Saturday, May 1, 2010

คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า

คำถามที่ว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เป็นคำถามที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามกับผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องด้วยผมจะกลับเมืองไทยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งอาจารย์ก็เป็นห่วงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะมีภาพข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงจากการประท้วงทางการเมืองออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

อาจารย์ของผมท่านนี้เคยไปเมืองไทยเมื่อเกือบสามสิบกว่าปีก่อน ท่านยังเล่าให้ฟังเสมอถึงความประทับใจต่อเมืองไทย เช่น การบริการของโรงแรมโอเรียนเต็ลที่เอาใจใส่ในทุกรายละเอียดต่อแขกที่เข้าพัก เสื้อสูทที่ตัดไว้เมื่อไปเมืองไทยก็มียังอยู่ และอัธยาศัยที่เป็นมิตรของคนไทย

ท่านถามผมว่า คนไทยเปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะภาพที่อยู่ในใจของท่านและชาวต่างชาติส่วนใหญ่ คนไทยนั้นมีนิสัยอ่อนโยน และมีความเอื้ออาทร (จนเป็นที่เรียกติดปากว่า สยามเมืองยิ้ม) ท่านก็บอกว่าภาพข่าวที่เห็นดูจะตรงข้ามกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ท่านรู้จักอย่างสิ้นเชิง

คำตอบที่ผมตอบท่านไปก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีนิสัยอย่างที่ท่านบอกก็คือยังคงเป็นมิตรแม้แต่กับคนแปลกหน้า เช่น นักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและมีการปลุกระดมเหมือนจิตวิทยามวลชน ทำให้เกิดการแสดงออกที่รุนแรง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้น ถ้าเราได้มานั่งคุยกันตัวต่อตัว ก็สามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนกับคนไทยคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้รู้สึกเหมือนกับการทำศึกสงคราม ทำให้อารมณ์ที่แสดงออกไปมีแต่ความก้าวร้าวรุนแรง จนเหมือนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและการควบคุมตนเองไป

ผมเชื่อว่าชาวต่างชาติหลายคนก็คงเริ่มตั้งคำถามแบบที่ผมได้รับเช่นนี้เหมือนกัน ภาพพจน์ของคนไทยในสายตาต่างชาติ คือ ชนชาติที่เป็นมิตร ยิ้มง่าย และมีน้ำใจ อย่างไรก็ตามหากภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นออกไปสู่โลกภายนอกอย่างต่อเนื่องเช่นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์โดยรวมของคนไทยอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้

คำตอบที่ผมตอบอาจารย์ไปเป็นคำตอบที่ผมมีความเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ผมเชื่อว่าเราคนไทยยังคงมีไมตรีจิตให้แก่กันเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาช่างกลคู่อริที่ตีกันเป็นประจำ (โดยเฉพาะเวลาที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน) มาถอดเสื้อช๊อป ถอดเข็มขัด แล้วให้ใส่ชุดกีฬามาเล่นฟุตบอลกัน โดยให้ลืมเรื่องศักดิ์ศรีไร้สาระซึ่งถูกปลูกฝังจากรุ่นพี่นิสัยไม่ดี ผมว่าไม่นานคนกลุ่มนี้ก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่ต้องมีใครมากล่อมให้รักกัน

นิสัยอีกอย่างของคนไทยก็คือไม่ชอบการคุยกันดังๆ การใช้เสียงดังหรือตะโกนมักจะเกิดในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น การทะเลาะกัน (บางชาตินี่คุยกันปกติแต่ส่งเสียงดังเหมือนทะเลาะกันก็มี) หรือมีการประกาศเพื่อเน้นให้ตั้งใจฟัง ซึ่งในแง่นี้อาจสามารถเปรียบได้กับเรื่องการชุมนุมที่เป็นทางออกทางหนึ่งเพื่อแสดงให้คนหมู่มากได้รับรู้และได้ยินในเรื่องที่ตนเองต้องการจะบอก ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่เคยสนใจหรือไม่เคยได้ยิน เช่นเดียวกับการพูดให้เสียงดังขึ้นกว่าปกติเพื่อกระตุ้นให้คนรับฟัง

หลักการเรื่องความพอดียังคงใช้ได้กับทุกเรื่อง หากผู้พูดส่งเสียงดังมากจนเกินไป จนเหมือนการตะโกนกรอกใส่หู ย่อมทำให้คนที่รับฟังเกิดอารมณ์ขุ่นมัว และ สาร ที่ต้องการจะ สื่อ อาจไม่ส่งผลได้ดังที่ตั้งใจไว้ และอาจส่งผลทางลบต่อผู้ส่งเสียงเรียกร้องเสียเอง

ส่วนตัวผมก็หวังว่าเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นจบลงโดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงบางเรื่องที่มีการตะโกนให้รับรู้ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาถูกนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และให้คนไทยสามารถกลับมาพูดถกเถียงเรื่องการเมืองได้โดยไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ เหมือนกับสมัยก่อนที่พูดกันยามเช้าในร้านกาแฟหน้าปากซอย คุยกันไปกินปาท๋องโก๋ไป สายๆ ก็แยกย้ายกลับบ้านโดยมีรอยยิ้มให้กัน