Monday, August 24, 2009

กรรมและแรงจูงใจ (Karma and Incentive)

สำหรับผมแล้วคณิตศาสตร์และธรรมะเป็นสองเรื่องที่มีความเหมือนกันอยู่ คือ ผมต้องการศึกษาทั้งสองอย่างให้ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่มีโอกาส ความพยายาม และความอดทนมากเพียงพอ และเหตุผลที่เป็นข้ออ้างก็คล้ายๆ กันก็คือ รู้มากไปก็ไม่ได้มีโอกาสเอาไปใช้มากเท่าไหร่

สำหรับผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์และต้องการพัฒนาทฤษฏีใหม่ๆ คณิตศาสตร์ชั้นสูงมีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยลักษณะงานของผมในอนาคตที่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษา ทำให้ผมเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์ในด้านของการนำทฤษฎีที่มีอยู่ไปใช้มากกว่าการพัฒนาทฤษฎี คณิตศาสตร์ขั้นสูงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสเน่ห์และน่าค้นหาแต่ว่ามันก็เหมือนเป็นส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไรต่อการศึกษาของผม

เรื่องธรรมะก็เช่นกัน ที่ผ่านผมก็พยายามที่จะศึกษาให้มันมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการสร้างสมาธิ ใช้ชีวิตให้มีสติ (ซึ่งบางครั้งผมก็คิดว่ามันก็น่าจะพอสำหรับชีวิตคนเดินดินโดยปกติทั่วๆ ไป)
ผมคิดว่าศึกษาธรรมะนี้ยากกว่าที่คิด ด้วยความสัตย์จริงถ้าจะให้ผมว่าชาร์ตแสดงโครงสร้างของเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ผมยังพอทำให้โดยไม่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ถ้าจะให้วาดชาร์ตแสดงโครงสร้าง/ความเชื่อมโยงของหลักธรรมะต่างๆ ผมคิดว่าผมทำไม่ได้ ด้วยความรู้ ณ ปัจจุบัน

อารัมภบทมาจนยืดยาวซึ่งมันก็เกี่ยวกับแนวคิดที่ผมจะพูดหลักๆ ในบทความนี้ คือ เรื่องของกรรม และประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง แรงจูงใจ (Incentive)

ไอ้เจ้าแรงจูงใจนี่มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐาสตร์ทุกๆ อย่าง (คล้ายๆกับสัญชาติญาณ) เช่น เมื่อเราหิวก็ทำให้เกิดแรงจูงใจในการหาอะไรมากิน (ล่าสัตว์ เพาะปลูก หรือทำงานหาเงินมาซื้ออาหาร)

หลายคนก็คงเคยได้ยินคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผมเชื่อว่ามันจริง แต่ว่ามีประเด็นที่ติดใจคือ มีคำสอนที่ว่าทำไม่ดีในชาตินี้ ชาติหน้าจะต้องใช้กรรม ฟังดูแล้วก็น่ากลัวที่ว่าถ้าทำไม่ดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีจะตาม “เรา” ไปถึงชาติหน้า

ถ้านับว่าชาตินี้คือปัจจุบัน และชาติหน้าคืออนาคต ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีหลายช่วงเวลา ตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ต้องมีก็คือ Discount rate หรือ Rate of time preference หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโดยสภาพปกติแล้วเจ้าอัตราตัวนี้จะมากกว่าศูนย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าในอนาคต

ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือ Utility Function หรือความพึงพอใจ/อรรถประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งแรงจูงใจ ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปชอบมีเงิน ยิ่งเงินมากอรรถประโยชน์ตัวนี้ก็จะยิ่งสูง สร้างแรงจูงใจให้หาเงินมาได้มากที่สุด

ถ้าผมสมมุติว่าการเวียนว่ายตายเกิดมีจริงและกรรมชั่วที่ผมทำในช่วงเวลาปัจจุบันทำให้อรรถประโยชน์ในปัจจุบันสูงขึ้น แต่จะส่งผลลบต่อผมในชาติหน้า เช่นโกงเงินประชาชน ชาตินี้รวยล้นฟ้า ชาติหน้าเป็นยาจก

ถามว่า คนนี้ชาตินี้ กับคนนี้ในชาติหน้า เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ตัวของวิญญาณ (ตามความเชื่อ) อาจเป็นคนๆ เดียวกัน แต่ว่าความรู้สึกมันคือคนละคนแน่นอน หากลองถามตัวเราในวันนี้ ว่าชาติที่แล้วเป็นใคร ประมาณร้อยละร้อยก็คงไม่รู้ เหลือเศษอีกนิดหน่อยที่คิดไปเอง

ถ้าผมเชื่อว่ากรรมชั่วที่ผมทำในชาตินี้ส่งผลต่อผมในชาติหน้า สิ่งที่จะสร้างความพอใจให้กับผมมากที่สุดก็คือ ทำชั่วให้มากที่สุด แสวงหาความสุขให้มากที่สุดในชาตินี้ เพราะผมก็คงไม่ต้องมารับผิดชอบของเจ้าตัวผมที่จะเกิดในชาติหน้า (เหมือนกับการ Maximize Utility แค่เพียงช่วงเวลาเดียว ให้ผลใกล้เคียงกับการตั้งข้อสมมุติว่า Discount rate สูงมากๆ จนผลที่จะเกิดในชาติหน้า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในภพชาติปัจจุบัน)

ถ้าสมมุติว่าผลของกรรม “อาจ” ส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า การตัดสินใจก็จะอยู่ในรูปของค่าเฉลี่ยจากความน่าจะเป็นที่กรรมจะส่งผลในชาตินี้และชาติหน้า ผลก็คืออยู่ตรงกลางๆ คือ ทำชั่วน้อยกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาติหน้า แต่มากกว่าแบบจำลองที่สมมุติว่ากรรมจะสนองเฉพาะในชาตินี้

ถ้ายึดตามแบบจำลองแปลกๆ ที่ผมยกมา การสอนธรรมะ (ซึ่งผมคงไม่อาจหาญไปแนะนำครูบาอาจารย์/พระสงฆ์) เรื่อง กรรม ควรเน้นไปที่การให้สังเกตสภาพจิตใจที่รุ่มร้อน มากกว่าการสร้างรูปลักษณ์ของกรรมให้เป็นเหมือนก้อนพลังงาน/วิญญาณอาฆาตที่คอยจ้องทำร้ายผู้กระทำกรรมไม่ดี และที่สำคัญควรเน้นว่าผลของกรรมทุกอย่างจะส่งผลในชีวิตในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คงจะมีประเด็นคล้ายกับเรื่องกรรมที่กล่าวมาข้างต้น คือ ถ้าหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรต่อผมในปัจจุบัน ถึงไม่สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าสิ้นชีวิตไปมันก็เหมือนจบ เกิดใหม่ก็เป็นคนใหม่อยู่ดี (ไม่รับรู้ถึงเรื่องที่ผ่านมาในชาติภพก่อน)

ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธ การหยุดเวียนว่ายตายเกิดถือเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่ว่าคนเรียนธรรมน้อยๆ อย่างผม ขอแค่มีชีวิตสงบๆ มีสุขพอประมาณ เวลามีทุกข์ก็เข้าใจมันและผ่านมันและแก้ปัญหาไปได้อย่างมีสติก็พอ

ขอยอมรับว่าบทความนี้เป็นบทความที่เพี้ยนๆ ซักนิดนึง ซึ่งถ้าผู้ใดที่มีความรู้ทางด้านธรรมะ โปรดให้คำชี้แนะในประเด็นที่ไม่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างสูง

ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเยอะเหลือเกิน คงต้องหาโอกาสศึกษาอย่างจริงจังเสียที เพราะมันเป็นปัจจัตตัง คือ รู้เฉพาะตน ต้องปฏิบัติเองไม่มีใครมาบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร (เขียนไปเขียนมารู้สึกว่าตัวเองเป็นบัวใต้ตมอย่างไรก็ไม่รู้ 555)

Saturday, August 15, 2009

CO2 ราคาแพง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการรถยนต์ในสหรัฐฯมีความคึกคักเป็นพิเศษจากโครงการของรัฐบาล คือ Cash for Clunker (CfC) ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเก่าซึ่งรถมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงมาแลกเป็นรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

พอผมได้ยินโครงการนี้ก็รู้สึกได้ว่าคงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อช่วยด้านการประหยัดพลังงานเท่าไรนัก แต่คงเพื่อช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ซบเซามาตั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาเสียมากกว่า

พอดีได้อ่าน Working Paper ของ Christopher Knittel จาก University of California, Davis โดยในงานเขียนนี้มีการประมาณค่ากว้างๆ ของต้นทุนในการลดการปลดปล่อย CO2 จากโครงการ CfC ซึ่งในตอนต้นผู้เขียนก็ได้กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการดังกล่าว คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้เขียนได้ประมาณการต้นทุนของการลด CO2 แบบคร่าวๆ จากค่าเฉลี่ยของอัตราการกินน้ำมันของรถเก่าและรถใหม่ และระยะทางที่รถทั้งสองกลุ่มจะถูกใช้งาน ส่วนตัวแปรที่จะใช้กำหนดขอบเขตของต้นทุนก็คือ ระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลาย (ถ้าไม่มีโครงการนี้)

โดยหากว่าระยะเวลาที่รถเก่าจะถูกทำลายยาว หมายความว่าโครงการนี้ลดปริมาณ CO2 ไปได้มาก ต้นทุนการลด CO2 ก็จะถูกลง แต่หากว่ารถจะถูกนำไปทำลายในอีกไม่กี่ปี ต้นทุนการลด CO2 ก็จะสูง เพราะว่าถึงไม่มีโครงการนี้อีกไม่นานรถคันนี้ก็ไม่อยู่ในท้องถนนในอีกไม่กี่ปีอยู่ดี (การลดใช้น้ำมันก็ทำได้ไม่มาก)

ต้นทุนต่ำสุดที่คำนวณได้ก็คือ 237 $/ตันของ CO2 โดยตัวเลขนี้ได้รวมผลประโยชน์ที่ได้รับจากมลพิษที่ลดลง (รถใหม่ปล่อยของเสียลดลง เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์) เทียบกับค่าเฉลี่ยของ CO2 ที่ซื้อขายในตลาดยุโรปในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ราวๆ 25 ปอนด์ต่อตัน ซึ่งถ้าแปลงเป็นดอลลาร์ก็ประมาณ 35 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นทางเศรษฐศาสตร์ เช่น เรื่องของ Rebound effect* ซึ่งก็คล้ายๆ กับ Price Effect ที่ใช้โดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ (Rebound effect หรือ take-back effect เป็นคำที่มักใช้กับด้านการใช้พลังงาน) ซึ่งประเด็นก็คือ เมื่อคนมีรถใหม่ใช้ซึ่งประหยัดน้ำมันมากขึ้นเท่ากับว่าต้นทุนในการเดินทางรถลง ก็จะทำให้คนเดินทางมากขึ้น และประเด็นของ Adverse Selection ซึ่งก็คือว่าคนนำรถที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้มาเปลี่ยน (ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ตามเป้าประสงค์ของการลดใช้น้ำมัน)

สำหรับผมคิดว่านโยบายนี้ดีแน่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์เพราะสามารถระบายสต๊อกไปได้อย่างรวดเร็วเท่าที่อ่านเจอพบว่าขายรถใหม่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ถึงเกือบ 3 แสนคันในไม่กี่สัปดาห์ แต่ว่าประเด็นอื่นด้านทรัพยากรนอกเหนือจากการใช้น้ำมัน ผมไม่แน่ใจว่าจะส่งผลดีหรือเปล่า ซึ่งน่าจะมีการศึกษาโดยใช้ Life Cycle Analysis ว่าความสูญเสียจากรถเก่าบางคันที่ยังไม่ได้ใช้จนคุ้มค่าแต่ว่าถูกนำไปทำลาย (ซึ่งคำว่า “ใช้จนคุ้มค่า” ในมุมมองของบุคคลและสังคมโดยรวมอาจไม่เหมือนกัน) เพราะว่าการผลิตรถคันใหม่ย่อมใช้ทรัพยากรหลายอย่างรวมไปถึงพลังงานด้วยเช่นกัน

* Rebound effect หรือ take-back effect หมายความว่าเมื่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ต้นทุนหรือปริมาณการใช้ต่อหน่วยลดลง ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนการใช้ต่ำลงทำให้ใช้มากขึ้น เช่น รถใหม่ๆ ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ก็สร้างแรงจูงใจให้คนขับก็ขับมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งที่มาของแนวคิดนี้ก็มีมาหลายร้อยปีแล้ว จาก Jevons Paradox จากหนังสือ The Coal Question ในปี ค.ศ. 1865 โดย William Stanley Jevons ซึ่งกล่าวถึงประเด็นเครื่องจักรไอน้ำของ James Watt ที่มีประสิทธิภาพการใช้ถ่านหินสูงขึ้น ซึ่งแทนที่จะทำให้การใช้ถ่านหินลดลงกลับเพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนต่ำลง

อ้างอิง Christopher R. Knittel, "The Implied Cost of Carbon Dioxide under the Cash for Clunkers Program" (August 2009) http://www.ucei.berkeley.edu/PDF/csemwp189.pdf