Sunday, September 4, 2011

ที่จอดรถ Eco-car และ แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง (Incentive Incompatible)


ผมมีโอกาสได้เข้าไปจอดรถในอาคารจอดรถแห่งหนึ่งซึ่งเป็นอาคารหลายชั้นและการแข่งขันเรื่องที่จอดรถค่อนข้างมีความดุเดือดเลยที่เดียว คนที่เข้ามาจอดทุกคนก็อยากได้ที่จอดที่อยู่ชั้นเตี้ยๆ เนื่องจากประหยัดเวลาในการวนรถขึ้นและลง และมีของแถมก็คือใช้น้ำมันน้อยในการหาที่จอดรถ

สิ่งที่พิเศษสำหรับตึกนี้ก็คือมีที่จอดสำหรับจอดรถ Eco-car ที่กันไว้พิเศษในชั้นต้นๆ ของตึก (Eco-car คือ รถประหยัดพลังงานครับ ว่าง่ายๆ คือกินน้ำมันน้อยนั่นเอง)

ผมเห็นตอนแรกๆ ก็คิดว่าดีนะมีที่จอดรถสำหรับให้รถ Eco-car ด้วย ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่เคยเห็นก็ที่ตามห้างสรรพสินค้ากันที่จอดรถสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตของห้างที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้สมาชิก

แต่พอลองคิดอีกทีว่า การที่ตึกให้สิทธิพิเศษกับ Eco-car นี้ มันทำให้เกิดแรงจูงใจอะไรที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบ้าง หรือว่าการที่ทางตึกออกระเบียบเช่นนี้เพื่อทำให้คนหันมาซื้อรถ Eco Car กันมากขึ้น....

แรงจูงใจ (Incentive) เป็นแรงผลักดันที่ผมคิดว่ามีบทบาทมากที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ การกระทำและการตัดสินใจของคนเราทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดจาก “แรงจูงใจ”

ผู้บริโภคแสวงหาของดีที่มีราคาถูกก็เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างอรรถประโยชน์ให้สูงที่สุดภายใต้งบประมาณที่จำกัด ผู้ผลิตก็มีแรงจูงใจที่จะพยายามลดต้นทุนเพื่อขายของให้ได้กำไรมากที่สุด

ย้อนกลับไปที่แรงจูงใจของการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คนที่จะซื้อรถ Eco-car จะพิจารณาถึงประเด็นที่ได้ที่จอดรถชั้นเตี้ยๆ ในการซื้อรถซักคันหรือไม่

ถ้าจะให้ผมตอบตามความคิดตัวเองก็คงตอบว่า “ไม่มีผล” ต่อการตัดสินใจซื้อรถ Eco-car เลย แรงจูงใจนี้มันไม่น่าจะอยู่ในสมการการตัดสินใจของผู้ซื้อเลย หากเป็นการลดภาษีซักแสนสองแสนก็ว่าไปอย่าง

แล้วการให้ที่จอดรถชั้นต้นๆ กับรถ Eco-car ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตอบง่ายๆ ก็คือทำให้คนใช้รถ Eco-car รู้สึกดีขึ้นนั่นเอง ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนที่จะตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อรถ Eco-car เลย

ถามว่าระบบเศรษฐกิจได้อะไรหรือเสียอะไร

หากผมสามารถบริหารจัดการตึกจอดรถโดยเลือกให้รถคันไหนไปจอดที่ใดก็ได้ โดยใช้เป้าหมายเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นปัจจัยเดียว รูปแบบที่จะทำให้ระบบประหยัดพลังงานมากที่สุดก็คือ...

รถที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำที่สุดจอดชั้นต่ำที่สุด และรถที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Eco-car จอดชั้นที่สูงที่สุด

ส่วนระบบที่ใช้พลังงานมากที่สุดก็คือระบบที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาก็คือรถประหยัดพลังงานจอดชั้นต่ำสุด และรถประสิทธิภาพต่ำจอดชั้นสูงสุด ไล่กันไปตามลำดับ

แล้วระบบที่ให้รถ Eco-car จอดชั้นต่ำๆ อยู่ค่อนไปทางไหน

เห็นได้ชัดเจนว่าค่อนไปทางระบบที่ใช้พลังงานสูงนั่นเอง

จากตัวอย่างที่ยกมาเห็นได้ว่าการให้แรงจูงใจที่ไม่เข้าที่เข้าทาง นอกจากจะไม่ส่งผลตามที่ต้องการแล้ว บางทียังอาจเกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงด้วย

แต่ก็น่าคิดนะครับว่า หากทุกตึกในประเทศไทยออกกฎให้รถ Eco Car จอดในอาคารจอดรถชั้นล่างๆ จะมีผลอะไรต่อการตัดสินใจซื้อรถหรือเปล่า ??


รูปจาก: http://thailandbrioclub.com/wp-content/uploads/2011/03/eco_car1.jpg

2 comments:

  1. I say the incentive is ok. The goal of this parking building probably is for PR mostly, not to make people buy more eco-car, unless it's a car-company building. But even then, I think the margin for non eco-car is probably higher for them too.

    In term of PR, it is much better when you first enter the building (1st floor) to see all these fancy shiny high-tech cars (which all eco-cars are) instead of a bunch of 15 yrs-old rusty old cars (which is what you are proposing).

    ReplyDelete
  2. Your point is good. I think the reserved parking for eco-car is for corporate image; not the real CSR. I just want to underline that kind of shallow CSR doesn't contribute anything to the economy.

    But it's true that they may not want the clunkers to park on the first floor :)

    ReplyDelete