Wednesday, July 15, 2009

สั่งสอนด้วยความกลัว

ในช่วงสองสามปีมานี้บทสนทนาส่วนใหญ่ของผมเวลาโทรศัพท์คุยกับแม่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับหลานสาว ชื่อ ใจใส ซึ่งใจใสเป็นหลานคนแรกของครอบครัว ทุกคนก็เป็นมือใหม่กันหมด พ่อกับแม่ของผมก็เป็นปู่กับย่ามือใหม่ พี่ชายกับพี่สะใภ้ก็เป็นพ่อแม่มือใหม่ ผมกับพี่สาวก็เป็นอามือใหม่ ตอนนี้ใจใสอายุเกือบสามขวบแล้ว และก็เริ่มไปโรงเรียนแล้ว ก็นับว่าเร็วเหมือนกันเพราะก็ยังไม่สามขวบเต็มดี

ยิ่งหลานโตขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีเรื่องให้คุยมากขึ้นเท่านั้น เพราะรู้เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่ผมกลับเมืองไทยไปเยี่ยมบ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้อยู่กับหลานหลายวัน ทำให้รู้สึกได้ว่าเด็กเดี๋ยวนี้รู้มากขึ้นจริงๆ ไม่เฉพาะหลานของผม แต่เด็กคนอื่นๆ ที่ได้เจอก็เป็นลักษณะเดียวกัน

มีคราวหนึ่งแม่ก็บอกว่าตอนนี้ใจใสเริ่มดื้อแล้ว ต้องเริ่มตีแล้ว เพราะคนอื่นๆ ที่เลี้ยงไม่มีใครตี มีคุณย่าที่ดุที่สุดแล้ว แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่แม่เล่าว่าใจใสบอกว่า “คุณย่าตีมาเลย ตีให้เจ็บๆ นะ” คาดว่าใจใสคงรู้ว่าไม่มีใครอยากตีใจใส ก็เลยท้าให้ตี ผมคิดว่าทางพี่ชายก็คงไม่สนับสนุนเรื่องการตีเท่าไหร่ แต่ทว่าการสั่งสอนด้วยการใช้เหตุผลสำหรับเด็กอายุน้อยขนาดนี้ก็คงต้องใช้ความพยายามสูงอยู่เหมือนกัน

ผมก็เลยลองคิดย้อนกลับไปในวัยเด็กๆ คิดว่าผมเป็นลูกที่ถูกตีบ่อยที่สุด เพราะซนมากๆ เป็นลูกคนเล็กที่ทำของในบ้านเสียได้แทบจะทุกวัน ถ้ามีอะไรแตกหักชำรุดส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือผมนี่แหละ คือโดนตีแต่ก็ยังดื้อได้ทุกวัน เป็นพวกดื้อเงียบ ไม่โต้ไม่เถียง แต่ไม่ทำตาม และเป็นคนที่ไม่ค่อยขยันถ้าไม่ใช่เรื่องที่ชอบทำหรืออยากทำจริงๆ ก็ต้องให้แม่จ้ำจี้จำไชอยู่ตลอดเวลา (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นนะ แต่ก็พยายามหาแรงบันดาลใจปลอมๆ มาหลอกจิตใต้สำนึกในเรื่องที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่อยากทำ) แต่ว่าพอโตขึ้นและฟังเหตุผลรู้เรื่องก็ไม่โดนตีแล้ว

คิดย้อนไปตอนนั้นถ้าตอนเด็กๆ ไม่โดนตีนี่คงจะเหลวไหลมากๆ อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า การลงโทษด้วยการตี มันดีหรือไม่ดี จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถคิดในเชิงของเหตุผลได้อย่างชัดเจน และถ้าตอนเด็กๆ พ่อแม่สอนด้วยเหตุผล ผมจะฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่าๆ (จริงๆ ตอนถูกตีก็รู้เหตุผลที่โดนตี ว่าสิ่งที่ทำมันไม่ดีอย่างไร แต่การควบคุมตัวเองในตอนเด็กๆ ทำได้ลำบากมาก)

จากเรื่องระดับครอบครัวมาสู่ระดับสังคม สิ่งที่ผมพอจะเทียบเคียงได้กับการสั่งสอนด้วยการตี ก็คือการสังสอนให้กลัว “บาป” จำได้ว่าตอนเด็กๆ ทำอะไรหลายอย่างก็ถือว่าเป็นบาปไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบหนังสือ พูดคำหยาบ ไม่ล้างเท้า เจอพระแล้วไม่ไหว้ ไม่ตั้งใจเรียน เหยียบมด หรือบางทีทิ้งขยะก็บาป เพราะตอนเด็กไม่ค่อยมีใครที่จะพยายามอธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่ทำผิดมีผลกระทบต่อเนื่องไปอย่างไร

“บาป” กลายเป็นเหมือนบทลงโทษที่สามารถนำไปใช้ได้เกือบทุกกรณีที่ทำผิด ความไม่สบายใจจากการที่ทำผิดก็มีเพียงความเกรงกลัวบาป กลัวตกนรก แต่อาจไม่ได้มีจิตใจคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่แท้จริงจากการทำผิด เพราะจริงๆ แล้วผมคิดว่าเวลาเราทำสิ่งใดที่ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่ดี ผลกระทบที่ลงโทษเราก็คือการขาดสันติในจิตใจ มิใช่บาปหรือนรก อย่างไรก็ตามการใช้บาปเป็นเครื่องมือในการลงโทษนั้นทำได้ง่ายและสะดวก เรียกว่าเข้าถึงใจคนง่ายกว่าเหตุผลที่ซับซ้อนอื่น

อย่างไรก็ตามพอมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่คนบางคนพอจะรู้ได้ว่า ผลจากบาปมันไม่ส่งผลเสียที ก็ทำให้ความกลัวที่ว่าทำ “ผิด” แล้ว “บาป” และบทลงโทษทางใจจาก “บาป” จึงไม่ส่งผลต่อคนๆ นั้นอีกต่อไป และเมื่อในอดีตบทลงโทษทางจิตใจที่ผ่านมามีเพียงอย่างเดียว คือ ความกลัวบาป ก็ทำให้การทำผิดไม่มีผลต่อจิตใจของคนๆ นั้นอีกต่อไป

เคยอ่านการ์ตูนเรื่อง “ครอบครัวตัว ฮ.” มีตอนหนึ่งกล่าวถึงโคเทซึซึ่งเป็นตัวนำในเรื่อง (ไม่ใช่เคอิโงะที่ตามหาพ่อนะ ได้ข่าวว่าจะออกเทปด้วย -*- ) โดยแม่ของโคเทซึพยายามที่จะหาทางสอนคณิตศาสตร์ให้กับลูก ที่ไม่สนใจเรียนและไม่เข้าใจการบวกลบคูณหาร ก็เลยสอนโดยใช้เปลือกส้มมาฉีกเป็นชิ้นๆ เพื่อสาธิตการบวกลบเลข ซึ่งโคเทซึก็ชอบเพราะมันเข้าใจง่าย อีกวันหนึ่งจะมีการสอบคณิตศาสตร์ โคเทซึก็เลยแบกส้มไปลังหนึ่งเพื่อใช้ประกอบการสอบ ข้อแรกๆ ก็ยังพอทำได้เพราะเลขมันไม่เยอะ ก็พอนับเปลือกส้มได้ แต่พอข้อหลังๆ ประมาณว่า สองพันกว่าบวกหนึ่งพันกว่า คราวนี้ส้มไม่พอ ก็เลยต้องเอายางลบ กระเป๋านักเรียน มาหั่นเป็นชิ้นเพื่อจะนับให้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมอ่านแล้วก็ฮามาก

ตัวอย่างนี้ก็คงเหมือนกับการสั่งสอนด้วยความกลัว มันใช้แก้ปัญหาในบางประเด็นได้ แต่ก็คงไปได้ไม่ไกล เมื่อความซับซ้อนของปัญหามันเพิ่มมากขึ้น และหากบุคคลหรือสังคมได้รับการฝึกฝนในด้านความรับผิดชอบและการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อนที่จะทำอะไรลงไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะพัฒนาได้สูงขึ้นได้มากว่าผลของความกลัวเพียงอย่างเดียว