Monday, March 2, 2009

นายศุลกากรชื่อ Adam Smith

เมื่อไม่กี่วันก่อนอ่านหนังสือเกี่ยวกับ History of Economics Thought เล่มที่ซื้อมาก็แบ่งเป็น 3 แนวคิดของ 3 บุคคลหลักๆ ก็คือ Adam Smith, Carl Marx และ John Maynard Keynes ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาก็เพราะอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ไอ้เราเรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรี ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์อย่างจริงๆ จังๆ เลย ตอนเรียนตรีวิชานี้ก็ได้ C อีกต่างหาก ตอนที่เรียนนั้นก็คงเรียนอย่างไม่เต็มใจเท่าไหร่ อ่านเพื่อทำข้อสอบเท่านั้น แต่ตอนนี้มันอยากเรียนรู้จริงๆ ก็นึกเสียดายขึ้นมา เลยต้องหามาอ่านเพื่อชดเชย

ภาคแรกของหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Adam Smith ซึ่งเป็นผู้นำปรัชญาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มาสู่โลกใบนี้ ภายใต้งานเขียนที่ชื่อว่า The Wealth of Nations ซึ่งเนื้อหาหลักโดยย่อก็คือ การใช้กลไกตลาดในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ

ก่อนหน้านี้แนวคิดของประเทศตะวันตกในการสร้างความมั่งคั่งก็คือ ลัทธิ Mercantilism ซึ่งมีความคิดว่าทรัพย์สินของแต่ละประเทศมีปริมาณคงที่ การที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ ก็โดยการแย่งชิงจากประเทศอื่น แบบพวกจักรวรรดินิยม รวมถึงการทำให้ดุลการค้าของประเทศเกินดุลมากๆ และต่อต้านการนำเข้าโดยใช้มาตรการต่างๆ

แนวคิดของสมิธคือการให้กลไกตลาดทำงาน หากสินค้าใดที่ชาติอื่นผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือมีความชำนาญมากว่า เราก็ควรจะนำเข้าจากเขา และทำสิ่งที่เราถนัด ซึ่งเป็นแนวคิดของการทำการค้าเสรี รวมถึงการแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความชำนาญในกระบวนการผลิต (ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดเดียวกับระบบสายพานที่เฮนรี ฟอร์ดได้นำมาใช้)

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตสมิธได้รับตำแหน่งเป็นนายศุลกากรระดับสูงของสก๊อตแลนด์ มีหน้าที่กวดขันการนำเข้า และจัดการสินค้าหนีภาษี ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับแนวคิดการค้าเสรีที่เป็นหลักการที่เขาสนับสนุนมาโดยตลอด เขาดำรงตำแหน่งนี้อยู่ 12 ปี และมีข่าวว่าเขาก็นำสินค้าหนีภาษี เช่น เสื้อผ้า มาใช้ส่วนตัวด้วย

ชีวิตของสมิธทำให้ผมแปลกใจไม่น้อย บุคคลผู้เรียกได้ว่าเป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ จะมีชีวิตบั้นปลายที่หักมุมไปมากจากแนวคิดที่เขาสนับสนุนมาทั้งชีวิต แต่ผมก็ไม่ได้ประหลาดใจมากเพราะสมิธก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เขาอาจจะเป็นฮีโร่หรือบุคคลสำคัญ แต่แท้จริงแล้วเขาก็คือคนธรรมดา ที่ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์อย่างในอุดมคติ

ฮีโร่ก็คือคนธรรมดา เขาไม่ได้เป็นฮีโร่ในทุกมุม ทุกคนต่างก็มีด้านมืดด้านสว่าง บางทีคนที่เรายึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต อาจทำในสิ่งที่ทำให้เราต้องผิดหวัง คนบางคนมีเบื้องหน้าที่ดีมาตลอดชีวิต แต่เบื้องหลังอาจทำสิ่งเลวร้ายที่เราคาไม่ถึง และไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง แต่เราก็ควรคิดได้ว่าเขาก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำผิดได้ ทำดีได้ ไม่ต่างจากเรา

ถึงตอนนี้เองภาพในความคิดของผม Adam Smith ก็ยังคงเป็นนักปรัชญาที่เฉียบแหลม ซึ่งนำเสนอแนวคิดทางเศรษศาสตร์ที่ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน มิใช่นายด่านศุลกากรแต่อย่างใด


อ้างอิง: The Big Three in Economics by Mark Skousen


Our heroes are people and people are flawed. Don't let that taint the thing you love.

Randy K. Milholland, Midnight Macabre, 09-27-07

No comments:

Post a Comment