Tuesday, February 23, 2010

น้ำเอยน้ำใจ 2

หมายเหตุ: เนื้อหาคราวนี้ต่อเนื่องจาก บทความที่แล้ว เรื่อง น้ำเอยน้ำใจ จริงๆ แล้วอยากเขียนให้ต่อจากคราวที่แล้วเป็นบทความเดียวไปเลยแต่ว่ามีบางประเด็นที่น่าจะแยกมาเขียนต่างหาก โดยบทความที่แล้วได้พูดถึงการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมนุษย์ ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเท่าไร รวมถึงการทดลองพฤติกรรมของคนในห้องแลปที่ไม่อาจสะท้อนพฤติกรรมที่ผู้คนในสังคมทั่วไปแสดงออกเมื่อประสบกับสถานการณ์ต่างๆ

อีกประเด็นที่สามารถหยิบยกได้จากกรณีฆาตกรรม Kitty Genovese ที่มีการนำเสนอว่าผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายวางเฉยกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็คือ เรื่องของความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเหตุการณ์สาธารณะ ประเด็นของเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือ An Introduction to Game Theory ของ Martin J. Osborne ในบทที่เกี่ยวกับ Mixed Strategy

กล่าวคร่าวๆ Mixed Strategy Equilibrium ในทฤษฎีเกม หมายความถึงการกำหนดกลยุทธ์ของบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับการคาดหมายถึงความน่าจะเป็นในการที่บุคคลอื่นจะใช้กลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ยิงลูกโทษ กับผู้รักษาประตู แต่ละคนกำหนดความน่าจะเป็นว่าอีกฝ่ายจะเลือกทางซ้ายหรือขวา แล้วนำมาใช้ตัดสินใจในการเลือกกลยุทธ์ของตน ซึ่งอยู่ในลักษณะความน่าจะเป็นอีกเช่นกัน

ในบทความจากหนังสือได้เสนอการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ในกรณีที่มีผู้พบเห็นเหตุการณ์หลายคน พบว่าความน่าจะเป็นหรืออัตราในการแจ้งเหตุมีน้อยลง ซึ่งทางสังคมวิทยาและจิตวิทยาได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า อาจเกิดจากการกระจายของความรับผิดชอบหรือความรู้สึกผิด เช่น ถ้าเราเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว เท่ากับว่าเราแบกรับความรับผิดชอบ หรือความเป็นความตายของผู้อื่นไว้แต่ผู้เดียว ซึ่งความรู้สึกผิดหากว่าเราไม่รับผิดชอบมันเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ถ้ามีคนอื่นเห็นด้วยเราก็สามารถบรรเทาความรู้สึกผิดได้ว่า คนอื่นไม่ยอมทำด้วย ไม่ใช่เราต้องรับผิดชอบคนเดียว

ทฤษฏีเกม Mixed Strategy สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวได้ดีเช่นกัน โดยหากสมมุติว่า การแจ้งเหตุก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตัวเรา อย่างไรก็ตามก็มีต้นทุนด้วย เช่น ค่าโทรศัพท์ หรืออาจต้องเสียเวลาเป็นพยานอีกหลายครั้ง ซึ่งเราสมมุติว่าผลประโยชน์มากกว่าต้นทุน และหากว่ามีคนเพียงคนเดียวแจ้งเหตุ ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์ก็จะได้รับประโยชน์เท่ากันหมด

หากว่ามีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการแจ้งเหตุ เพราะผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก อย่างไรก็ตามเมื่อมีหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ ทำให้แต่ละคนคาดการณ์ว่าคนอื่นๆ ตัดสินใจแจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง และยิ่งการที่มีหลายคนทำให้ความน่าจะเป็นในการแจ้งเหตุของแต่ละคนลดลงไปเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าอีกคนหนึ่งจะแจ้งเหตุแล้ว กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของเราคือการไม่แจ้งเหตุด้วยความน่าจะเป็นที่สูง ซึ่งทำให้เราไม่เสียเวลาแล้วยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ซึ่งเหตุการณ์ที่ผมพบเจอทุกวันและน่าจะใช้คำอธิบายแบบเดียวกันได้ก็คือ ปัญหาการกดปุ่มสัญญาณคนข้ามถนนตอนไปโรงเรียน หากว่าต้องการข้ามถนนต้องกดปุ่มนี้สัญญาณไฟคนข้ามจึงจะติด ซึ่งกดเพียงครั้งเดียวมันก็จะติดหลังจากไฟแดงวนมาครบรอบ มีหลายที่ผมเห็นคนยืนรอข้ามถนนหลายสิบคน แต่ปรากฎว่าสัญญาไฟคนเดินไม่ขึ้น เพราะว่าไม่มีคนกดปุ่ม ซึ่งก็ทำให้ต้องรอไฟแดงกันอีกรอบหนึ่ง

จริงๆ แล้วการกดสัญญาณไฟไม่มีต้นทุนอะไรเลยต่อผู้กด อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มาถึงสัญญาณไฟเป็นคนแรก ไม่กดปุ่มดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ตามมาเข้าใจว่า มีการกดปุ่มไปแล้ว (ด้วยความน่าจะเป็นค่าหนึ่ง) ทำให้เขาไม่ตัดสินใจกดปุ่มนั้น และเมื่อมีคนอื่นตามมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำคนที่ตามมาคาดการณ์ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงว่าต้องมีคนกดไปแล้วแน่ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครกดปุ่มนั้นเลย และต้นทุนที่เกิดจากการรอไฟแดงอีกรอบหนึ่งนั้น มากกว่าต้นทุนการกดปุ่มอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกครั้งที่ผมจะข้ามถนนหากไม่เห็นว่ามีใครกดปุ่มนั้นแล้ว ผมจะกดปุ่มสัญญาณไฟเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ต้องรอไฟแดงอีกรอบ

สถานการณ์จากแบบจำลองทฤษฏีเกมที่ยกมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลักทางเศรษฐศาสตร์ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องของ Externality ซึ่งก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนๆ หนึ่งซึ่งนอกจากจะกระทบต่อตัวผู้ทำเองแล้วยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เช่น โรงงานก่อมลพิษ ข้างบ้านเปิดวิทยุเสียงดัง หรือถ้ามองเป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจก็เช่น ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนข้อสรุปในเรื่องของคดีของ Kitty Genovese นั้นในท้ายบทของ Super Freakonomics ได้เปิดเผยว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์นั้นเสนอข่าวเกินความจริง โดยการเปิดเผยจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ชี้ให้เห็นว่า การฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นในเวลาประมาณตีสาม ซึ่งมีไม่กี่คนที่เห็นเหตุการณ์ และก็ได้มีการแจ้งตำรวจไปแล้ว แต่ใช้เวลานานกว่าจะติดต่อกับตำรวจได้ ทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตของเธอไว้ได้ทัน

Tuesday, February 16, 2010

น้ำเอยน้ำใจ

ผมพึ่งอ่านบทหนึ่งในหนังสือ Super Freaknomics จบลง (ซึ่งเป็นภาคต่อของ Freakonomics) ซึ่งเล่มสองนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างเงียบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะมีหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม ไม่เหมือนภาคแรกที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงอีกมุมมองของปรากฎการณ์ที่แปลกไปเมื่อใช้หลักทางเศรษศาสตร์มาอธิบาย

บทที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ บทที่ 3 Unbelievable Stories about Apathy and Altruism (apathy มีความหมายประมาณว่าเมินเฉยไม่ใส่ใจ ส่วน altruism ก็มีความหมายประมาณว่ามีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว)

เริ่มบทมาก็กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อมี ค.ศ. 1964 ที่หญิงสาวผู้หนึ่ง (Kitty Genovese) ถูกฆาตกรรมโดยชายผู้หนึ่งขณะเดินกลับบ้านตอนกลางคืน โดยส่วนที่สำคัญคือข่าวได้ลงว่าฆาตกรผู้นั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายหญิงสาวผู้นี้ถึงสามครั้งจนถึงแก่ความตาย และได้มีการพาดหัวข่าวว่าผู้คนถึง 38 คนที่อาศัยอยู่ในตึกใกล้เคียงที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้แจ้งตำรวจหรือช่วยเหลือหญิงสาวผู้นี้แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงดังกล่าวในประเด็นเรื่องความใส่ใจในชีวิตผู้อื่นในสังคม

เหตการณ์ดังกล่าวก็ถูกโยงมาถึงประเด็นที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามีความมีน้ำใจหรือเปล่า ทำไมคนจึงทำบุญหรือช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่รู้จัก อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมดังกล่าว (จริงๆ ในบทมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาเหตุการเกิดอาชญากรรม เช่น การออกอากาศโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหรัฐ พบว่ารัฐที่มีการออกอากาศก่อนรัฐอื่นหลายเดือนมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจึงมีการพัฒนาการทดลองในห้องแลป เพื่อศึกษาพฤติกรรม (การใช้ข้อมูลจริงทำได้ลำบากในทางสังคมศาสตร์ เพราะหาปรากฎการณ์ที่เป็น Natural Experiment ได้ยาก)

ยกตัวอย่างเช่น เกมที่ชื่อว่า Ultimatum ซึ่งให้ผู้รับการทดลองสองคนที่ไม่รู้จักกัน โดยผู้เล่นคนแรกจะต้องแบ่งเงินที่ได้รับมาจำนวน $20 ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับตัวเองและส่วนหนึ่งสำหรับผู้เล่นคนที่สอง โดยกฎของเกมก็คือ หากว่าคนที่สองไม่ยอมรับจำนวนที่เสนอทั้งคู่ก็จะไม่ได้เงิน ซึ่งจากทฤษฏีเกมผู้เล่นคนแรกสามารถเสนอจำนวนที่น้อยที่สุดให้ผู้เล่นคนที่สอง เช่น $0.01 เพราะถ้าปฏิเสธก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ว่าจากผลการทดลองพบว่าผู้เล่นคนที่หนึ่งเสนอให้โดยเฉลี่ย $6 ซึ่งก็ถือว่ามาก และผู้เล่นคนที่สองโดยเฉลี่ยจะปฏิเสธจำนวนเงินที่น้อยกว่า $3 ซึ่งผลดังกล่าวก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เล่นคนแรกเป็นคนมีน้ำใจจริงหรือเปล่า เพราะการเสนอตัวเลขที่สูงอาจทำเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธ

ต่อมาก็มีการปรับปรุงแนวทางของเกมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ผู้เล่นคนแรกเป็นคนตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียว (Dictator) ก็ยังปรากฎว่าโดยเฉลี่ยยังมีการแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนที่สองอยู่ แต่ว่าพอเปลี่ยนกฎของเกมโดยแบ่งเงินให้ผู้เล่นคนแรกและคนที่สองเท่าๆ กัน และผู้เล่นคนแรกสามารถตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินให้ หรือเอาเงินจากคนที่สองมาเป็นของตัวเอง ซึ่งผลออกมาว่ามากกว่า 40% ของผู้เล่นคนแรกเอาเงินทั้งหมดจากผู้เล่นคนที่สอง

จากการทดลองหลากหลายดังกล่าวก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และผู้เขียนก็ยังได้กล่าวถึงประเด็นของการทดลองในห้องแลป ที่อาจมีปัญหาเรื่องการสุ่มตัวอย่าง และพฤติกรรมของผู้เข้ารับการทดลองซึ่งอาจไม่เป็นธรรมชาติและไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงของคนในสังคมได้

ประเด็นเรื่องน้ำใจดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องที่เคยอ่านใน Predictably Irrational ที่กล่าวถึงเรื่อง Social Norm กับ Market Norm โดย Social Norm หมายถึง รูปแบบทางสังคมที่เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วน Market Norm เป็นรูปแบบของสังคมแบบผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีของการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายยึดถือคนละแบบแผน (Norm) มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น องค์กรหนึ่งต้องการหาทนายความเพื่อเข้ามาช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เลยเข้าไปเสนองานให้กับทนายรายหนึ่งโดยให้ค่าชั่วโมงน้อยกว่าราคาตลาดเพื่อเป็นการกุศล ปรากฎว่าทนายได้ปฏิเสธ ทางองค์กรจึงได้เปลี่ยนแนวทางโดยบอกกับทนายว่าจะช่วยองค์กรฟรีๆ เพื่อการกุศลได้หรือเปล่า ปรากฏว่าทนายได้ตอบรับ โดยผู้เขียนได้อธิบายว่า ในกรณีแรกทนายได้ใช้ Market norm ในการตัดสินใจ เมื่อราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาตลาดเขาจึงไม่รับงาน ส่วนในกรณีหลังเขาตัดสินใจโดยใช้ Social norm ในการตัดสินใจช่วยเหลือทำให้รับงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นเรื่องการมีน้ำใจ หรือทำบุญกุศลนั้นผลที่เกิดขึ้นทางใจมันสามารถวัดได้ลำบาก แตกต่างกันไปตามแต่บุคคล อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นประเด็นที่ดูแปลกสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ก็เพราะใน Utility Function (http://en.wikipedia.org/wiki/Utility) ที่เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปนั้นถูกกำหนดโดยทรัพย์สินหรือวัตถุ ความพึงพอใจหรือความสุขใจ ไม่ได้รวมอยู่ในนั้น หากว่าความสุขใจจากการเสียทรัพย์สินบางส่วนเพื่อการกุศลนั้นถูกบรรจุเข้าไปอย่างเหมาะสม ก็น่าจะสามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แม้ว่าจะตีออกเป็นมูลค่าได้ลำบากก็ตาม

หลักเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายหลายปรากฎการณ์ที่ไม่น่าจะอธิบายได้ แต่ว่าก็ไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ทุกอย่าง

(สำหรับความเห็นส่วนตัวกับหนังสือ Super Freakonomics เล่มนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลิน ไม่น่าเบื่อ แต่สิ่งที่ต่างจากเล่มแรกก็คือในแต่ละบทมีความพยายามที่จะแทรกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ามันมากเกินไปและเบนความสนใจจากคนอ่านไปจากประเด็นหลักได้)

อ้างอิง : http://www.amazon.com/SuperFreakonomics-Cooling-Patriotic-Prostitutes-Insurance/dp/0060889578/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371768&sr=8-1

http://www.amazon.com/Predictably-Irrational-Hidden-Forces-Decisions/dp/006135323X/ref=sr_1_1?ie=UTF8&s=books&qid=1266371802&sr=1-1

Tuesday, February 2, 2010

อารมณ์ขำและคิดถึงหนังโจวซิงฉือ


ผมคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นอารมณ์เฉพาะของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นสิ่งมีชีวิตอื่น แสดงอารมณ์ขันได้เลย ถ้าเป็นอารมณ์สนุกก็พอจะเห็นได้บ้าง อย่างเช่นเวลาเล่นกับสุนัข (ผมเดาว่ามันสนุกนะ แต่จริงๆ ไม่รู้ว่ามันสนุกหรือเปล่า เห็นมันกระดิกหางวิ่งไปมาก็เข้าใจว่ามันน่าจะสนุก)

อารมณ์ขันก็คล้ายๆ กับความพอใจในรสอาหารซึ่งมีความเฉพาะตามบุคคล แต่ว่าขอบเขตมันกว้างมาก อย่างในเรื่องอาหาร ถ้าอาหารรสดี คนส่วนใหญ่ที่กินก็จะรู้สึกไปในทางเดียวกัน แม้ว่าความชอบมากน้อยอาจต่างกันไปบ้าง แต่ว่าเรื่องตลกนี่มันกว้างไปกว่านั้น บางคนรับรู้เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจขำเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ว่ากับอีกคนอาจไม่ขำแถมไม่ชอบอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ผมดูพวกเดี่ยวฯ ของโน้ส อุดม ก็ไม่ขำ แค่หัวเราะหึๆ กับบางมุก แต่หลายๆ คนก็ดูจะชอบและขำกันมากมาย

เท่าที่สังเกตตัวเองมาระยะหลังมุกตลกหรือหนังตลกเรื่องตลกแบบก่อนๆ มันไม่ค่อยขำเท่าไหร่ ไม่รู้เพราะเส้นลึกไปตามวัยหรือรสนิยมเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เด็กเล็กๆ นี่ขำง่าย เล่นจ๊ะเอ๋ก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้ว (ในทางกลับกันก็ร้องไห้และเศร้าได้ง่ายเช่นกัน) เหมือนว่ายิ่งโตขึ้นการควบคุมอารมณ์มีมากขึ้นตามลำดับพออายุมากขึ้น

หนังสือการ์ตูนแต่ก่อนก็มีหลายเรื่องที่อ่านแล้วขำล่าสุดก็คือ ครอบครัวตัว ฮ. ที่พี่ชายซื้อไว้ ส่วนหนังการ์ตูนล่าสุดที่ได้ดูแล้วคิดว่าขำก็คือ คุโรมาตี้ (anime) แบบเป็นการ์ตูนไม่มีโอกาสได้อ่าน พวกเรื่องขำขันก็เช่นกัน หาแบบตลกๆ ได้ยากเต็มที

ส่วนถ้าจะพูดถึงหนังที่ชวนขำมากที่สุดสำหรับผม ก็คือหนังของ โจว ซิง ฉือ สมัยแรกๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยไม่เคยพลาดเลยที่จะดูหนังของโจวซิงฉือในโรงหนัง ซึ่งไปดูกันทีก็เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ทีมพากย์ก็ต้องทีมพากย์อินทรีไม่งั้นไม่สนุก

เรื่องแรกที่ได้ดูไม่ได้ดูในโรงหนัง แต่ว่าดูกับเพื่อนสามคน เนื่องด้วยว่ามีเพื่อนคนหนึ่งต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน มันจึงเช่าหนังมาดู ซึ่งก็คือเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” เป็นหนังที่ดูแล้วขำมากๆ เรียกว่าหัวเราะกันท้องแข็งแทบทุกฉาก

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าว่าในระยะหลังๆ หนังของเฮียโจวไม่ค่อยขำเท่าไหร่ (สำหรับผม) ไม่รู้ว่าต้องการทำให้อารมณ์ขันเป็นสากลขึ้นหรือไม่ แต่ว่าความเป็นตลก แบบงี่เง่าๆ มันหายไปอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเสียงเล็กๆ ของผมไปถึงเฮียโจวได้ อยากบอกเฮียว่าทำหนังแบบเดิมเหอะ ไม่ต้องเอาโกอินเตอร์ก็ได้

มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดผม (และอีกหลายคนคงเป็นเหมือนกัน) ที่มีอารมณ์ขำกับสิ่งต่างๆ ได้ยากขึ้น ไม่รู้ว่ามันจะเกิดจากการที่ในชีวิตที่ผ่านมาเราเจอเรื่องขำๆ มาเยอะ หรือว่าเจอเรื่องไม่ขำมาเยอะกันแน่

ปล. มีคนเอาเรื่อง “โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่” มาลงไว้ในเนตด้วย (ตอน 3 ซ้ำกับตอน 2 ข้ามไปตอน 4 ได้เลย) ใครยังไม่เคยดูต้องลองดูนะ ส่วนจะขำไม่ขำก็แล้วแต่ความลึกของเส้น http://video.mthai.com/player.php?id=23M1218434130M0