอาตามความเข้าใจ(อันน้อยนิด)ของผมก็คือ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ผลในอนาคตอันไกลอย่างเช่นชาติหน้า มันก็ไกลเกินที่จะเอามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจทำความดีหรือทำความชั่วอย่างที่คุณ southpaw guy แสดงความคิดเห็นไว้ แต่นั่นก็คือสภาพความเป็นจริงอย่างที่เห็นกันอยู่ว่าคนที่ใฝ่ดีใฝ่หาธรรมมะนั้นมีอยู่น้อย ส่วนคนที่ใช้ชีวิตหาความสุขไปวันๆนั้นถือเป็นส่วนมาก การหลุดพ้นอย่างแท้จริงนั้นมันเป็นสินค้าราคาสูงอยู่ไม่น้อย จะมีผู้บริโภคซักกี่คนในตลาดที่มี reservation price สูงพอที่จะยอมควักกระเป๋าเงินซื้อมัน

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ
    อย่างที่คุณ The northpole boy กล่าวครับ คนส่วนมากก็หวังแต่ความสุขเฉพาะหน้า

    แต่ที่สำคัญคือแนวทางการสอนเรื่องกรรม เท่าที่ผมรู้สึกและสัมผัสเหมือนกับว่า เราไม่ได้เน้นกันที่ความรู้สึกหรือจิตใจที่เกิดความรุ่มร้อนจากการทำกรรมชั่ว แต่เน้นผลของกรรมที่จับต้องได้มองเห็นได้ (ที่อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่มีใครรู้) อย่างเช่น ตีสุนัขขาหัก ก็จะมีคนบอกว่า ต่อไปจะต้องโดนตีขาหักหรือโดนรถชนขาหัก หรือชาติหน้าเกิดเป็นสุนัขแล้วโดนตี ซึ่งมันเป็น random process มากๆ ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่า

    อันนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทำกรรมชั่วเยอะขึ้นหรือเปล่า ตามข่าวหนังสือพิมพ์หรือทีวีต่างๆ เราเห็นคนที่เราพอจะเชื่อได้ว่ามัน "ชั่ว" จริงๆ แต่คนพวกนั้นก็ยังมีหน้ามีตา มีฐานะ แล้วผลของกรรมมันไปไหน จริงๆ แล้วมันอยู่ในใจของคนพวกนั้นนั่นแหละ เราเชื่อได้เลยว่าใจเขาไม่สบาย/สงบเหมือนคนดีๆ แน่ๆ

    และตัวอย่างที่ยกมาในบทความก็ค่อนข้างจะสุดขอบไปนึดนึงก็คือว่า ถ้ากรรมทีทำในชาตินี้ไปสนองในชาติหน้า (ซึ่งก็มีการสอนกันจริงๆ) แล้วเราจะไปสนใจทำไม ชาติหน้ามันจับต้องไม่ได้ เราตายเราก็จบไปแล้ว ถึงมีชาติหน้ามันก็ไม่ใช่ตัวเราอยู่ดี

    ส่วนเรื่องการหลุดพ้นจริงๆ นั้นผมก็ไม่สามารถตอบได้ แต่คำถามที่อยู่ในใจของผมคือ หลุดพ้นแล้วไง ดียังไง ยังไงผมก็ไม่ยินดียินร้ายกับไอ้ตัวผมในชาติหน้า (ถ้ามีจริง) มันจะทุกยังไงก็เรื่องของมัน เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากวัฎสงสาร นั่นมันคือสุดยอดแล้ว (ซึ่งเท่าที่เข้าใจกันก็คือไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก)

    เรื่องศาสนาเป็นเรื่องทีผมไม่ถนัดและรู้น้อยจริงๆ ซึ่งพอโตขึ้นมาไอ้ความรู้สึกว่าเราไม่รู้มันก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็หวังว่าคงจะหาคำตอบให้กับข้อสงสัยต่างๆ ได้ภายในชีวิตนี้

    ReplyDelete