Saturday, August 15, 2009

CO2 ราคาแพง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการรถยนต์ในสหรัฐฯมีความคึกคักเป็นพิเศษจากโครงการของรัฐบาล คือ Cash for Clunker (CfC) ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเก่าซึ่งรถมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงมาแลกเป็นรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

พอผมได้ยินโครงการนี้ก็รู้สึกได้ว่าคงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อช่วยด้านการประหยัดพลังงานเท่าไรนัก แต่คงเพื่อช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ซบเซามาตั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาเสียมากกว่า

พอดีได้อ่าน Working Paper ของ Christopher Knittel จาก University of California, Davis โดยในงานเขียนนี้มีการประมาณค่ากว้างๆ ของต้นทุนในการลดการปลดปล่อย CO2 จากโครงการ CfC ซึ่งในตอนต้นผู้เขียนก็ได้กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการดังกล่าว คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้เขียนได้ประมาณการต้นทุนของการลด CO2 แบบคร่าวๆ จากค่าเฉลี่ยของอัตราการกินน้ำมันของรถเก่าและรถใหม่ และระยะทางที่รถทั้งสองกลุ่มจะถูกใช้งาน ส่วนตัวแปรที่จะใช้กำหนดขอบเขตของต้นทุนก็คือ ระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลาย (ถ้าไม่มีโครงการนี้)

โดยหากว่าระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลายยาว หมายความว่าโครงการนี้ลดปริมาณ CO2 ไปได้มาก ต้นทุนการลด CO2 ก็จะถูกลง แต่หากว่ารถจะถูกนำไปทำลายในอีกไม่กี่ปี ต้นทุนการลด CO2 ก็จะสูง เพราะว่าถึงไม่มีโครงการนี้อีกไม่นานรถคันนี้ก็ไม่อยู่ในท้องถนนในอีกไม่กี่ปีอยู่ดี (การลดใช้น้ำมันก็ทำได้ไม่มาก)

ต้นทุนต่ำสุดที่คำนวณได้ก็คือ 237 $/ตันของ CO2 โดยตัวเลขนี้ได้รวมผลประโยชน์ที่ได้รับจากมลพิษที่ลดลง (รถใหม่ปล่อยของเสียลดลง เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์) เทียบกับค่าเฉลี่ยของ CO2 ที่ซื้อขายในตลาดยุโรปในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ราวๆ 25 ปอนด์ต่อตัน ซึ่งถ้าแปลงเป็นดอลลาร์ก็ประมาณ 35 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นทางเศรษฐศาสตร์ เช่น เรื่องของ Rebound effect* ซึ่งก็คล้ายๆ กับ Price Effect ที่ใช้โดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ (Rebound effect หรือ take-back effect เป็นคำที่มักใช้กับด้านการใช้พลังงาน) ซึ่งประเด็นก็คือ เมื่อคนมีรถใหม่ใช้ซึ่งประหยัดน้ำมันมากขึ้นเท่ากับว่าต้นทุนในการเดินทางรถลง ก็จะทำให้คนเดินทางมากขึ้น และประเด็นของ Adverse Selection ซึ่งก็คือว่าคนนำรถที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้มาเปลี่ยน (ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของการลดใช้น้ำมัน)

สำหรับผมคิดว่านโยบายนี้ดีแน่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์เพราะสามารถระบายสต๊อกไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่อ่านเจอพบว่าขายรถใหม่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ถึงเกือบ 3 แสนคันในไม่กี่สัปดาห์ แต่ว่าประเด็นอื่นด้านทรัพยากรนอกเหนือจากการใช้น้ำมัน ผมไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือเปล่า ซึ่งน่าจะมีการศึกษาโดยใช้ Life Cycle Analysis ว่าความสูญเสียจากรถเก่าบางคันที่ยังไม่ได้ใช้จนคุ้มค่าแต่ว่าถูกนำไปทำลาย (ซึ่งคำว่า “ใช้จนคุ้มค่า” ในมุมมองของบุคคลและสังคมโดยรวมอาจไม่เหมือนกัน) เพราะว่าการผลิตรถคันใหม่ย่อมใช้ทรัพยากรหลายอย่างรวมไปถึงพลังงานด้วยเช่นกัน

* Rebound effect หรือ take-back effect หมายความว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ต้นทุนหรือปริมาณการใช้ต่อหน่วยลดลง ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนการใช้ต่ำลงทำให้ใช้มากขึ้น เช่น รถใหม่ๆ ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ก็สร้างแรงจูงใจให้คนขับก็ขับมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้ก็มีมาหลายร้อยปีแล้ว จาก Jevons Paradox จากหนังสือ The Coal Question ในปี ค.ศ. 1865 โดย William Stanley Jevons ซึ่งกล่าวถึงประเด็นเครื่องจักรไอน้ำของ James Watt ที่มีประสิทธิภาพการใช้ถ่านหินสูงขึ้น ซึ่งแทนที่จะทำให้การใช้ถ่านหินลดลงกลับเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนต่ำลง

อ้างอิง Christopher R. Knittel, "The Implied Cost of Carbon Dioxide under the Cash for Clunkers Program" (August 2009) http://www.ucei.berkeley.edu/PDF/csemwp189.pdf

No comments:

Post a Comment