Friday, October 23, 2009

ค่า (คร่า) ชีวิต

ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจในประเทศไทย ซึ่งหลายๆ คนมีความเชื่อว่ากินเจแล้วจะได้บุญ สำหรับผมก็เฉยๆ สำหรับเรื่องนี้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อะไรอร่อยก็กินได้หมด ช่วงกินเจก็ดีอย่างนึงคือได้กินผักมากขึ้น ส่วนเรื่องหนึ่งที่หงุดหงิดใจในช่วงเทศกาลกินเจเวลาที่อยู่ที่เมืองไทยก็คือว่า อาหารเจแพง (มาก) ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องกลไกตลาดมีคนโหมกินกันมากๆ ราคาก็สูงขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนอีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การขายของที่เกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อของคนนั้นมันได้กำไรงามนักแล (ดิน + มวลสารอะไรซักอย่าง ยังขายได้ราคามากกว่าต้นทุนเป็นพันเป็นหมื่นเท่า)

ได้อ่านประเด็นเรื่องการกินเจตามเวบบอร์ดก็ได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่าง ประเด็นที่อ่านเจอก็เช่น กินเจได้บุญจริงหรือเปล่า ลดการฆ่าสัตว์ได้จริงๆ หรือไม่ ทำไมทานหอยนางรมได้ ในโค๊กมีส่วนผสมจากสัตว์หรือเปล่า (อันนี้น่าสนใจนะเพราะส่วนผสมของโค๊กเป็นความลับระดับโลก อาจมีส่วนผสมที่มาจากสัตว์ก็ได้) ถ้าพืชส่งเสียงร้องได้เราจะกินมันหรือเปล่า อะไรเทือกๆ นี้

อ่านไปก็สนุกดี แต่ที่พอจะสรุปสั้นๆ ได้ ก็คือ หนึ่ง จะทำอะไรก็ทำไปเถิดถ้ามันทำแล้วสบายใจไม่เดือดร้อนใคร (มาตรฐานบุญหรือบาปบางทีมันก็ขึ้นกับความคิดของเราเอง) สอง อย่าผูกขาดความดีไว้กับตัวเอง อย่าเอาความดีไปข่มใคร และอย่าหลงความดี ความดีเก็บไว้เป็นศรีแ่ก่ตัว เหมือนกางเกงในจำเป็นต้องมีไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องโชว์ ไ่ม่ต้องอ้างความดีเพื่อกดให้คนอื่นต่ำลง และสิ่งสุดท้ายก็คือ ความเชื่อใครความเชื่อมัน เชื่อไม่เหมือนกันก็อย่ามาว่ากันและคนอื่นไม่ผิดถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา ไม่งั้นเถียงกันไปร้อยชาติก็ไม่จบ

ส่วนเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจก็คือ เรื่องคุณค่าของชีวิต สิ่งมีชิวิตแต่ละชนิดมีคุณค่าเท่ากันหรือไม่ ทำไมบางทีคนเราทำประหนึ่งว่า การคร่าชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดบาปน้อยกว่าการคร่าชีวิตของอีกชีวิต (คำว่าบาปความจริงก็ต้องนิยามนะว่ามันเป็นยังไง)

ยกตัวอย่างเช่น เคยคุยกับแฟนว่าอยากกินเนื้อเปื่อย แฟนก็บอกว่าใจร้าย กินสัตว์ใหญ่ ก็เลยโต้ตอบกันไปมา ผมก็บอกว่าตัวใหญ่ก็ดีนะ ชีวิตเดียวกินได้ตั้งหลายคน ลองกินกุ้งปลากว่าจะอิ่มก็หมดไปหลายตัว น้ำปลาขวดนึงเนี่ยใช้ปลาเป็นร้อยๆ ตัวได้มั้ง จำได้ว่าบทสนทนาเรื่องนี้จบลงด้วยการเปลี่ยนเรื่องพูด ไม่งั้นคงจะเถียงกันไปยาว

บางคนก็บอกว่ากินสัตว์ใหญ่บาปมาก เพราะมันรู้เรื่องและมีความคิด ถ้าใช้ตรรกะแบบกำปั้นทุบดินก็แปลว่า กินสัตว์รู้มาก มีความคิดมาก บาปมาก ซึ่งถ้าอย่างนั้นผมเผลอไปกินกุ้งแสนรู้ ปูแสนฉลาด ปลาผู้อารีย์ ผมก็คงบาปมากกว่ากินกุ้ง ปู ปลาทั่วไป (แต่่ก็ว่าเถอะตอนผมดูหนังเรื่อง Babe จบใหม่ๆ นี่กินหมูไม่ลงไปเป็นวันๆ หรือเวลาที่เห็นวัวถูกบรรทุกพาไปโรงฆ่ามันก็ทำให้จิตตกไปพักหนึ่งเหมือนกัน)การวัดระดับของบาปของคนเรามันคงอยู่ที่ว่าการคร่าชีวิตสิ่งไหนมันทำให้จิตใจเศร้าสร้อยไ้ด้มากกว่ากัน

ถ้าเอาเรื่องบุญบาปกับการกินสัตว์ใหญ่มาโน้มน้าวผมคงไม่ได้ผลเท่าไหร่ ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพอาจได้ผลมากกว่า อย่างเช่น (เขา)ว่ากินสัตว์ใหญ่เยอะๆ ไม่ดี จะทำให้ร่างกายมีสารพิษสะสมเยอะ อันนี้ก็อาจเป็นไปได้เพราะว่าสัตว์ใหญ่มีอายุยาวกว่า การสะสมสารพิษจากสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีมากกว่าสัตว์เล็กๆ

จริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีค่าเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหมีแพนด้า หนูนา หรือแมลงสาป ทุกตัวมีสิทธิ์อยู่บนโลกนี้เท่าๆ กัน อย่างไรก็ตามระดับบาปหรือความไม่สบายใจของคนเราคงต่างกัน อย่างเช่น เผลอไปเหยียบแมลงสาปตายกับเผลอไปขับรถชนสุนัข อย่างหลังคงทำให้ไม่สบายใจไปหลายเดือน

นานมาแล้วเคยอ่านการ์ตูนสั้นๆ เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพระญี่ปุ่นที่ไปเจอผีเสื้อติดอยู่ที่ใยแมงมุม พระรูปนี้สงสารก็เลยช่วยผีเสื้อให้บินหนีไปได้ ขณะนั้นเองในมโนจิตของพระรูปนั้นก็ได้ยินเสียงจากแมงมุมพูดขึ้นว่า ทำไมท่านไปช่วยผีเสื้อตัวนั้นล่ะ นั่นคืออาหารของข้า และข้าจะเอาอะไรกิน ก็มีการพูดจาโต้ตอบไปมาระหว่างพระกับแมงมุม

ขณะนั้นเองก็มีนกตัวหนึ่งบินมา และก็จับแมงมุมไปกิน พระก็ตะลึงแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร แมงมุมก็ถูกนกกินไป หลังจากนั้นพระก็เกิดมโนภาพเห็นแมงมุมตัวยักษ์กล่าวกับพระอย่างโกรธแค้นว่า เพราะรูปลักษณ์ของแมงมุมน่าเกลียดใช่ไหม ทำให้พระไม่สนใจที่จะช่วยเหลือ ดังนั้นข้าก็จะล้างแค้นโดยการกินพระรูปนั้นเป็นอาหาร ขณะที่แมงมุมใช้ใยจับพระอยู่นั้น พระก็อยู่ในความกลัวสุดขีดออกจากภวังค์ เห็นผีเสื้ออยู่ติดอยู่ที่ใยแมงมุม กลับไปยังจุดเริ่มต้น แต่ว่าคราวนี้พระรูปนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ปล่อยให้ผีเสื้อถูกกินไป

ซึ่งเรื่องนี้ก็พอจะบอกถึงจิตสำนึกลึกๆ ของมนุษย์บางส่วนที่ประเมินชีวิตอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก เลือกที่จะชอบสิ่งทีน่ารักและเกลียดสิ่งที่ดูน่าเกลียด ซึ่งมันก็ปกติ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราควรจะทำคือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายสิ่งที่เราเกลียด เลือกรักษาไว้แต่สิ่งมีชีวิตที่เราชอบ หรือให้ประโยชน์กับเราได้ เพราะในธรรมชาติแล้วทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มีวงจรชีวิตอย่างเดียวกัน เกิด แก่ เจ็บ และตาย

ก็มีแง่คิดจากการ์ตูนอีกเรื่อง คือ Mushishi เป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่คล้ายๆ แมลง ดำรงชีวิตด้วยการเป็นปรสิตในร่างกายมนุษย์ และก่อให้เกิดอาการแปลกๆ ต่างๆ นานา ซึ่งตัวเอกของเรื่องเป็นคนที่สามารถกำจัดปรสิตเหล่านี้ได้ มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากที่ตัวเอกของเรื่องพูดว่า “การที่ปรสิตเบียดเบียนชีวิตเรา ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันทำไปก็เพราะความอยู่รอด ส่วนเรื่องที่เราจะกำจัดมันจากร่างกายเราก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราก็ทำเพื่อความอยู่รอดของเราเช่นกัน”

ก็คงพอสรุปได้ว่า ถ้าต้องคร่าชีวิตเพื่อเป็นอาหารก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และควรกินด้วยความเคารพคุณค่าของเพื่อร่วมโลกในห่วงโซ่อาหาร ไม่กินทิ้งขว้าง วิธีการคร่าชีวิตก็ควรทำโดยไม่ให้ทรมานมาก และไม่ควรเลยที่จะคร่าชีวิตอื่นเพื่อความสนุก

Tuesday, October 13, 2009

ก้นกล่องจดหมาย

ผมจำได้ว่าตอนยังเรียนประถมจะมีวิชาที่ต้องหัดเขียนจดหมาย เช่น จดหมายถึงเพื่อน จดหมายถึงอาจารย์ จดหมายลากิจ ลาป่วย ฯลฯ และในวิชาเรียนก็ได้เขียนจดหมายส่งจริงๆ ส่งทางไปรษณีย์ถึงเพื่อนในห้อง ความรู้สึกในการรอคอยจดหมายที่จะได้รับจากบุรุษไปรษณีย์มันก็น่าสนุกและตื่นเต้นดี แม้ว่ามันจะเป็นจดหมายที่ส่งมาจากเพื่อนที่นั่งอยู่โต๊ะติดกันก็ตาม

จนมาถึงตอนที่ได้เขียนจดหมายจริงๆ จังๆ ก็คือตอนไปเรียนโทที่อังกฤษเมื่อเก้าปีก่อน ซึ่งสมัยนั้นค่าโทรศัพทางไกลต่างประเทศมันก็ยังแพงอยู่พอสมควร พวกโปรแกรมสำหรับแชทก็มีแค่พวก ICQ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ จดหมายจึงเป็นช่องทางการสื่อสารทางนึงที่ผมชอบใช้ อย่างแรกคือมันจับต้องได้ และสองมันใช้เวลา ซึ่งทำให้เราต้องลุ้นว่าจดหมายไปถึงหรือยัง ถึงเมื่อไหร่ และก็มีลุ้นอีกว่าเมื่อไหร่จะได้รับจดหมายตอบกลับมา

แต่ว่าก้นกล่องจดหมายที่ผมจะพูดถึงมันคือกล่องจดหมายอีเลคทรอนิคส์หรืออีเมล์ นั่นเอง อีเมล์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผมในช่วงหลายปีมานี้ เช้าขึ้นมาอาจลืมแปรงฟันได้ แต่ลืมเช็คอีเมล์ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องมีภารกิจอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมจากอีเมล์ที่ส่งมา ซึ่งทำจนเป็นกิจวัตร

พอดีเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาเปิด hotmail เพื่อหาเมล์บางฉบับแล้วบังเอิญเลื่อนแถบ scroll มาจนถึงเมล์ที่เก่าสุดในกล่องจดหมาย (จริงๆ เมล์นี้ใช้มาเป็นสิบปีแล้วแต่ว่าเมื่อหลายปีก่อน hotmail เป็นอะไรไม่รู้ลบเมล์เก่าๆ ออกหมดเลย น่าเสียดายเหมือนกัน) เมล์ที่เก่าที่สุดตอนนี้ก็คือเมล์จากเพื่อนที่ส่งมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2002 หัวข้อ How to love wisely

ลองเลื่อนไปอ่านเมล์ที่เก่ารองลงมาก็ได้ระลึกถึงเรื่องอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยมานาน เรื่องราวชีวิตตัวเอง และคนรอบข้างที่บางทีก็หลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง เช่น เรื่องของเพื่อนที่ตอนนั้นพึ่งจะไปเรียนเอกที่อเมริกา ตอนนี้มันก็จบไปปีกว่าแล้ว และก็เรื่องของผมที่กำลังจะไปเรียนเอกเมื่อสี่ปี (กว่าๆ) ที่แล้ว

มีเมล์ที่ตลกๆ อ่านแล้วขำก็ เช่น ตอนที่จะมาอเมริกาเมื่อตอน 2005 ต้องต่อเครื่องที่แอลเอ ก็เลยเมล์ไปหาเพื่อนที่อยู่ซานดิเอโกว่ามาเจอกันที่สนามบินสิไม่ได้เจอกันนาน มันก็ตอบกลับมาว่า “กูต้องขับรถไปสองชั่วโมงนะ (โว้ย) ถ้ามึงจะมาทรานสิทจะให้กูไปหาทำ (เหี้ย) อะไร ถ้าจะเจอกันก็มาเที่ยวสิ (ท้ายสุดก็ยังไม่ได้ไปหามัน จนตอนนี้มันก็กลับเมืองไทยไปแล้ว)” อ่านแล้วก็ขำดี
มีอีกเมล์ที่ส่งไปบ่นกับเพื่อนตอนมาถึงพิตสเบอร์กใหม่ๆ ว่า รู้สึกลำบากมากในการปรับตัว ต้องเช่าห้องอยู่นอกแคมปัส ทั้งห้องมีแค่ตู้เย็นตัวเดียว ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าจะเป็นเหมือนที่อังกฤษที่ทั้งห้องมีเฟอร์นิเจอร์ครบทุกอย่างแล้ว ก็เลยเครียดไปเหมือนกันช่วงนั้น ในการหาซื้อของมาเติมห้องให้เต็ม

แม้ว่าอีเมลล์จะจับต้องไม่ได้เหมือนจดหมาย แต่ว่าเมื่อผ่านไปนานๆ ลองย้อนกลับมาดูมันก็เติมเต็มความทรงจำที่ขาดหายไปตามกาลเวลาได้พอสมควร ก็รู้สึกมีความสุขดี ถ้ามีเวลาหากคุณลองเช็คเมล์เก่าๆ ก้นกล่องจดหมายดูบ้างก็น่าจะทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามตื่นเช้ามาพรุ่งนี้ผมก็คงไม่ได้มานั่งอ่านเมล์พวกนี้ ก็คงต้องเช็คเมล์ที่เข้ามาใหม่แล้วก็ทำภารกิจประจำวันต่อไป
ขอลงท้ายด้วยประโยคที่ผมเขียนลงท้ายในอีเมล์เก่าๆ ถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า
Life is not easy but it is not too hard…